top of page

ข้าวสาร ข้าวสุก


หลายวันก่อน ชาวนาเมืองสุรินทร์ที่เคยอุดหนุนข้าวหอมมะลิ ส่งข้าวกล้องมาให้ลองกินดู เห็นว่ามีน้อยและมีประโยชน์ เพื่อนรุ่นน้องคนสุรินทร์บอกว่าเขาเห็นเป็นเพื่อน มากกว่าลูกค้า จึงผูกน้ำใจกันด้วย “ข้าว” “ข้าว” คำนี้ออกเสียงยาวในปัจจุบัน สมัยก่อน ออกเสียงสั้น และเขียน “เข้า” เหมือนกับที่ใช้ในความหมาย ‘ย้ายไปด้านใน’ ในแถบอิสาน ก็ยังคงออกเสียงสั้นแบบดั้งเดิม สยาม มีพื้นที่เพาะปลูกมากมาแต่ไหนแต่ไหนแต่ไร แต่ละภูมิภาคปลูกข้าวต่างชนิดกันไป ภาคกลางนิยมปลูกข้าวเบา เก็บเกี่ยวเร็ว ส่วนทางอิสานมักจะเป็นข้าวหนัก ใช้เวลานานกว่า พึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ราชาแห่งข้าวคือ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งอาศัยน้ำฟ้าน้ำฝน ทุ่งกุลาซึ่งไม่ร้องไห้แล้ว เป็นแหล่งปลูกชั้นยอด คนรุ่นใหม่อาจไม่ทราบว่า สัก ๔๐ กว่าปีที่แล้ว เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ทุ่งกุลา ต้องพ่วงคำ “ร้องไห้” ด้วย เพราะแล้งเหลือเกิน ข้าวหอมมะลิ เม็ดยาว หุงแล้วแห้ง เรียงเม็ด มีกลิ่นหอม โดยส่วนตัว ชอบข้าวเมืองสุรินทร์ บุรีรัมย์ ซึ่งมีอาณาติดต่อกับทางเขมรล่าง ในเมืองศรีโสภณ อาจเลยลงไปถึง เมืองพระตะบอง ทั้ง ๒ เมืองล้วนเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของกัมพูชามาแต่โบราณ หากเลยไปทางแถบเมืองสตึงเตรง จะมีข้าว ผกาลำดวน จะร่วนมัน ชาวบ้านแถบนั้นมักกินกับปลาแม่น้ำโขง


คำ “ข้าว” มักประสมกับคำอื่นมีรายละเอียดมากขึ้น “ข้าวสาร” หมายถึง ข้าวดิบนานาอย่างที่ยังไม่หุงหรือนึ่ง “ข้าวสุก” คือ ข้าวที่ผ่านการ หุง หรือ นึ่ง หุง ใช้กับ ข้าวจ้าว หรือ ข้าวสวย ส่วน นึ่ง ใช้กับ ข้าวเหนียว เมื่อเอ่ยคำแล้ว ก็อยากจะเล่าต่อ ข้าวจ้าว นั้น หมายถึง ข้าวที่ไม่เหนียว เคยได้ยินผู้รู้กล่าว “จ้าว” เป็นคำไทอาหม อีกคำ “ข้าวสวย” เดิมไม่ได้หมายว่า สวย อย่างคำว่า งาม สวยนี้เดิมเป็นคำเขมรว่า “สรวย” เสียงกล้ำ สร- ออกเสียงไม่สะดวกนัก ไทยจึงไม่ออกเสียง ร แต่ยังคงไว้ในหลายคำ เช่น “สรง” “สร้าง” แต่บางคำก็ตัดออกเสียงเฉย “สรวย” ในภาษาเขมร หมายว่า ไม่ติดกัน “ข้าวสรวย” จึงหมายถึง ข้าวที่ไม่เหนียว ในภาษาเขมรเรียก “บายสรวย” อีกน้อยหนึ่ง คำ “สรวย” หากเติม สระ ำ เข้ากลางคำ จะเป็นคำนามในภาษาเขมรว่า สำรวย ไทยเราใช้ในความหมาย ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน รักสนุกไม่เป็นแก่นสาร นั่นเอง

4 views0 comments

Recent Posts

See All

Comentarios


bottom of page