top of page

จับกลิ่นจับใจ (๒)


เมื่อปลายปี แทบไม่ได้มีดอกไม้ไหว้พระ เพราะช่วงอากาศเย็น ดอกไม้จะน้อย หน้าร้อน แม้หลายคนจะบ่นอุบอิบ แต่ฉันกลับรอคอย เพราะจะมีดอกไม้ออกมามาก ทั้งลูกหมากลูกไม้ก็แย่งกันสุก เคยนึกอยู่หลายครั้ง ทำไมคนตะวันออกจึ่งไหว้พระ ไหว้เทวดา? โดยชาตาตัวเองไม่มีโชคเรื่องเสี่ยงดวง จำได้ว่าไหว้พระมาแต่เด็ก เพราะชอบกลิ่นธูปควันเทียน ซึ่งพ่อจะใช้อยู่ยี่ห้อหนึ่งประจำ เมื่อจะสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๓๐ ปีล่วงมา ไหว้พระสวดมนต์อยู่เสมอ ไม่ขอให้สอบเข้าได้อย่างปาฏิหาริย์ แต่ “ขอให้มีสติใช้ความรู้ได้ดีที่สุด” เมื่อสอบเข้าได้ จึ่งเอามาลัยไปไหว้พระ


“มาลัยดอกพิกุล ไหว้พระไหว้เทวดา” คนขายว่าอย่างนั้น โลกของคนโบราณ ไม่ได้แยก “คนเดินดิน” ออกจาก “เทวดา” กลิ่นหอม จะเป็นตัวเชื่อมโยงโลกทั้ง ๒ ระบอบที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ให้ถึงกัน ดอกพิกุลเป็นเช่นนี้เองน่ะหรือ ดอกเป็นแฉกแหลม ชุ่มน้ำ กลิ่นหอมอวล จึงจำได้ว่าที่วัดบวรมงคล มีอยู่ต้นหนึ่ง เวลากลับจากโรงเรียนเดินผ่านจะเห็นร่วงพราวบนหญ้า พิกุลเมื่อแก่จัดจะร่วง นั่นจึ่งเก็บมาร้อยมาลัยได้


เกร็ดน้อยหนึ่ง เมื่อเห็นป้าแมว ช่างมาลัยหน้าโรงเรียนหลวงสวนกุหลาบวิทยาลัยร้อยร้อยพิกุล นางจะฉีกกาบกล้วยเหนียวออกเป็นทางยาว แลดูคล้ายเชือกกล้วย เมื่อหนาสักนิ้วนาง ก็ขดเข้าเป็นวงโครงมาลัย สายตาที่แม่นยำแบ่งดอกพิกุลที่สี ขนาดเดียวกัน ไว้ด้วยกัน ร้อยเข้ากับด้ายขาวหนาสักหน่อย ยาวเป็นสาย จากนั้นจึงขดเข้ากับโครงมาลัยออกมาเป็นวงเรียงซ้อนดอกกัน “อุบะ จำปี จำปา ต้องติดใบ โบราณทำมากันมา” นางก็ไม่รู้ว่าทำไม จนวันหนึ่ง อดีตนางข้าหลวงแผ่นดินที่แล้วเล่าว่า อุบะติดใบ หมายว่าให้รุ่งเรืองเติบโตเหมือนใบไม้แตกยอดอ่อนและเลี้ยงดอกให้งาม


คนโบราณช่างคิด ไม่ช่างถาม แต่ลงมือทำ เงียบๆ ทำกันไป ทุกอย่างออกมางาม ความเงียบงามทำให้ เขา เรา อยู่กับตัวเองได้

9 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page