top of page

กังไสสยามตอน 3 (2) : ขยัน อดออม กลมเกลียว



“เฮ้ย กินเองสิ อาเบ๋ง มาให้อั๊วทำไม” อาหลงท้วง


“ลื้อ น่ะหิวง่ายที่สุด อั๊วรู้น่า อั๊วกับอาเบ๋งบังคับลื้อมาตลอดให้อดทน เราผ่านกันมา 2 ปีแล้วนะ วันนี้ มีเยอะ อั๊วก็อยากให้ลื้อได้กิน” อาฮงยิ้ม ให้กำลังใจอาหลง


“อีกหน่อย โกฮง โกเบ๋ง ก็มีเงินส่งให้แม่กับน้องเยอะขึ้นแล้ว อั๊วดีใจด้วยจริงๆ อั๊วเองก็ต้องขยันมากขึ้น”


“ไม่ใช่ อั๊วกับอาฮง เรา 3 คน ต่างหากจะมีเงินส่งกลับมากขึ้น” อาเบ๋งนำ


“ใช่ เราจะยังเอาเงินมารวมกัน แล้วแบ่ง 3 ส่วนเหมือนเดิม เราจะมีเงินเพิ่มขึ้นเท่าๆ กัน” อาฮงบอก


อาหลงบอกปัด เพราะไม่ต้องการเอาเปรียบอาเบ๋ง


“ระหว่างเรา 3 คน ไม่มีคำว่า “เอาเปรียบ” อาหลง เราเป็นเหมือนพี่น้องกันแท้ๆ”


อาหลง น้ำตาคลอ ตื้นตันเกินกว่าจะเอ่ยคำพูด


ปัตตาเวีย อาณานิคมแห่งฮอลันดา เปรียบเหมือนหม้อจับฉ่าย อะไรๆ ดูจะสับสนปนเปกันหมด แต่หากเพ่งมองก็จะแยกส่วนต่างๆ ออกได้ไม่ยาก ชนพื้นเมืองเจ้าของถิ่นที่ แทบไม่มีพื้นที่ในสังคมเมือง คือ แรงงานชั้นล่าง ที่แทบลืมตาอ้าปากไม่ได้ พ่อค้าวานิชคล่องแคล่วว่องไว คือ ชาวอินเดียที่แล่นเรือทำการค้าในแถบช่องแคบมะละกา ซุนดา มาแสนนาน แรงงาน ผู้อดทนต่อการหยามเหยียด คือ ชาวจีน ซึ่งถูกมองว่า บ้านแตกอดอยาก


“ลื้อจะสนใจทำไม อาหลง ใครจะมองก็ไปสิ ที่นี่ไม่ใช่บ้านเรา เรามาทำงานเก็บเงิน เดี๋ยวก็กลับ” อาเบ๋ง จะบอกอาหลงแบบนี้ทุกครั้งไป ที่อาหลงบ่น


“ก็พวกผมแดงมันมองเราอย่างกับขยะ อั๊วไม่ชอบนี่”


“อาหลง คนที่เห็นคนอื่นเป็นขยะ ก็เพราะตัวอีเป็นขยะ จำไว้” อาฮงสอน


ความบันเทิงแก้เหงาของชาวจีน คือ บ่อนเบี้ย โป ไพ่ ต่างๆ มีอยู่ทุกหัวระแหงในปัตตาเวีย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นแรงงานจีน ความล้า เหนื่อย สิ้นหวัง ยิ่งทำให้แรงงานจีนหันเข้าบ่อน “ฝิ่น” ที่สาบคนให้กลายเป็นผีดิบ ยังตราอยู่ในใจ 2 หนุ่มพี่น้อง อาฮง “พ่อ” ผู้สิ้นหวังจากการสอบเข้ารับราชการถูกปีศาจฝิ่น กลืนกินวิญญาณ​จนไม่เหลือดี ทิ้งไว้ทั้งรอยร้าวและความงาม ยามจับมือลูกชาย ลูกสาว เขียนพูกันจีน บ้านตระกูลอองเป็นบ้านเดียวในหมู่นั้นที่ลูกสาวได้มีโอกาสจับพู่กันเขียนหนังสือ และอ่านออกเขียนได้


รุ่งเช้า อาเบ๋งตื่นแต่เช้า ออกไปรับลมหน้าบ้านแล้วเตรียมข้าวต้ม หมูเค็ม ผักดอง ไว้เป็นมื้อเช้า ใจคิดถึงแม่อย่างที่สุด อยากให้แม่รู้ว่าตัวมีความก้าวหน้าในชีวิต เช้าแต่ละวันเป็นช่วงเวลาเร่งรีบ 3 หนุ่มจะสลับกันตื่นก่อนเพื่อให้อีกใครหนึ่งใช้ห้องน้ำ


“โชคดีอาเบ๋ง เย็นๆ เจอกัน” อาฮงบอกน้อง


อาหลงโบกมือไวๆ เดินไปทางเดียวกับอาฮง


อาเบ๋งเดินไปโกดังข้าว รอรับงานจากหัวหน้าที่เถ้าแก่ใหญ่สั่งไว้


“โกหย่ง อั๊วมาตามที่เถ้าแก่สั่ง ฝากตัวด้วยนะโกหย่ง”


ชายวัยกลางคน ร่างกายผอมบาง ทว่าทมัดทแมง รวดเร็ว เอาจริงเอาจัง สอนงานอาเบ๋ง


“นี่เป็นคำสั่งซื้อจากร้านค้าเมืองต่างๆ ลื้อต้องแยกว่าอยู่เมืองไหน วันที่เท่าไร ดูคำสั่งซื้อแล้วไปตรวจดูว่าเรามีของพอไหม ต้องสั่งอะไรเพิ่มก่อนวันส่ง ลื้อต้องเขียนฉลากให้เรียบร้อย เดี๋ยวอั๊วให้คนงานสอนผสมสี เขียนลงกระดาษด้วยบนลังด้วย”


อาเบ๋งเดินตามโกหย่งดูงานแต่ละจุดด้วยความสนใจ


“ข้าว มีทั้งที่มาจากบันดุงและสยาม ข้าวสยามจะมีหลายแบบ เม็ดเต็ม เม็ดหัก พวกเม็ดเต็มจะแพงกว่าเม็ดหัก แต่รวมๆ คุณภาพดีกว่าข้าวบันดุงในบางปี พวกเม็ดหักๆ ส่วนใหญ่ทางสิงคโปร์จะสั่งไปปีนังอีกต่อ เลี้ยงคนงานเหมืองในไทรบุรี ข้าวดีๆ ส่วนมากก็ส่งขายมะละกา เมดาน... ข้าวสยามมีมาหลายแห่ง ถ้ามาจากทาง ลิกอร์ สงขลา เม็ดจะยาว แข็งกว่า คนปัตตาเวียชอบกิน มันเข้ากับกับข้าวดี ลื้อเคยกินไหม เรินดัง นาซีเลอมะห์ นาซีอูลัม”


ความเป็นจีนโพ้นทะเล ทั้ง 3 หนุ่มไม่ค่อยถนัดกินอาหารพื้นเมืองสักเท่าไร ข้าวหุงกะทิ ข้าวยำ ไม่ถูก

ปากอาเบ๋งนัก


นี่เป็นครั้งแรกที่ อองเกียนเบ๋ง ได้ยินชื่อ “สยาม” ใครจะรู้ได้ว่าในอนาคต “สยาม” จะกลายเป็นเรือนตายที่อาเบ๋งรักและภูมิใจ

Comments


bottom of page