top of page

กังไสสยาม 8 : สู่สิงคโปร์ เมืองแห่งโอกาส (2)


“ฮ่อๆๆ” เด็กหนุ่มรับคำ กุลีกุจอช่วยอาเบ๋งถือของนำทางไปที่ห้างตัวแทน ร้านที่ปอนติอานัก ไม่ใหญ่นัก มีข้าวสาร ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ลูกเดือย ตั้งขายหน้าร้านนิดหน่อย คล้ายเป็นตัวอย่างสินค้าให้ลูกค้าดู สามวันในปอนติอานัก อาเบ๋งใช้เวลาในเรียนงานจากหลงจู๊


“ถั่วพวกนี้ มาจากสงขลา คุณภาพต่างๆ กัน อย่างถั่วเหลือง เม็ดใหญ่ จะมีคนสั่งไปทำเต้าเจี้ยว เม็ดเล็กหน่อยพวกนี้ใช้หมักซิอิ๊วดี สุกเร็ว”


พลันนึกขึ้นมาได้ “แม่” เป็นมือหนึ่งในการหมักซิอิ๊ว เพื่อนบ้านมักจะมาขอแบ่งไปใช้ โดยที่แม่ก็ไม่เคยเรียกร้องเงินทองอะไร เพราะเห็นว่ายากจนด้วยกันทั้งนั้น แค่กำถั่ว ปล่อยผ่านมือ ก็รู้ได้ทันทีว่า ถั่วดีกว่าที่เอ้หมึงมากนัก


‘หากมีโอกาส จะต้องลองหมักซิอิ๊วอย่างแม่ดูสักครั้ง’


ชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ใช้ชีวิตกันง่ายๆ หลายเผ่าปะปนกันไป แขกฮินดูจะไม่กินเนื้อวัว เนื้อหมู กินหมาก หากเข้าใกล้ก็ต้องคอยระวังน้ำหมาก กระเด็นใส่ แม่น้ำกาปวส คลาคล่ำด้วยเรือประมงตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างนัก ตามคลองซอยมีเรือสำปั้นพายเข้าออก แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันตลอดแนวคลอง ก่อนเที่ยง เรือแทบจะพายกันไม่ได้ เสียงตะโกนต่อรองราคาซื้อขาย อาเบ๋งฟังเข้าใจเพียงบางคำ


‘หนันหยาง นี่เป็นสวรรค์จริงๆ ไม่มีเงิน แต่ก็ไม่อดตาย ขยันก็ทำมาหากินได้’ เกียนเบ๋งคิด


สามวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว สิ่งใหม่ๆ ช่วยให้เกียนเบ๋งคลายความคิดถึงอาฮง อาหลง คิดแต่ว่าจะทำการค้าอะไรให้ร่ำรวย และรับแม่ พี่ๆ น้องๆ ที่เอ้หมึงมาอยู่ด้วยกัน


จากปอนติอานัก เรือกลไฟแล่นข้ามไปเมืองบาตัม เมืองท่าสำคัญอีกแห่งในท้องทะเลจีนใต้ ใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมง ก็เข้าเทียบท่า ตรงข้ามบาตัมก็คือจุดหมายที่เกียนเบ๋งจะต้องไป “สิงคโปร์” ที่บาตัม จะต้องนั่งรถลากไปเปลี่ยนลงเรือเล็กข้ามไป ตันจงปาการ์ ชายฝั่งอันเรียงรายด้วยเรือเล็ก บรรทุกสินค้าเต็มลำเรือ เสียงดังตะโกนโหวกเหวก ฟังไม่เป็นภาษา ดูไม่ต่างจากปอนติอานัก ทว่าที่นี่ มีคนจีนมากกว่า


อีกครั้งที่เกียนเบ๋งมองหาป้าย “ห้างไถ่หยาง” ครั้งนี้เป็นชายหนุ่มกลางคน แต่งกายสอาดสอ้าน สวมเสื้อกังฟูจีนสีน้ำเงิน ยืนถือป้ายมองหา เมื่อเห็น เกียนเบ๋งรีบเดินเข้าไปหาและคำนับ อาปอ ผู้จัดการห้างไถ่หยาง สิงคโปร์


“จริงๆ จากท่าเรือ เดินไปห้างก็ได้ แต่อั๊วอยากให้ลื้อเห็นเมืองรอบๆ เสียเลย ไม่ต้องเสียเวลาออกมาอีก” อาปอบอก ขณะนั่งอยู่บนรถลาก แรงงานหนุ่มจีนซึ่งยังไม่ได้งานในไร่ หรือเหมืองดีบุกในมลายู ก็มักจะเริ่มด้วยการลากรถ แม้จะเป็นงานธรรมดา แต่อาเบ๋งก็ “ทึ่ง” อยู่ไม่น้อย


“ใช่ พวกลากรถจะวิ่งเขย่งบนปลายเท้า เพื่อให้วิ่งเร็วขึ้น ถ้าลงเท้าหมด จะเหนื่อยง่าย เจ็บเท้าอีกด้วย”


ที่นี่ ไม่ว่าจะที่ไหนๆ ในหนันหยาง เอเชียอาคเนย์ คนจีนที่เข้ามาแสวงหาโชค ส่วนหนึ่งและดูจะเป็นส่วนมาก จะตกเป็นทาสฝิ่น


“นายหน้าหางานที่นี่ ก็มักจะล่อใจด้วยฝิ่นนี่ล่ะ ที่นี่ มีงานให้ทำ มีฝิ่นให้สูบไม่อั้น ทำงานได้เงิน ก็เอาไปลงที่ฝิ่นหมด เล่นโปเล่นไพ่ โรงน้ำชา สุดท้ายไม่เหลือเงินส่งกลับบ้าน ตายไปก็เป็นผีไม่มีญาติ พวกโรงเจลงขันกัน ตั้งกลุ่ม เรี่ยไรช่วยค่าทำศพ ตายไป ไม่มีที่ฝังก็เผา ถ้ารู้แซ่ ศาลเจ้าตระกูลก็มีรับไป อย่างน้อยก็ไปอยู่กับคนแซ่เดียวกัน บางคนโชคดี ญาติตามหา ก็มารับกระดูกไปก็มี” อาปอเล่า


สำหรับอาเบ๋ง ตายอย่างผีไม่มีญาติ ก็คือหมดความเป็นคน ยิ่งเห็นสภาพคนติดฝิ่น ยิ่งเกิดความเกลียดกลัว


รถลากวิ่งมาไม่ไกลนัก ก็ถึงห้างไถ่หยาง สาขาสิงคปุระในย่านตันจงปาการ์ ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้คนหลายหลายชาติ ยิ่งกว่าที่ปอนตินอานัก อาจเป็นเพราะที่นี่ไม่มีชาวพื้นเมืองมลายูมาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจีน แขก ซึ่งคงแยกเป็นกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ทั้ง ฮินดู สิงหล ซิกข์ ต่างคนต่างทำงานของตน แบกหาม ขายของ ลากรถ


“นี่ล่ะ หัวใจของสิงคปุระ ทำมาหากิน ไม่ว่าชาติอะไร มาที่นี่ก็เพื่อทำมาหากิน สินค้าอะไรๆ ก็จะมาขึ้นที่ท่านี้” อาปอบอก


ตึกแถวเรียงต่อกันเป็นแนวยาวสูง 3 ชั้นเชื่อมต่อกันด้วย หง่อคาขี่ หลังคาโค้งมน กันแดดกันฝนให้คนเดิน ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออก ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า หน้าร้านดูจะแคบทว่าแต่ละห้องยาวทอดไปด้านหลัง ตรงกลางบ้านมีลานโล่งเปิดรับแดด กลางลานมีบ่อน้ำจืด สำหรับใช้ภายในร้าน ด้านในหลังร้าน มีครัวไฟง่ายๆ เครื่องครัว กาต้มน้ำ ชามข้าว


“ข้างบนมีห้องพักอยู่ชั้น 3 สองห้องนะ ลื้อเลือกเอาจะอยู่ห้องไหน ปกติต้องมีคนอยู่เฝ้าร้านคนหนึ่ง ชั้น 2 เป็นห้องเก็บของ คนเก่าลากลับไปแต่งงานที่เมดาน แล้วไม่กลับมา ขออยู่ที่นั่นกับเมีย เถ้าแก่ใจดียังฝากงานให้ทำอีก” อาปอแจง


อาเบ๋งเลือกห้องพักด้านหน้า เพื่อได้ดูชีวิตผู้คนยามค่ำคืน ทั้งยังเป็นการเฝ้าระวังร้านไปในตัว นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง สิงคปุระดูตื่นตาตื่นใจ สอาดสอ้านกว่าที่ปัตตาเวียมากนัก ทั้งยังไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการกินอยู่


Comentários


bottom of page