top of page

กังไสสยามตอนที่ 9:  เกินเอื้อม ดอกไม้งาม (2)


เสียงสั่งงานดังสลับไปมา คนนั้นสั่งคนนี้ อีกคนสักคนนั้น ชมจันทราไม่สันทัดภาษาจีนฮกเกี้ยนนัก พอจับใจความได้ พลางเงยหน้าจาก เครื่องเริมปะห์ ที่เตรียมผัดกับกุ้ง เริมปะห์อุดัง ข้าวเหนียวไส้กุ้งของว่างยามบ่าย สายตาของเธอสบเข้ากับหนุ่มจีน หางเปียยาว แม้เป็นผู้ใช้แรงงาน แต่สายตาชายหนุ่มก็ฉายแววบัณฑิต


‘เพชรแม้ฝังอยู่ใต้เลนตม ก็ยังส่องแสงวาวงามได้’


ชมจันทรา ยิ้มให้ ท่ามกลางสายตาไม่พอใจของบรรดาแม่บ้าน แม่ครัว โบตั๋น จนชมจันทราหันไปติง


“คนเหมือนกัน เมื่อไรนะที่จะเลิกแบ่งเขาแบ่งเรา”


ชาวจีนช่องแคบยึดมั่นใจกรอบประเพณีอย่างเคร่งครัด จนน่าอึดอัด นิสัยใจกว้าง ไม่แบ่งเขาเราเป็นอื่น คงได้มาจากทางท่านกรมการเมือง พระมาลยกิจสวัสดิ บิดาของชมจันทรา ชายอารมณ์ดี ประนีประนอม ที่คมในฝัก สหายของพระยารัตนเศรษฐี คอซิมก๊อง ผู้รับสืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองระนองต่อจากบิดา


เกียนเบ๋งรู้สึกใจเต้นไม่เป็นส่ำเพราะรอยยิ้มนั้น กลับต้องเป็นฝ่ายหลบตา ใครจะรู้ในกาลข้างหน้า หญิงสาวทันสมัยคนนี้ จะกลายเป็นกำลังผลักดันตัวเขาให้เดินต่อไป


วันแล้วเดือนผ่านไป เกียนเบ๋งใช้ชีวิตอย่างเดิมๆ ตื่นย่ำรุ่ง ปัดกวาด จัดร้าน 7 โมงครึ่ง ร้านเปิด แต่แรกมา ยังงงกับการคัดเม็ดถั่วขนาดต่างๆ ตามคุณภาพ และราคา ไม่นานนัก ก็ใช้สายตาคัดแยกได้อย่างรวดเร็ว จดคำสั่งซื้อ ที่อยู่ร้านค้า จัดคนส่งของ เย็นลงเมื่อปิดร้าน ก็จะทำบัญชีรับส่งสินค้า รายรับรายจ่าย เก็บเงินเข้าเซฟ เช้าขึ้น อาปอจะเอาเข้าธนาคารฝรั่ง


คำ่ลง อาเบ๋ง ฝัดถั่วเหลืองเม็ดเล็กออกจากเม็ดใหญ่อีกรอบ ไม่ให้ลูกค้าที่ซื้อเม็ดใหญ่บ่น เม็ดเล็กขายถูกหน่อย บางครั้งอาเบ๋งจะขอซื้อขึ้นมา เพื่อลองทำซิอิ๊วสูตรดั้งเดิมของที่บ้าน แดดที่ส่องลงกลางลานบ้าน และหลังบ้านในหน้าร้อน พอที่จะตากซิอิ๊วได้  น้ำในกะทะใบบัวร้อนได้ที่ เทถั่วเหลืองลงไปต้มจนสุก รอจนเย็นจึงหมักเข้ากับแป้งสาลีจนเกิดรา กลิ่นรสจะดี ผ่านไปสัก 7 - 10 วัน เชื้อขาวขึ้นคลุมเต็มเม็ดถั่ว ต้มน้ำเกลือให้สุก ปล่อยทิ้งจนเย็น แล้วหมักกับถั่วเหลือง ความเค็มของเกลือจะซึมอยู่ในเม็ดถั่ว เมื่อเทลงหมักกับถั่วเหลือง กลางวันเปิดฝาให้โดนแดด ปิดฝากลางคืน กันน้ำค้างลง ผ่านไป 7 เดือน จะได้ซิอิ๊วหอมไว้กิน


‘แบบนี้สิ ถึงจะเหมือนซิอิ๊วที่บ้าน’ เกียนเบ๋งนึกพลาง


แสงดวงจันทร์สว่างแต่หัวค่ำ เถ้าแก่สองหอบสมุดบัญชี สมุดงาน มาคุยกับ “พ่อ” ทุกอาทิตย์อย่างเคย ไม่ผิดสังเกต เพราะรู้ว่าสายตำรวจคอยจับตามองเสมอ


“อั๊วไม่อยากให้โรงเรียนจีนในตรังเป็นแหล่งความแตกแยก เมื่อเราเปิดโรงเรียนจีน เราก็ควนเน้นภาษา วัฒนธรรมจีน” เจ้าสัวเบ๋งเอ่ย


“อาปา มันยากที่จะห้ามครู เขาคงเจ็บแค้นฝ่ายกั๋วหมินตั๋งที่ลอบทำร้ายฝ่ายคอมมิวนิสต์ เห็นเล่าว่าเงินทุนที่ระดมไป ส่วนหนึ่งใช้กับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ เรื่องนี้ รัฐบาลมอสโก ไม่พอใจมาก”


“ทางสิงคโปร์ก็ส่งข่าวมาว่าหลักการไตรราษฎร์ กำลังสั่งคลอน” เกียนเบ๋งเอ่ย


“พวกครูที่เมืองพัทลุงสังเกตว่าจริงๆ แล้วหลักความเท่าเทียมกันอาจเป็นเพียงลมปาก เพราะตลอดเวลา ฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกต้อนจนเกือบจนมุม ลือกันว่าลูกชายของนายพลเจียงอยู่ที่มอสโก ทำให้นายพลเจียงไม่กล้าหักกับทางรัสเซีย” เถ้าแก่สองเล่า


“ตอนนี้ ต้องถือว่าเราเป็นชาวสยาม เลือดจีนอย่างเรา แม้จะรักพี่น้องชาติกำเนิดแค่ไหน แต่ก็ต้องไม่ลืมแผ่นดินที่อยู่ที่กินนี้ เราต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่แผ่นดินนี้  สยามเองยังไม่รับรองจีนคณะชาติ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ก็ยังดูไม่ลงตัว หลายก๊กหลายฝ่าย ไม่รู้ใครเป็นใคร”


“ตอนนี้ ที่ปีนังก็ตื่นตัวกันมาก ตั้งแต่กลุ่มของโอวบุ้นโฮ้ว มาตั้งกลุ่มขึ้น เพื่อระดมทุนช่วยชาวจีน บางคนคิดว่านี่คือการแข่งบารมีกับกลุ่มของตันกากี่” อาสองเล่าต่อ


“เรื่องนี้ จริงๆ ต่างคนต่างทำก็น่าจะดีอยู่หรอก แข่งกันไปทำไม มลายาอยู่ในมือของพวกอังกฤษ ไม่ควรไว้ใจมาก ยามเรามีประโยชน์ก็ยังอุ้มชู พอหมดประโยชน์ก็ไสหัว พวกนี้ไม่เคยเห็นแก่ใครจริง อั๊วถึงดีใจทุกวันนี้ ที่เลือกเป็นคนในบังคับสยามตั้งแต่ก่อนย้ายมาจากไทรบุรี” อาเบ๋งระลึกความเดิม แต่ก็ไม่อยากพูดมาก ให้เสียน้ำใจตัวเอง


“เอาแค่ห้างในบอมเบย์ ลอนดอน ยังสั่งพริกไทจากเราก็พอแล้ว” โกสองเอ่ย


“ใช่ รักษาน้ำใจไว้ ทำธุรกิจอย่าเอาเรื่อง ชาติ ศาสนา การเมือง มาปน จะเสียงาน”


“เถ้าแก่ใหญ่บอกว่ามีญี่ปุ่นเข้ามาทางสงขลามาก เห็นว่าสนใจอยากลงทุนเหมืองแร่ ทางเมืองนครฯ พัทลุง สงขลา รามัน ก็มีเหมืองเปิดใหม่หลายแห่ง นายเหมืองบางรายก็ทุนไม่พอ”


“ญี่ปุ่นรุกคืบเข้ามาทุกที คงมีเป้าหมายอะไรสักอย่าง”


“อั๊วกลัวจะเกิดสงคราม” เถ้าแก่สองโพล่งออกมา


“ก็จริง เพราะตอนนี้แผ่นดินใหญ่อ่อนแอเหลือเกิน ฝ่ายก๊กมินตั๋งเอาแต่ไล่ตีคอมมิวนิสต์จนรั้วบ้านพังหมด นี่ล่ะพวกเรา จีนหนันหยางจะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือฝ่ายไหนทั้งสิ้น เน้นหลักมนุษยธรรม”

Comments


bottom of page