top of page

กังไสสยาม 10 : แตกแยก ร้าวราน แผ่นดินเกิด (1)



“โอกาส” คำนี้สินะ ที่ทุกคนต้องการ เด็กหนุ่มนั่น ดูท่าทางไม่ใช่คนเลวร้าย ไม่มีกลิ่นฝิ่น อีกทั้งคงไม่ต่างจากชาวพื้นเมืองในปัตตาเวีย ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจนสิ้นทางไป “แม่” คำนี้ ที่กระตุกสติและความเห็นใจขึ้นมาพร้อมกัน เงินนิดหน่อยที่อาเบ๋งยัดใส่มือไปให้ คงพอค่ายา ค่าหมอบ้าง


ฟ้าไม่ทันสาง เสียงเอะอะตึงตังที่ท้องเรือ ขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือ และรับคนที่จะไปปีนัง ไทรบุรี เกียนเบ๋งลุกขึ้น เดินไปท้ายเรือล้างหน้าล้างตา ติดก้านไม้ข่อย เกลือ ไปสีฟัน ไม่ไกลกัน เด็กท้ายเรือกำลังหุงหาข้าวต้มกับข้าวง่ายๆ “หมูต้มเค็ม” กับข้าวอะไรๆ ในแถบหนันหยางนี้ ต้องใส่หมูเป็นพื้น ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะกับข้าวกับปลามากมายจนจะกินทิ้งกินขว้างเสียก็ได้ ผิดกับแผ่นดินใหญ่บ้านเกิด เนื้อหมู ไก่ เป็ด เป็นของหายาก หากไม่ใช่เทศกาล อย่าหวังว่าถึงแม้ปลายลิ้น หาก แม่ น้องๆ มาเห็นอาเบ๋งตอนนี้ คงต้องแปลกใจ จนอาจจำไม่ได้ ร่างกายที่ผอมแห้ง กลายเป็นล่ำสัน สูงใหญ่ หากแต่หางเปียเท่านั้นที่ยังแสดงความเป็นจีนโพ้นทะเลอพยพ


ลูกหลานจีนที่เกิดในหนันหยาง ล้วนแต่ไม่ไว้เปีย ยิ่งหากเป็นเป็นเลือดผสม อย่างเปอรานากัน ยิ่งแต่งตัวทันสมัย ตามแบบมลายู เสื้อแขนยาวคอจีน นุ่งโสร่ง ดูแปลกตา แต่ก็นับว่าปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นได้ดี ส่วนผู้หญิงจะใส่เสื้อแขนยาวโปร่ง เข้ารูป มีลูกไม้ชายเสื้อ เหมาะกับอากาศร้อนชื้น ทั้งเน้นทรวดทรงเอวคอด ผิดกับผู้หญิงจีนที่บ้านเกิด หากใส่เสื้อเข้ารูปก็คงถูกมองแปลกๆ ไปทั้งหมู่บ้าน หญิงชาวฮั่นยังนิยมมัดเท้า ทั้งๆ ที่ราชการแมนจูสั่งยกเลิก เพราะเห็นเป็นเรื่องประหลาด  ทำให้ผู้หญิงเจ็บปวด เดินไม่สะดวก แต่ชาวฮั่นเอง กลับนึกรังเกียจ ผู้หญิงที่ไม่ยอมมัดเท้า


เสร็จมื้อเช้า เกียนเบ๋งเดินดูสินค้าต่างๆ ที่ต้องขนถ่ายลงที่ปีนัง ข้าว สินค้าหลักที่ค้าขายกันในแถบนี้ ด้วยแรงงานอพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาไม่ขาดสาย พร้อมกับ เหมืองดีบุก ที่เปิดใหม่นับแต่ ซาลังงอ เประก์  ไทรบุรี  ถลาง คนจีน  มลายู แขกสิงหล ฮินดู ล้วนแล้วแต่กินข้าวเป็นของตายทุกมื้อไป


เรือเข้าเทียบท่าเมืองจอร์จทาวน์ ป้อมปืนใหญ่ ประภาคาร ดูสง่า ปีนัง เมืองท่าใหญ่ในสเตรท ออฟ เซทเทิลเมนต์ ซึ่งอังกฤษใช้คุมเส้นทางเดินทางเรือใน บริติช อินเดีย มลายา คงเหลือแต่สยามที่ยังไม่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และคงต้องประคองตัวไว้ให้ดี  เสียงตึงตังไม่เป็นภาษา ทั้งจีน สิงหล มลายู คนงานของแต่ละห้างมายืนออกันที่ท่าเรือ เพื่อเตรียมขนถ่ายสินค้า ไม่นานนักก็มีชายชาวจีน ล่ำสันถือป้ายเดินขึ้นมาจากท่าเรือ “ห้างไถ่หยาง” อาจ๊งแนะนำตัว อาเบ๋งทักทายตอบ ทั้งสองคนช่วยกันดูแลขนถ่ายสินค้าลงไป ที่ท่าเรือ


“รอบนี้ ข้าวมาเยอะ แต่มาเท่าไรก็ไม่พอ ฝั่งไทรบุรี เประก์ เหมืองดีบุก เปิดใหม่ตลอด” อาจ๊งเล่า


โกดังสินค้าสำหรับเก็บข้าว ถั่ว แป้ง ต่างๆ อยู่ไม่ไกลจากท่าเรือ เพราะต้องขนถ่ายข้ามไปยังฝั่งไทรบุรีอีกไม่กี่วันข้างหน้า อาเบ๋งดูตื่นเต้นไม่น้อย ขณะที่รถลากแล่นผ่านตามถนนแคบๆ ในปีนัง ตึกแถวเรียงราย 2 ฝั่งถนน ตกแต่งแบบกึ่งฝรั่งกึ่งจีน แม้จะดูคล้ายที่สิงคโปร์ แต่ที่ปีนังดูคึกคักโอ่อ่ากว่ามาก ห้างไถ่หยางสาขาปีนัง เป็นห้องแถวคูหาเล็กๆ


“โอย ที่ปีนังมีแต่ห้างใหญ่ๆ เส้นสายเยอะ ห้างเราจากปัตตาเวีย สู้ไม่ได้ เพราะห้างไถ่หยางไม่ได้อยู่ในบังคับบริเตน อั๊วเองมาจากไทรบุรี เป็นคนบังคับสยาม ข้ามมาทำงานที่นี่ เพราะเมียอั๊วเป็นคนสยาม ก็ต้องระวังตัวนะ ที่นี่มี่หลายก๊ก ค้าฝิ่นเถื่อน แรงงานเถื่อน เต็มไปหมด พวกมันเป็นคนในบังคับบริเตน มีเรื่องกับพวกมัน ก็มีแต่แต่แพ้ ยิ่งมันว่าเป็นคนในบังคับสยาม มันยิ่งไม่กลัว เพราะอยู่ไกล อั๊วเก็บเงินสักพัก ก็จะย้ายไปอยู่บ้านเมียที่ระนอง แล้ว” อาจ๊งบ่นยาวเหยียด


สำหรับอาเบ๋ง เป็นตายอย่างไร ก็ไม่เข้าเป็นคนในบังคับบริเตน ยอมเป็นจีนต่างด้าวต่อไปดีเสียกว่า เพราะอย่างไรก็ยังอยากกลับไปตั้งตัวที่เอ้หมึง อยู่กับแม่ น้องๆ พี่ๆ 


“พักตามสบายนะ ชั้นบนมีห้องว่าง ข้าวอยู่ในครัว ลื้อกับลูกน้องจะหุงกินเมื่อไร เท่าไร ก็ได้ ตามใจเลย พรุ่งนี้ เช้าไปโกดัง ดูว่าต้องไปส่งข้าวที่ห้างไหนบ้าง แน่ๆ คงห้างโกหงวน” อาจ๊งบอก


ร้านรวงต่างๆ ในปีนัง เรียงรายแน่นขนัด แทบจะทุกถนน ที่นี่ของกินของใช้มั่งคั่ง จนเดี๋ยวนี้ อาเบ๋งไม่รู้สึกตื่นตาสักเท่าไร เพราะเห็นมามาก ตั้งแต่ “ร้านอาล่ง” ขายของชำต่างๆ ในปัตตาเวีย สิงคโปร์ มะละกา และที่นี่ปีนัง ช่วงบ่าย เกียนเบ๋งออกเดินชมเมือง นอกจากห้างร้านของชาวจีนโพ้นทะเลแล้ว ห้างฝรั่งก็มีอยู่ไม่น้อย ขายสินค้าหรูหรา เครื่องหนังราคาแพง ไม่ไกลกันมีโบสถ์คริสต์ยืนเด่นสง่า แสดงถึงอิทธิพลของชาติตะวันตก แม้ในใจจะนึกชังพวกรุกราน แต่ความดีข้อหนึ่ง ที่ต้องยอมรับ คือ “การศึกษา” ชาวตะวันตกเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้คนมีค่า แล้วใช้คุณค่าที่สร้างขึ้นนี้ พัฒนาบ้านเมือง ในปีนัง มีโรงเรียนทันสมัยมากมาย โดยเฉพาะ โรงเรียนสำหรับผู้หญิง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในแผ่นดินบ้านเกิด ที่นี่ ผู้หญิงไม่ถูกมัดเท้า ไม่ถูกทุบตี ขายให้ครอบครัวอื่น แต่กลับได้เข้าโรงเรียน


พลันแวบหนึ่ง เด็กสาวที่อาเบ๋งเคยเห็นที่บ้านตระกูลลิ้ม เดินออกมาพร้อมกลุ่มเพื่อนหน้าโรงเรียน มีรถลากคอยรับอยู่ เด็กสาวร่ำลาเพื่อนขึ้นรถลากจากไป เกียนเบ๋งได้เพียงชะเง้อมองตาม เธอไม่ขาวผ่องเหมือนสาวจีน ดูคล้ายคนมลายู แต่ก็ผุดผ่องกว่า ผมดำขลับถักเปีย 2 ข้าง ดูปราดเปรียวกว่าชาวมลายู อาเบ๋ง ไม่นึกดูถูกตัวเอง เพียงแค่คิด “อยู่กันคนละโลก” สาวน้อยเกิดมาพร้อมความสวยงามก็จริง แต่เธอจะทนต่อความโหดร้ายในชีวิตต่อไปได้หรือไม่หากเกิดขึ้น ส่วนตัวเกียนเบ๋ง เกิดมาพร้อมความลำบากซึ่งไม่อาจทำร้ายเกียนเบ๋งได้ หากลำบากกว่านี้ ก็คงจะทนได้ แต่หากสบายกว่านี้ ก็ถือว่าเป็นกำไร

Comments


bottom of page