top of page

กังไสสยามตอนที่ 9:  เกินเอื้อม ดอกไม้งาม (1)



สิงคปุระ เมืองท่าที่ไม่เคยหลับใหล ราวตี 3 ห้างร้านแถบตันจงปาการ์ก็เปิดเรียงราย รอรับสินค้าที่ขนถ่ายจากท่าเรือ กระดาษหนังสือพิมพ์เก่าที่ห่อใบชา ดอกไม้จีน เห็ดหอม ของแห้งต่างๆ ถูกทิ้งอย่างไม่ใยดี แต่ “นั่น” คือ ขุมความรู้อันมีค่าของเกียนเบ๋ง  จึงมักตื่นแต่เช้า เพื่อไปรอเก็บกระดาษหนังสือพิมพ์ ที่ห้างร้านทิ้ง บางแผ่นยังไม่ขาดวิ่นหรือเปียกน้ำ ก็จะเอามาคลี่ออกพับใหม่ ทุกค่ำคืน หลังจากเก็บกวาด ปิดร้าน เกียนเบ๋งจะใช้เวลาทบทวนตัวหนังสือจีนต่างๆ ทำให้ได้รับรู้ความเป็นไปของบ้านเมือง โดยเฉพาะแถบเซียงไฮ้ เมืองท่าอันทันสมัย เต็มไปด้วยชาวต่างชาติ ปัญญาชน นักเขียนต่างๆ ล้วนอาศัยเซียงไฮ้เป็นที่หลบภัยทางการเมือง ส่วนใหญ่ยอมเข้าเป็นคนในบังคับอังกฤษ เพื่อให้เขียนโจมตีการทำงานของรัฐได้


จดหมายจากอาฮง มักเล่าเรื่องทางบ้านให้ฟัง บางปีเพาะปลูกได้ ก็พอมีเงินเก็บ เกียนเบ๋งดีใจที่แม่เก็บเงินได้มากพอไปไถ่กำไลทองของรักกลับคืนมาได้ และมีเงินซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ให้น้องๆ และพี่สะใภ้ แม่มักเอ่ย

ผ่านอาฮงเรื่องแต่งงาน เพราะเจ้าสาวที่แม่จับคู่ให้อาเบ๋งก็อายุมากขึ้นทุกวัน เรื่องน่าอับอายคือ เทียนหลัน ไม่ยอมมัดเท้าอย่างชาวฮั่น เหมือนเมียของอาฮง ซึ่งก็ทำให้ครอบครัวอับอายมาก่อนแล้ว อ้างว่าพวกแมนจูก็ไม่มัดเท้า หมดยุคสมัยแล้ว เทียนหลัน เป็นคนดื้อรั้น ชอบทำงานในไร่ หากไม่ติดสัญญาที่เคยให้ไว้ในรุ่นพ่อ แม่จะไม่ยอมรับสะใภ้คนนี้เด็ดขาด เพราะไม่ยอมทำตามประเพณีใดๆ ดีที่ยอมมาอยู่ที่บ้านตระกูลออง แต่ก็คงเพราะต้องการหนีจากครอบครัวของตัวเอง เกียนเบ๋งยังไม่คิดเรื่องมีครอบครัวอะไรใดๆ แม้อายุจะย่าง 22 ปี แต่ก็ยังไม่อยากมีภาระใดๆ


“อาเบ๋ง วันนี้ลื้อไปส่งข้าวที่บ้านตระกูลลิ้ม ที่กาตงด้วยนะ ยังไม่เคยไปใช่ไหม เดี๋ยวลื้อนั่งรถลากตาม รถส่งของไป จะได้รู้จักบ้านลูกค้าด้วย”


ย่านตันจงกาตง ริมชายทะเล แนวต้นมะพร้าวเรียงราย มีบ้านพักตากอากาศอยู่กระจายกัน และดูเหมือนจะเริ่มมากขึ้น บ้านหรือเรียกคฤหาสน์ตระกูลลิ้มดูจะเข้าทีกว่า อาคารทรงยุโรป 2 ชั้น หัวเสาประดับใบไม้อย่างฝรั่ง หน้าเสาเขียนอักษรจีนมงคลเรียงลงตามกัน ดูสง่างามน่าเกรงขาม ทันใดรถลากข้าวจอดลง ให้ทางรถเก๋งคันงาม ก่อนที่หญิงสาวจะก้าวลงจากรถ คนรับใช้ซึ่งคอยท่าอยู่ก่อน กางร่มกระดาษออก คล้ายจะบังแดด ทว่ากางกั้นไม่ให้ผู้คนแถวนั้นเห็น เด็กสาว 3 - 4 คน เดินลงมา คนสุดท้ายค่อยๆ ก้าวลง เธอยื่นมือปัดร่มออก ผิวเข้มนวลของเธอบ่งบอกว่า ไม่น่าจะใช่เชื้อสายจีนซึ่งผิวออกขาวสว่าง ทั้งทรงผมที่เกล้าเป็นมวยหลวมที่ๆ ท้ายทอย สวมเสื้อกาบายา ฉลุลูกไม้เนื้อดี สีเหลืองนวลสอาดตา ผ้านุ่งปาเต๊ะย่างนิยมกันในแถบมลายา


“จันทร์ quick! Don’t let other people see you like this!”


เสียงตอบจากสาวน้อยทีชื่อจันทร์


“Don’t worry. We Siamese don’t have this taboo. We prefer smiling to other people.”


อาเบ๋งรู้สึกประหลาดใจที่หญิงสาวกลุ่มนี้ พูดคุยกันด้วยภาษาแปลกหู  ทันใดอาเบ๋งต้องหลบตาลง เมื่อสาวน้อยหันมามองและยิ้มให้


“you shouldn’t do like this. This is not a good manner among us Nyonya!” โบตั๋น ลูกหลานบ้านตระกูลลิ้ม นายเหมืองผู้มั่งคั่งแห่งสเตรท เซทเทิลเมนต์


“คนเหมือนกันนะ โบตั๋น ! เราชาวสยามเป็นคนพุทธ เราเชื่อในความดี ความเมตตา เขาก็คน เราก็คน” ชมจันทรา ในวัยย่าง 17 ปีเอ่ย


ชมจันทรา บุตรีกรมการเมืองไทรบุรี พระมาลยกิจสวัสดิ กำพร้าแม่แต่ยังจำความไม่ได้ ติดตามบิดามาอยู่ที่เมืองไทรบุรี หน้าตาน่ารัก ดวงตากลมโต ทำให้หม่อมเนื่อง ในเจ้าพระยาฤทธิสงครามภักดี แห่งไทรบุรีเอ็นดู และรับอุปการะ เธอเติบโตอย่างชาวพุทธซึ่งแวดล้อมด้วยขนบประเพณีแบบมุสลิม เรียนหนังสือชั้นปฐมในไทรบุรีได้สักพัก บิดาด้วยความเห็นดีชอบจากหม่อมเนื่องได้ส่งชมจันทราเข้าเรียนในคอนแวนต์ที่ปีนัง ทั้งยังได้รับการดูแลจากตระกูลคอ แห่งปีนัง


ปิดภาคเรียน หากท่านกรมการเมืองติดราชการที่พระนคร กรุงสยาม ชมจันทรามักจะไปพักแรมกับครอบครัวตระกูลลิ้ม ที่สิงคปุระ


“ก็จริงนะข้อนั้น แต่เราเป็นผู้หญิง หญิงสาวญอนญ่าจะไม่ให้ใครเห็นตัวก่อนแต่งงาน นะ จันทร์” โบตั๋น หญิงสาวผู้ยึดมั่นในกรอบประเพณีเคร่งครัด


ชมจันทราไม่อยากเถียงด้วย จึงเดินเลี่ยงเข้าครัว ไปเพื่อเตรียมทำอาหารว่างตอนบ่าย


อองเกียนเบ๋ง รู้สึกว่าตัวเองอยู่คนละโลกกับเธอเหล่านั้น ทว่าไม่รู้สึกตำ่ต้อยด้อยค่าอะไร  เมื่อย่างเท้าเข้ามาในคฤหสาน์ตระกูลลิ้ม ในฐานะ “เด็กส่งของ” เกียนเบ๋ง ต้องเดินตรงไปทางท้ายครัว ไม่มีโอกาสได้ชมความงามโอ่อ่าของคฤหาสน์แม้ปลายตา

コメント


bottom of page