top of page

กังไสสยาม 11:เดินทาง เรียนรู้  ริเริ่ม (1)

Updated: May 12



เช้าตรู่ เสียงเรียกละหมาดซุบฮิดังก้องทั่วปีนัง ก็เหมือนกับเมืองใหญ่ในมลายู มีคนพื้นเมืองเป็นชาวมุสลิม  ส่วนใหญ่เพาะปลูก หาเช้ากินค่ำ สร้างข้าวปลาอาหาร คนจีนใช้แรงงานและค้าขาย เหมือนเครื่องจักรแปรรูปทรัพย์ในดิน ให้กลายเป็นของมีค่าเงินทอง และเจ้าอาณานิคม คือ เจ้าของทุนรอน และใช้ประโยชน์ทรัพย์ในดินแดนนั้น โดยไม่ใคร่จะใยดีความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมือง และชาวจีนสักเท่าไร ยามที่ชาวจีนลุกขึ้นตีกัน ด้วยเรื่อง “ฝิ่น” ก็ดูเหมือนละครตอนหนึ่ง ซึ่งเจ้าของทุน “จงใจ” สร้างเรื่องขึ้น สุดท้ายก็ปรนเปรอด้วย ยาเมา การพนัน แรงงานจีนเหมือนร่างไร้วิญญาณยิ่งขึ้นทุกที


“ตื่นแต่เช้าเลยนะ อาเบ๋ง” อาจ๊งทัก


“ชินน่ะ โกจ๊ง อยู่ที่สิงคโปร์ก็ตื่นเช้าแบบนี้ นี่อั๊วหุงข้าวไว้แล้ว ว่าจะทำอะไรง่ายๆ กิน เต้าหู้ ปลาเค็ม” เกียน เบ๋งตอบ


“วันนี้ข้ามไปไทรบุรี ค้างสัก 2-3 คืนนะ ดูงานของห้างด้วย เผื่อวันหน้ามีลู่ทาง มาทำมาหากินแถวนี้บ้าง อั๊วอยากจะไปอยู่ระนอง บ้านเมียอั๊วแล้ว เออ อายุลื้อก็ไม่น้อยแล้วนะ ยังไม่คิดมีเมียเหรอ”


“ตัวเอง ยังเอาตัวไม่รอดเลย ไปเอาคนอื่นมาลำบากด้วยทำไม” อาเบ๋งตอบ


“อย่างน้อย ก็มีคนหุงหาให้กิน ไม่ต้องทำเอง”


“อั๊วยังไม่พร้อมเลย โกจ๊ง”


เรือขนส่งลำไม่ใหญ่นัก บรรทุกข้าวเต็มลำเรือ พร้อมข้ามไปฝั่งไทรบุรี เรือข้าวแล่นขึ้นไปทางเหนือ เลียบชายฝั่งไป สักพักใหญ่ก็เห็นฝั่งแม่น้ำไทรบุรี ที่ปากแม่น้ำมีด่านภาษีของสยามตั้งอยู่


“ไทรบุรีอยู่ในบังคับสยาม แต่ก็ไกลจากสยามมาก พวกบริเตนก็พยายามจะเข้ามามีอำนาจ ท่านสุลตานฮามิดนับถือพระเจ้าแผ่นดินสยามมาก สยามเองก็เก็บภาษีสินค้าเข้าบ้าง เอาไว้ใช้ดูแลเมือง บางทีพวกคนงานตีกัน สยามก็ต้องส่งคนจากเมืองลิกอร์มาสอบสวน”


เรือสินค้าจอดรอตรวจหนังสือ สินค้าต่างๆ อยู่พักใหญ่จึงเทียบท่า สองฝั่งแม่น้ำไทรบุรีเป็นทุ่งข้าวกว้างไกลสุดตา อาเบ๋งก็นึกแปลกใจ เพราะที่นี่น่าจะปลูกข้าวได้มาก ทำไมต้องสั่งข้าวจากสิงคโปร์


“นี่ล่ะ ชามข้าวของมลายา เรื่องยาว ไว้อั๊วจะเล่าให้ฟัง เมืองนี้ อลอรเซตาร์ เป็นเมืองใหญ่ ไทรบุรีเป็นเมืองในปกครองสยาม แต่เอาเข้าจริง สยามก็ไม่ได้เข้ามาวุ่นวายอะไรมากนัก เพราะอยู่ไกลมาก แต่ก่อนเจ้าเมืองลิกอร์ปกครองดูแลไทรบุรี แต่พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์นี้ ให้ไทรบุรีขึ้นกับพระนครเลย เห็นว่าสนิทกับท่านสุลต่านไทรบุรีมาก ท่านมีภรรยาคนสยามด้วยนะ  ที่ปากแม่น้ำ สยามก็มีด่านภาษี ที่เราต้องจ่ายนั่นละ ส่วนหนึ่งก็จ่ายให้ไทรบุรีเองเลย มีพวกกรมการเมืองศรีตวันดูแล ห้างของเราอยู่ในเมือง ใหญ่กว่าปีนังอีกนะ ที่นี่อะไรๆ ก็ถูกกว่า”


ลงว่าเป็นชุมชนจีนในมลายู ตึกแถวก็เรียงกันเป็นแนวไม่ต่างจากที่ปีนังและสิงคโปร์ หน้าร้านรวงเป็น หง่อคาขี่ ทางเดินมีหลังคาโค้ง กันแดดกันฝนให้ผู้คน ห้างไถ่หยาง ค่อนข้างโอ่อ่า ผู้คนเดินไปมา แต่ก็ไม่พลุกพล่านเหมือนกับปีนัง


“ที่นี่เป็นเมืองหลวง แต่เมืองใหญ่ที่มีเหมืองดีบุกมากๆ อยู่ทางใต้ลงไป อย่าง กูลิม ปาดัง ตรงนั้นเป็นเขตอำนาจบริเตน พวกบริเตนคุมสัมปทานเหมืองดีบุก ส่วนใหญ่ก็พวกนายเหมืองปีนังทั้งนั้น พวกนี้อยู่ในบังคับบริเตน ทำอะไรผิด ก็ลงโทษไม่ได้ อย่างพวกฝิ่นเถื่อน  บ่อน โรงน้ำชา ลื้ออย่าได้เข้าไปยุ่งเลยนะ นี่ไง ถ้ามีเมีย เมียก็จะห้ามลื้อได้ อาจ๊งแซวเล่น”


ทุกครั้งที่ได้ยินคำ “ฝิ่น” เหมือนมีดบาดลึกเข้าเนื้อ ที่ไหนๆ ก็มีแต่ฝิ่น......


บ่ายคล้อยจัด อาเบ๋งไปตรวจโกดังกับอาจ๊ง ซึ่งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำ ขบวนวัวควายลากะบะบรรทุกข้าวทยอยเข้ามาทีโกดัง อาจ๊ง อาเบ๋ง ตรวจดูคุณภาพข้าว แยกกลุ่ม ว่าถูกต้องไหม ขณะที่สาลวนอยู่นั้น ชายรูปร่างสันทัด ผิวเข้ม มีหนวด แต่งตัวผิดจากชาวมลายู เดินเข้ามาทักทาย อาจ๊ง


“ท่านกรมการเมือง อาเบ๋ง คารวะท่านสิ”


อาเบ๋งทำตาม ว่าง่าย


“สบายดีไหม ตาจ๊ง ไม่ได้เจอกันนาน เมื่อไรจะย้ายไประนองล่ะ” พระมาลยกิจสวัสดิ กรมการเมืองไทรบุรี จากสยามทักทาย


“สบายดี ขอรับ นี่ลูกน้องมาจากห้างที่สิงคโปร์”


อาเบ๋งฟังไม่เข้าใจภาษา แต่เดาว่าน่าจะเป็นภาษาสยาม

Comentarios


bottom of page