top of page

ตำรับตำรา (๑)





ตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับหนังสือ คำ “ตำรับตำรา” ผุดขึ้นทันใด ภาษาต่างๆ ที่พูดกันอยู่ในเอเชียอาคเนย์นั้น บางคำ บอกยากเหลือเกินว่า คำใดมาจากภาษาใด เพราะใช้เนื่องกันไปไปมาในกลุ่มคนภาษา มอญ-เขมร และตระกูลไท นี่ยังไม่ได้พูดถึงคำยืมภาษาบาลี สันสกฤตอีก ซึ่งสังเกตค่อนข้างง่ายกว่า คำเขมร คำที่มีสระ ำ แทรกกลาง มักมีต้นคำจาก เขมร “ตำรับ” เมื่อถอด ำ ออก ได้ “ตรับ” เราคงจะคุ้นกับคำว่า สดับตรับฟัง “สดับ” นี้ เป็นคำเขมร หมายว่า ‘ฟัง’ ส่วน “ตรับ” แท้แล้วแปลว่า ‘เลียนแบบ’ คงหมายว่า ‘ฟังแล้วจำไปทำตาม’ เอามาพ่วงกับ “ฟัง” ในคำไทย หากคำ “ตรับ” นี้ อยู่กับคำว่า “ตรอง” ว่า “ตรองตรับ” จะหมายว่า “คิดรอบคอบ” ส่วน “ตำรา” หากถอด ำ ออก ได้คำว่า “ตรา” คือ ’หมายไว้’ ในภาษาต้นทาง การแทรก ำ เป็นการทำให้เป็น คำนาม “ตำรับตำรา” น่าจะหมายว่า ‘การจำแล้วนำมาเขียน’


ในยุคสมัยที่ยังไม่มีการสื่อสารออนไลน์และการเดินทางไม่สะดวกเช่นทุกวันนี้ หนังสือและตำรา เป็นความบันเทิง ที่ไม่แพงนัก หนังสือ เป็นอีกโลกหนึ่งที่เราท่องไป โดยเฉพาะหนังสือต่างประเทศ ช่างน่าตื่นตาตื่นใจไปเสียหมด ส่วน “ตำรา” เป็นโลกที่เดินเข้าไปเพื่อเพิ่มพูนความรู้ หากเป็นตอนมัธยม ย่านวังบูรพา และ เวิ้งนาครเขษม มีร้านหนังสือมากมาย ทั้ง รวมสาส์น แพร่พิทยา เขษมบรรณกิจ และโอเดียนสโตร์ ฯลฯ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย หนังสืออ่านจะเปลี่ยนไป กลายเป็น วรรณกรรมจริงจัง ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร้านหนังสือมือสองย่านพร้อมพงษ์และถนนข้าวสาร จะเป็นแหล่งปัญญาหลัก


เมื่อก้าวสู่วงการสอนหนังสือ ร้าน เอเชียบุคส์ เป็นแหล่งปัญญาหลัก ค่าใช้จ่ายสำหรับหนังสือเพิ่มมากขึ้น หนังสือสวยขึ้น หนาขึ้น หัวข้อต่างๆ หลากหลายขึ้น ตามความซับซ้อนทางวิชาชีพ ด้วยต้องสอนระดับสูง ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สยามและเอเชียอาคเนย์ หนังสือเล่มหนาๆ เริ่มมากขึ้นบนชั้น เนื้อหาซับซ้อนหลากหลายทำให้เราเริ่มสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น หนังสือเล่มโตๆ เรื่องการแต่งบ้าน ต้นไม้ อาหาร เครื่องเทศ จึงมีเพิ่มขึ้น


ทุกครั้งที่ก้าวเข้ามุมทำงาน จะมองชั้นวางด้วยความรัก ความภูมิใจ ที่เก็บสะสมมา และได้ใช้เป็นฐานความรู้ในการสอนหนังสือ

5 views0 comments

Comentários


bottom of page