top of page

ดังเป็นข้าวตอกแตก


ดังเป็นข้าวตอกแตก


สมัยเป็นนิสิต หากเดินผ่านไปทางห้องธุรการ ตึกอักษรศาสตร ๑ จะได้ยินเสียงพิมพ์ดีดดังรัวทั่วกัน เครื่องใครเครื่องมัน โบราณว่า “ดังเป็นข้าวตอกแตก” คนสมัยก่อน สมาธิดีมาก เสียงก้านตัวอักษรดีดขึ้นลง ยก ปัด แคร่ วรรค ย่อหน้า ไม่อาจทำลายสมาธิจดจ่อต่องานได้ สัก ๓๐ - ๔๐ ปีล่วงมา วิชาพิมพ์ดีด เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่ต้องเรียน เวลาไปสมัครงาน ก็มักจะถูกถามว่าพิมพ์ดีดเป็นไหม กี่คำต่อนาที นึกแล้วก็หัวเราะอยู่คนเดียว


เวลาจะต้องพิมพ์งานภาษาเยอรมัน ต้องคอยโผล่ไปดูที่ห้องภาควิชาว่าเครื่องว่างไหม หากมีคนใช้เครื่องก็ต้องรอ คนใช้เครื่องก็รู้สึกกดดัน คนรอเครื่องก็เบื่อ วิชาทางอักษรศาสตร์ต้อง อ่าน คิด เขียนมากในทุกๆ วิชา เขียนรายงานกันทีเป็น ๑๐ - ๒๐ หน้า จนขึ้นชั้นปีที่ ๓ พ่อไปซื้อต่อเครื่องพิมพ์ดีดของเจ้านายคนเดนมาร์กมา เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นภาษาเยอรมัน เอาเข้าจริง ก็ใช้พอแทนกันได้ จำได้ว่ามีความสุขเหลือเกิน หิ้วไปไหนก็เท่ ยิ่งเป็นภาษาต่างประเทศ คนก็จะแปลกใจ


การพิมพ์ดีด เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำงาน หมายว่าก่อนหน้า จะต้องเรียบเรียงความคิดออกเป็นคำพูดให้เรียบร้อย แก้ไข ขัดเกลา ภาษาจนมั่นใจแล้ว จึงจะพิมพ์ได้ เพราะหากพิมพ์แล้วจะแก้ไขยากมาก หากมีรอยแก้ตัวพิมพ์ ก็จะถูก “ดุ” เสมอ “คิดอ่านให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยพิมพ์” อาจารย์โบราณ “ดุ” จนกลัวจะเข้าใกล้ ทุกวันนี้ หากนึกสนุกวันไหน ก็ยังเอามาพิมพ์เล่น ให้คิดหวนถึงวันเก่าก่อน


พิมพ์ดีดสอนให้ระวังความคิด การคิดอ่าน ด้วยว่าพูดเอ่ยไปแล้ว จะแก้ไขอะไรก็ทำได้ยาก การอยู่ในโลกสื่อสารฉับพลันทันทีอย่างเดี๋ยวนี้ ทำให้เราเหนื่อย เพราะคิดอ่านอะไรไม่ค่อยจะระวังกันสักเท่าไร #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.ruenbangramat.com



16 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page