top of page

จับกลิ่นจับใจ (๑)




นอกจากอากาศ ทัศนียภาพ และ ผลไม้ แล้ว แต่ละถิ่น แต่ละฤดูกาลยังมี กลิ่นที่ต่างออกไป ฤดูร้อนซึ่งมาเร็วกว่าเดิมในสมัยนี้ จะมีกลิ่นมะลิหอมครอง เคล้ากลิ่นพิกุล ยิ่งหากฝนลงเม็ดด้วยพายุฤดูร้อนเข้า กลิ่นดอกพิกุลจะกรุ่นกลิ่นอยู่อย่างนั้น


เข้าฤดูฝนสักเดือน ๗ หรือ ๘ ตามปฏิทินไทย กลิ่นลูกจันจะหอมอวลแต่ไกล และไม่ควรเข้าไกลนักเพราะอาจเวียนหัวเวียนเกล้าได้ ลูกจัน มักปลูกกันตามวัดเสียมาก บางต้นเป็นอินจัน ลูกอินจะออกกลม ลูกจันจะออกแป้น ค่ำลงลมร้อนต้นฤดูฝนจะล้อกลิ่นลูกจันให้หอมลอยตามลม คืนวันเพ็ญวิสาข วัดวาอารามจะหอมกลิ่นลูกจันไปทั่ว กลิ่นลูกจัน ช่างเข้ากับบรรยากาศริมคลอง เรือนโบราณ หากวางไว้ให้ลมผ่าน ไม่อับลม กลิ่นลูกจันจะช่วยขจัดกลิ่นอับชื้นของลมฝนอีกด้วย


ปีบ จะมาช่วงปลายปี เมื่อลมหนาวโชยอ่อน ดอกร่วงมาก หากเก็บทัน ก็เอาไปถวายพระพุทธเป็นของบูชา กลิ่นปีบคล้ายดอกแมคโนเลียมาก หอมออกข้นๆ เหมือนน้ำนม ช่อดอกห้อยเป็นพวงบนต้นสูง ขาวเป็นช่อ น่ามอง ยิ่งตัดกับฟ้าใสๆ ในช่วงปลายปี


จำปา เป็นไม้ใหญ่ หอมหวานจัด ชั่วแต่ว่า ช้ำลม เร็ว เด็ดดอกลงมาต้องเอาแช่น้ำเกลืออ่อน รักษาไว้ไม่ให้ช้ำลม เวลาร้อยเป็นอุบะทรงเครื่อง จะสวยหวานมาก ทั้งให้กลิ่นหอมนาน


ฝั่งธนบุรี แต่ไหนแต่ไรเป็นเรือกสวนแน่นขนัด มีทั้งไม้ให้ดอก ไม้ให้ลูก ตามหัวท้องร่วงมักมีไม้ใหญ่ ด้วยหยั่งรากลึกกับดินท้องร่องทรุดตัวได้ดีนัก เมื่อเด็ก เวลาไปเล่นสวน ก็มักจะอยู่กันทั้งวัน ออกมาเมื่อบ่าย และมักจะโดนตีเพราะไม่ได้กลับมากินข้าวกลางวันที่บ้าน

6 views0 comments

Recent Posts

See All

Commentaires


bottom of page