top of page

กังไสสยาม ตอน 3 (3) : ขยัน อดออม กลมเกลียว


“มันเป็นใครวะ ทำไมเถ้าแก่ใหญ่ถึงให้มันขึ้นมาคัด ส่งข้าว อั๊วทำงานที่นี่มา 7 ปี เถ้าแก่ใหญ่ไม่เคยเห็นหัว” อาเหลียง ลูกน้องเถ้าแก่รอง อันธพาลตัวใหญ่ในปัตตาเวีย มัก ข่มขู่ ขูดรีด ด้วยการปล่อยเงินกู้ให้แก่ชาวพื้นเมืองยากไร้ขัดสน


“มันชื่อ อองเกียนเบ๋ง ทำงานมาสักปีกว่าแล้ว โกเหลียง แต่ก่อนคอยเป็นลูกมือ รับใช้คนในห้าง แล้วก็ตวงข้าวขายอยู่หน้าร้าน เห็นพวกในห้างพูดกันว่ามันอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือสวย เถ้าแก่ใหญ่เลยย้ายให้มาอยู่ฝ่ายคัดของส่งลูกค้า”


“เก่งมาจากไหน มันก็ต้องไม่ใหญ่เกินหน้าอั๊ว” อาเหลียงมองอาเบ๋งด้วยสายตาชิงชัง


อาเบ๋งเพลินกับการตรวจคัดข้าว “ข้าว” เมื่อครั้งหนึ่งแทบจะไม่มีกรอกหม้อ วันนี้จะกินเท่าไรก็ไม่มีใครว่า “ข้าว” ทำให้อาเบ๋งคิดถึง แม่และน้องๆ มากที่สุด อย่างน้อยเงินที่ส่งไปก็คงพอให้ครอบครัวได้ซื้อข้าว ของกิน ของใช้ อื่นๆ วันหนึ่ง หากมั่งมีขึ้นมา จะกลับไปรับแม่และน้องๆ มาอยู่ด้วยกันที่ปัตตาเวียนี่ พอกันที กับแผ่นดินที่แร้นแค้นเอาเปรียบคนยากไร้ คนฉ้อโกง


ถาดกระดานสีดำวาง ตรงหน้าเม็ดข้าว เรียงกันตามขนาด และสี อ่อนแก่


“ลื้อเอาท่อนี่เจาะตรงกระสอบ เอามาสักกำมือ ดูสี ขนาด ถ้าสีเหลืองๆ แสดงว่าข้าวชื้น ออกแรงบิ ดูร้าวไหม หักไหม พวกโรงสีอื่นๆ นี่ ส่วนใหญ่ไว้ใจไม่ได้ ข้าวแต่ละรอบที่มาส่ง ต้องรู้ว่ามาจากโรงสีไหน แล้วก็จะรู้ไปถึงว่า โรงสีนั่นซื้อข้าวจากที่ไหน ค่อยๆ ฝึกไปเดี๋ยวก็เก่ง”


ย่ำรุ่ง วันไหนอาเบ๋งตื่นก่อน เตรียมกับข้าวง่ายให้อาฮงกับอาหลงแล้ว ไม่ลืมที่จะอ่านหนังสือเรียน บทกวีจีน ฝึกเขียนตัวหนังสือให้คล่อง เพราะนอกจากหน้าที่ตรวจสอบคำสั่งซื้อจากลูกค้าแล้ว อาเบ๋งจะต้องเขียน เลขที่อยู่ ชื่อ ร้านค้า ไม่ว่าวันไหน อาเบ๋งมีความสุขทุกวันที่ไปทำงานที่ห้าง เถ้าแก่ใหญ่เป็นคนพูดน้อย ทว่าจับตาดูอาเบ๋งว่าจะ “ดีแตก” ไหม เพราะวัยหนุ่มมักจะทำให้หนุ่มจีน “ซินตึ๊ง” เขว หลงแสงสีในปัตตาเวีย สาวพื้นเมือง นัยน์ตาคมหลายนาง “ทอดสะพาน” ให้หนุ่มจีน หวังจะสบายเมื่อออกเรือน ชายจีนรุ่นก่อนหลายคนแต่งงานกับชาวพื้นเมือง มีลูกหลานเป็น “ญอนญา” หน้าสายสะสวยงาม เอวบางร่างน้อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้อาเบ๋งไขว้เขวจากงาน


สายตาชิงชังของอาเหลียง ดุดันยิ่งขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะพยายาม “ข่ม” อาเบ๋งแค่ไหน กลับถูกอาเบ๋งตอบโต้ด้วยความนิ่งเฉย


“ถ้ามันทำอะไรลื้อ บอกอั๊ว อั๊วจะสั่งสอนมัน” อาฮงบอก


“จะมีเรื่องทำไม ชกต่อยตีกัน เถ้าแก่เขาก็มองว่าไม่ดีทั้งคู่” อาเบ๋งแย้ง


“ลื้อนี่ มันใจดีเกินไปไหม อาเบ๋ง”


“อั๊วอยากทำงาน อยากมีเงิน”


อาฮง พี่ชายจอมมุทะลุ ดุดัน รักน้องทั้ง 2 คนสุดใจ


“อาหลง เห็นมันโง่ๆ มันยังไม่ยอมคนเลย”


“อ้าว ทำไมมาว่าอั๊วโง่ล่ะ อาฮง อั๊วโง่ กับลื้อ 2 คน เท่านั้นนะ บอกให้”


ซินตึ๊งทั้ง 3 หัวเราะขึ้นพร้อมกัน


หญิงสูงวัย บอบบางในชุดพื้นเมืองอย่างเปอรานากัน เสื้อเคบายา สีเหลืองอ่อน โปร่งเบา ชายปักฉลุดอกไม้สลับสีเรื่อยขึ้นมาถึงปกเสื้อ เป็นฝีมือปักของเธอเอง ผ้านุ่งปาเต๊ะ สีเขียวสอดลายเถาไม้กระหวัดอย่างนิยมกันในแถบช่องแคบมะละกา ขับให้หญิงบอบบางดูสง่าราศรีจับ “ชมจันทรา” ในวัย 60 ปีกว่า เธอยังคงกระฉับกระเฉง คุมงานครัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน


“โกเบ๋ง วันนี้ ฉันทำอายัมปองเต ให้กินนะ หมอบอกว่าให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่ายๆ ฉันตุ๋นมันฝรั่งจนนิ่มใสอย่างที่โกเบ๋งชอบ กินหน่อยนะ เดี๋ยวให้อาฮุยตั้งโต๊ที่ระเบียงด้านในดีกว่า ลมไม่แรงเกินไป”


อาเบ๋งพยักหน้ารับ จะกี่ปีล่วงมา ชมจันทรา ไม่เคยเปลี่ยน เธอยังคงสดใส ดูแลบ้านอย่างดี ลูกทั้งสี่คนได้ดีเพราะการเลี้ยงดูของเธอ เธอรู้งานธุรกิจดีทุกอย่าง ซิอิ๊ว เต้าเจี้ยว ที่มีชื่อเสียงไปถึง ปีนัง มะละกา ก็เกิดจากความคิดเธอ


“น้ำต้มกระดูกไก่ต้องเคี่ยวทิ้งไว้ตั้งแต่เช้ามืด ก่อนเที่ยงเอามาเครี่ยวกับน่องไก่ เห็ดหอมล้างก่อนทุกครั้ง ฝุ่นมาก แช่น้ำให้นิ่ม แล้วเอาน้ำเห็ดเคี่ยวกับน้ำต้มกระดูก กลิ่นจะไม่เลี่ยนเกินไป” ด้วยความที่ไม่มีลูกสาวเลย อาฮุย สาวใช้จึงรับความรู้เรื่องอาหารจีนเปอรานากันจากชมจันทรามาเต็มที่

Comments


bottom of page