top of page

ซุยล้ง



“มาซ่อมหรือมาซื้อ” คำถามเดิมๆ ที่อาปะมักจะทัก อาปะ หรือ “ลุง” ในภาษาจีนกวางตุ้ง อาปะ มักจะหยอกแบบนี้เสมอมา “มาซื้อสิ ไม่ได้ถืออะไรมา” ก็จะตอบไปอย่างนี้ แต่ไหนแต่ไรมา ที่บ้านไม่เคยใชัถึงเหล็ก หรือพลาสติกเลย คราวหนึ่ง พ่อหิ้วถังพลาสติกมีน้ำอยู่เต็ม คงเพราะเนื้อพลาสติกเสื่อมลง แตกพัง น้ำนองพื้น เสียเวลามาเช็ด เลยกลับมาใช้ถังไม้อย่างเดิม เหมือนตอนพ่อหนุ่มๆ


พ่อเกิดอยู่ในตลาดเก่า ซึ่งเชื่อมกับตรอกวานิช ๑ ได้ แถวทรงวาด จึงเป็น “ถิ่นเดิม” ของพ่อ แถวปากคลองสำเพ็ง หรือวัดปทุมคงคา เดิมมีร้านขายถังไม้เรียงรายไปตลอดแนว เมื่อเด็กมาก ยังนึก “ขายเหมือนๆ กัน แล้วจะขายออกได้ยังไง” คงเหมือนกับแถวหัวเม็ดที่มีร้านเพชรเรียงราย แต่ “ลูกค้าใครลูกค้ามัน” แต่ละร้านมีลูกค้าประจำ “ซุยล้ง” กลึงถังไม้มาเนิ่นนาน ตั้งแต่รุ่นปู่ เนื้อไม้แนบสนิท รัดด้วยแถบเหล็ก แพงขึ้นมาอีกหน่อยก็ใช้ทองเหลือง ก่อนใช้งาน ต้องแช่น้ำให้เนื้อไม้ฟูแน่น ด้วยเนื้อไม้จะหดตัวยามโดนลมโดนแดด


“หนักๆ ก็หนัก ไม่รู้จะใช้ไปทำไม” จะบ่นทุกครั้งที่ต้องตักน้ำมาถูบ้าน เหตุผลเดียวของพ่อ คือ “ทนทาน” จริงๆ ต้องเรียกว่า “เกินทนทาน” หากไม่ซี่ไหนผุ ก็เอามาซ่อมได้ สมัยก่อน ที่บ้านพ่อจะทำเต้าหู้เอง เพราะกินกันทุกเมื่อเชื่อวัน กระดานรองเต้าหู้ก็ต้องสั่งทำที่นี่ ร้านอื่นๆ พ่อไม่เคยซื้อเลย อันที่จริงเขาก็เป็นเครือญาติกันหมด มาจากหมู่บ้านเดียวกันในกวางตุ้ง


“เห็นไหม จนป๊าลื้อตายไปแล้ว ลื้อยังได้ใช้ต่อ” อาปะว่า เอาใบหนึ่งมาใช้ใส่น้ำถูบ้านที่ อพาร์เตอมองต์ อีกใบเป็นถังใส่ข้าว ก็ใช้มาไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปี คนสมัยก่อนใช้ชีวิตต่างจากคนสมัยนี้ ไม่สุรุ่ยสุร่าย อะไรอย่างหนึ่งก็ใช้มันจนข้ามรุ่นข้ามวัย สำคัญคือ ความลเอียดอ่อนในการสร้างงานแต่ละชิ้นแฝงด้วยความตั้งใจ ความรัก และทุ่มเท #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.ruenbangramat.com



58 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page