top of page

กังไสสยาม ตอนที่ 1/2


ปลายราชวงศ์ชิง บ้านเมืองระส่ำระสาย แผ่นดินจีนอันกว้างใหญ่ถูกมหาอำนาจชาติตะวันตก ล่า แบ่งปันผลประโยชน์ เถือแผ่นดินออกเป็นส่วน ระบอบศักดินา อนุรักษ์นิยม ยิ่งกัดกร่อนให้ชาวบ้านตาดำๆ ไม่ได้ เงยหน้าอ้าปาก เพื่อชีวิตที่ดีกว่า อย่าว่าแต่อนาคตที่ดีกว่าเดิมเลย แค่ “ตรงหน้า” ก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด หากยังไม่ดิ้นรน ชีวิตทั้ง 5 ที่เหลืออยู่ในครอบครัวอาจจะไม่รอด ยังดีที่ น้องสาวคนรองที่ 3 แต่งงานออกไปเป็นสะใภ้เด็ก และอยู่ไม่ไกลกัน ถือว่าหมดห่วงไป หนึ่งปาก


“อากิม ลื้อพาอั๊วไปหาอาไฉ่หน่อย อั๊วจะเอากำไลวงนี้ไปขาย อย่างน้อยก็น่าจะพอค่าเดินทาง อาฮง กับ อาเบ๋ง”


“อาหลิง ลื้อรักกำไลวงนี้มาก เป็นของขวัญแต่งงานจากพ่อลื้อ ปกติ ลูกสาวอย่างพวกเราได้ของขวัญกันที่ไหน ลื้อขายลงหรือ”


“อากิม ปากท้องสำคัญกว่า นี่อั๊วเป็นหนี้ ร้านข้าวหลายตำลึงแล้ว อั๊วเขียนจดหมายไปถามอาหลี่ที่ ปัตตาเวีย เขาก็ยินดีจะมารับ และฝากงานให้ อาฮง อาเบ๋ง เขาเล่าว่าโรงงานแป้งมันที่ปัตตาเวียกำลังต้องการคน อาฮง น่าจะดูแลอาเบ๋งได้”


“นี่ลูกของเราจะต้องจากไปเมืองไกลจริงๆ เหรอ อาหลิง”


“อาหลง เป็นคนฉลาด หัวไว ลื้อไม่ต้องห่วงหรอก 3 คนนี้ รักกันเหมือนพี่น้องแท้ ไปด้วยกัน อั๊วก็ไม่ห่วง ดีกว่ากอดคอกันตายอยู่ที่นี่”


ก่อนการเดินทาง อากิม กับอาหลิง ช่วยกันเอานุ่นเก่าๆ ที่เคยเป็นไส้หมอนมาเย็บกับผ้าสำลี ให้ทั้ง 3 คนใช้เป็นเสื้อกันหนาว เรือที่ออกจากเอ้หมึงในช่วงเดือน 4 เดือน 5 ยังเจออากาศไม่แน่นอน ในทะเลจีนใต้ยังหนาว เข้าเขตสยามอากาศจะอุ่น ร้อนขึ้นเรื่อยๆ


อาหลิงกับอากิมคุ้นเคยกับ “ผู้นำทาง” อาบั๊ก เป็นอย่างดี อาบั๊กเป็นผู้นำทางมาหลายสิบปี มีฐานะมั่นคง อยากให้คนในท้องถิ่นเดียวกัน ลืมตาอ้าปากได้ หลายต่อหลายครั้ง อาบั๊กจะช่วยออกค่าเดินทางให้ หากคนไหนมีไม่พอ บางคนนับถืออาบั๊กเป็นพี่เป็นพ่อด้วยซ้ำไป


เมื่อถึงวันเดินทาง หนุ่มน้อย 3 คน อองเกียนฮง อองเกียนเบง หลิมเฉ่งหลง มีสัมภาระไม่มากนัก เสื้อผ้าพอสำหรับกันหนาวบนเรือ กับข้าวแห้งๆ ที่ใช้ทำบนเรือได้ และตู้หนังสือเล็กๆ ของอาฮง อย่างไรเสีย ก็ไม่อาจทิ้งความรู้ได้


เรือสินค้าสัญชาติดัตช์ มีวิ่งจากปัตตาเวีย เอ้หมึงอยู่ทุก 2 - 3 อาทิตย์ในช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ปัตตาเวีย เมืองท่าของดัตช์ไม่เคยหลับใหลร้างผู้คน แรงงานราคาถูกจากเอ้หมึง กวางโจว มุ่งสู่ปัตตาเวียเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ปัตตาเวีย เมืองที่ก่อขึ้นด้วยชนชั้น คนพื้นถิ่นกลับเป็นชนชั้นล่าง ผู้รุกรานกลับเป็นชนปกครอง ช่องว่างตรงกลาง คือ พื้นที่ของชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาประสาน 2 ชนชั้น พร้อมทั้งขับเคลื่อนสังคมไป ด้วยการค้าวานิช


“เดือนกว่าๆ ใช่ไหม อาหลง อั๊วก็ลืมๆไป อาฮง อั๊ว ลื้อ เรา 3 คนอยู่บนเรือสินค้า โกบั๊กอีใจดีกับพวกเรา ไม่เคยทำให้รู้สึกว่าเราต่ำต้อย ทั้งที่ๆ แม่ๆ ของเรามีเงินไม่พอด้วยซ้ำ”


“ใช่ อาบั๊กเป็นคนดีมาก รักบ้านเกิด รักคนจีน ช่วยทุกคน อีไม่น่ามาตายเพราะความเอาปรียบชั่วร้ายของคนเลย”


“นับว่าพวกเราโชคดีที่ตัดสินใจมากับเรือสินค้า คนไม่เยอะ ไม่ต้องแย่งน้ำกันใช้”


“แถมได้กินหมูทอดด้วย ถ้าอยู่บ้านคงไม่ได้กิน”


เสียงหัวเราะของชาย 60 ปีปลายทั้ง ๒ คนสร้างความชุ่มชื้นแก่คนรอบข้าง อองเกียนเบง ชายจีนโพ้นทะเล รักเมืองตรัง ไม่น้อยกว่าบ้านเกิดเมืองนอน ชายผู้ไม่เคยปฏิเสธการช่วยเหลือชาวบ้านหากใครตกทุกข์ได้ยาก ธุรกิจ โรงสี ข้าว ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว


Yorumlar


bottom of page