top of page

คลองชักพระ


เอ่ยชื่อ คลองชักพระ คนย่านบางกอกน้อยรู้จักกันดี ด้วยเป็นคลองเก่าแก่ แยกจากคลองบางกอกน้อยตรงวัดขี้เหล็กอันเป็นสามแแพร่ง น้ำแรง ย้อนกลับไปครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา คลองเส้นนี้เคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ซึ่งไหลจากคลองอ้อมเมืองนนทบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายเก่าเช่นกัน เข้าคลองบางกรวย ออกปากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลเรื่อยลงมาวกเข้าตรงสถานีรถไฟบางกอกน้อย ไหลเรื่อยมาเข้าคลองชักพระในปัจจุบันนี้ ไปออกปากคลองบางกอกใหญ่ที่วัดท้ายตลาด ต่อมาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช โปรดฯให้ขุดคลองลัดตรงจากสถานีบางกอกน้อยลงมาปากคลองบางกอกใหญ่ เพื่อร่นเวลาการเดินทางสู่กรุงศรีฯ เกิดเป็น ลัดบางกอก และอีกหลายลัด กระแสน้ำไหลแรง จนคลองลัด กลายเป็นแม่น้ำ แม่น้ำกลายเป็นคลอง เรียกกันในชั้นหลังว่า คลองชักพระ ด้วยเป็นเส้นทางแห่พระ ในวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๑๒ หลังคืนเพ็ญเดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันพระ และสิ้นสุดกาลกฐิน ทั้งลอยกระทงบูชาพระแม่คงคา


ในปีนี้ประเพณีเห่เรือชักพระ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔​ สบโอกาสได้ชมกระบวนเรือเสียที คลาดกันมาหลายคราว เพราะเป็นวันธรรมดา ดูมูลเหตุแห่งประเพณีคงด้วยเพราะ เดือน ๑๒ น้ำที่หลากลงมาแต่เมืองเหนือ เร่ิมนิ่ง ขับน้ำเสียน้ำเก่าทิ้งแล้วเสียสิ้น น้ำใหม่ ตะกอนดินอุดมไหลลงมา ให้ชาวบางกอกซึ่งมีอาชีพทำสวน ได้ใช้ทำมาหากิน ใครก็รู้กันว่า บางกอก นั้นอุดมด้วยลูกหมากลูกไม้นานา บางกอกน้อย นี่ ขึ้นชื่อว่า ทุเรียน อร่อยที่สุด


กระบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ ตั้งต้นที่วัดนางชีโชติการาม ในคลองด่าน ซึ่งแยกจากคลองบางกอกใหญ่ คลองด่านนี้ นับเป็นตำแหน่งสำคัญ คือเป็นด่านเก็บภาษี เรียก ขนอน แปลออกเป็นภาษาอังกฤษว่า transit tax กระบวนเรือเลี้ยวซ้ายเข้าคลองบางกอกใหญ่ แห่ไปเรื่อย ผ่านวัดวาอาราม ๒ ฝั่งมากมาย พระสงฆ์ตั้งโต๊ะหมู่บูชา เจริญพระพุทธมนต์รับกระบวนแห่พระ ชาวบ้านเชิญพระพุทธรูปออกมาหน้าเรือนรับกระบวนเรือเช่นกัน จนออกปากคลองชักพระ เลี้ยวขวาเข้าบางกอกน้อย เลี้ยวขวาออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แห่เรื่อยไป เลี้ยววกขวาอีกครั้งเข้าคลองบางกอกใหญ่ กลับไปยังวัดนางชีฯ จะเห็นได้ว่า คือเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่านั่นเอง ประเพณีนี้คงมีมาเนิ่นนานนัก


ในการแห่พระบรมสารีริกธาตุ ใช้เรือดั้ง อันเป็นเรือแจว ฝีพายใช้พายทอง พายนกบินซึ่งปกติจะใช้ท่านี้กับเรือพระที่นั่งและเรือเชิญผ้าไตร ผ้าพระกฐิน คือ เรืออนันตนาคราช เท่านั้น เรือพระตาม ฝีพายพายราบ ไม่เกินกราบเรือ เมื่อเป็นเรือแจวย่อมต้อง “เห่เรือ” ให้จังหวะ เมื่อกระบวนมาถึงคุ้งหน้าวัดตลิ่งชัน ใช้บทเห่เรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ตอนเห่ชมปลา เข้ากับบรรยากาศเสียจริง ปีนี้น้ำนิ่ง ใส ด้วยเมื่อย่ำรุ่งฝนลงหนัก ชะน้ำเสียทิ้งไปมาก อนึ่งในการเห่เรือ จะเห่ และรับเห่ ในเรือเชิญพระบรมสารีริกธาตุเท่านั้น เรือพระตาม จะไม่เห่รับ แต่ด้วยเพราะ พระคุณเจ้าท่านไม่ได้อยู่ในกระบวน ล่วงหน้าไปรอที่ปากคลอง เรือตามจึงเห่รับได้


นับเป็นบุญตาเสียจริงที่ได้เห็นกระบวนเห่เรือชักพระในแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ทั้งบทเห่เรือก็เป็นบทเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา งามสง่าสมชื่อ คลองชักพระ #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com


114 views1 comment

Recent Posts

See All

1 comentario


panuddapooh10
27 nov 2021

ประทับใจและชื่นชมมากค่ะ

Me gusta
bottom of page