top of page

บางกอกน้อย (๑) : อาณาบริเวณ


เอ่ยชื่อ “บางกอกน้อย” คงทำให้ใครหลายคนนึกถึงบรรยากาศริมน้ำอันสงบ เรียบง่าย พลอยนึกถึง แม่อัง (ศุมาลิน) ตัวละครเอกในวรรณกรรมเรื่อง คู่กรรม ของทมยันตี จริงๆ แล้ว บางกอกน้อยอยู่ที่ไหน คงไม่ใช่เพียงแค่ คลองบางกอกน้อย หากเปิดดู แผนที่ในกูเกิล จะเห็นว่า บางกอกน้อยด้านแม่น้ำเจ้าพระยากึ่งกลาง กินพื้่นที่ลงไปถึงปากคลองมอญ ข้ามคลองมอญไป คือ บางกอกใหญ่ อีกฟากหนึ่ง จรดคลองชักพระ ข้ามคลองชักพระไปคือ ตลิ่งชัน ซีกสุดท้ายคือแนวถนนพระปิ่นเกล้า ด้านวัดดุสิตาราม ลงไปถึงสถานีขนส่งสายใต้เดิม จำได้ดีว่าเมื่อเรียนชั้นประถมต้น ต้องหัดเขียนจดหมาย จ่าหน้าซอง พ่อ สอนให้เขียนที่อยู่ ราว ๔๐ ปีกว่าแล้ว “ต. บางยี่ขัน อ.บางกอกน้อย” ใช่ ฉันเป็นคนบางกอกน้อยแต่เดิมมา วันหนึ่ง อยู่ๆ ก็ “พลัด” ไปอยู่ “บางพลัด” ซึ่งเคยเป็น ตำบลหนึ่งของบางกอกน้อย ต่อมายกขึ้นเป็น อำเภอ แล้วรวมเอา ต. บางบำหรุ ต. บางยี่ขัน และบางอ้อ ไปไว้ด้วย พ่อ ไม่ชอบเลย เพราะคุ้นเคย กับบางกอกน้อยมาแต่ไหนแต่ไร


ทุกวันนี้ ย้ายกลับมาอยู่ บางกอกน้อย ได้ ๑๐ กว่าปี แถวริมคลองชักพระ ใน ต. บางขุนนนท์ รู้สึกอยู่ถูกที่ถูกทาง เพราะชอบอยู่ริมคลองเป็นทุนเดิม ความทรงจำอันเกี่ยวแก่ “บางกอกน้อย” คือ สวนผลไม้นานา ที่โดดเด่นคือ ทุเรียน พื้นที่บ้าน แต่เดิมก็เป็นสวนทุเรียน ตอนแม่แต่งงานย้ายมาอยู่ที่นี่ ยังมีทุเรียนให้เห็นอยู่บ้าง มะม่วง มะไฟ มะเฟือง มีอยู่ดาดดื่น กินทิ้งกินขว้าง ก็ยังเหลือ จากตึกโรงเรียน สูงเพียง ๖ ชั้น มองไปทางไหน ก็ เขียว สุดลูกหูลูกตา ไม่มีตึกสูง เข้าปลายปี อากาศเย็นหมอกลงเรี่ยยอดไม้ เด็กๆ ต้องใส่เสื้อกันหนาวกันเสียสิ้น


ปากตรอก “พระยารถไฟวรพงษ์” ซึ่งก็สงสัยอยู่มากว่า “ทำไม” จึ่งมีคำ “รถไฟ” ต่อเติบใหญ่ เลยได้รู้ว่าถนนในซอย แต่เดิมเป็นทางรถไฟ สายบางยี่ขัน - บางบัวทอง เป็นรถไฟเอกชน พระยาวรพงษ์ท่านลงทุนสร้าง ใช้ขนส่ง ผลหมากรากไม้จากสวนเมืองนนทบุรี บางกรวย บางบำหรุ มาออกแม่น้ำที่ บางยี่ขัน ชั่วแต่ว่าเกิดไม่ทัน อาศัยคนเก่าแก่ในสวนเคยเล่าให้ฟัง รถไฟทุลักทุเล วิ่งปุเลงปุเลงเต็มทน สุดท้าย ทุนหายกำไรหด ก็เลิกไป


ปากตรอกเมื่อถึงหน้าทุเรียน จำได้ว่าแม่ค้าจะใส่กระจาด วางเรียงๆ กันเป็นแถวยาว ร้านใครร้านมัน หากเป็นหน้าร้าน พอมีที่แขวน จะแขวนทุเรียนเข้ากับสาแหรกหวาย “แพง” ใช่ทุเรียนที่มีราคาจะแขวนอวดกัน สมัยนั้น หมองทอง เป็นของแพง ถัดมาก็ ก้านยาว กำปั่น ส่วน ชนี กบ กระดุม ถือเป็นทุเรียนรอง มาวันนี้ พวกสายรอง กลายเป็นของหายาก ราคาแพงลิ่ว กินเข้าไป ก็ไม่เห็นว่าดีสมค่าอะไร น้ำตาลทั้งนั้น เอาแต่พอประมาณ ทุเรียนอะไรๆ ก็กินอร่อยทั้งนั้น


กับข้าวกับปลา ของสดของแห้ง ย่านนี้ล้วนไม่แพง เพราะอยู่ใกล้ ศาลาน้ำร้อน ข้างสถานีรถไฟธนบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช้ามือ รถไฟจาก บ้านโป่ง นครปฐม นครไชยศรี วิ่งเข้า ผักหญ้า ส้มสูกลูกไม้ หมูไก่เป็ด เรียงรายกันอยู่ริมทางรถไฟ เด็กๆ อย่างเราก็ตื่นตา เรียกแม่ พี่เลี้ยง ให้ซื้อของกินให้ 300 - 500 จ่ายกับข้าวกินได้สัก อาทิตย์กระมัง “นี่” คงเป็นเหตุผลที่ แม่ ไม่ยอมสั่งกาแฟร้านดังเด่น แก้วละร้อยกว่าบาทกิน วันหนึ่งมีเหตุ ต้องพาแม่ไปนั่งรอที่ร้านกาแฟนี้ ใกล้มหาวิทยาลัยอันเป็นที่ทำงาน สลับสับเปลี่ยนรถ แล้วกลับมารับนาง ก็ถามว่า “ทำไมไม่สั่งมากินล่ะ ให้บัตรไ้ว้แล้ว” นางว่า “กินไม่เป็น และแพง” จึงแย้งว่า เรานั่งร้านเขา ต้องซื้อเป็นมารยาท นางแย้งว่า นี่อยู่ด้านนอก ไม่ได้นั่งในร้าน เขาไม่ได้เดินมาเร่ง มาไล่ และตรงนี้อยูในเขตมหาวิทยาลัย นั่งได้ไม่เสียเงิน ขี้เกียจจะเถียงด้วย แต่ก็รู้ว่านางเสียดายเงิน และกินของสมัยใหม่ไม่เป็น


สถานีรถไฟธนบุรีนี้ สุดที่ริมแม่น้ำ ของสดต่างๆ มาลงที่นี่ แล้วลงเรือหางยาวต่อไปตลาดท่าช้าง ท่าเตียน ยอดพิมาน คนฝั่งพระนครจะจ่ายของกันที่ท่าช้าง ท่าเตียนกันโดยมาก สายหน่อยตลาดวาย แม่ค้าแม่ขายจับรถไฟกลับเมือง นครไชยศรี บ้านโป่ง โพธาราม #บางกอกน้อย #อยู่อย่างไทย #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com



12 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page