top of page

บางกอกน้อย (๓) : ศิริราช วัดระฆัง ตรอกมะตูม


จะกี่วันเดือนปี ผ่านไป ดูเหมือน บางกอกน้อย จะไม่เปลี่ยนตาม อาจทันสมัยขึ้นตามกาล ก็เล็กๆ น้อยๆ ไม่โอ่อ่า เท่าฝั่งพระนคร ศิริราชพยาบาล คือ ความภูมิใจ ของชาวบางกอกน้อย สมัยก่อนที่ยังไม่มีโรงพยาบาลเอกชนมากเท่าปัจจุบัน เจ็บไข้ได้ป่วย อะไร ก็ต้องมา ศิริราช โรงเรียนแพทย์อันดับหนึ่งของสยามประเทศ พ่อ เป็นคนหนึ่ง ที่รัก มั่นใจ โรงพยาบาลศิริราชมาก ไม่เคยเบื่อที่ต้องนั่งรอนานๆ ครึ่งค่อนวัน เมื่อหาหมอ รับหยูกยา เสร็จสรรพ ก็จะเดินไปตึกมหิดลบำเพ็ญ ทำบุญกับ ศิริราชมูลนิธิ เสมอ


อย่างที่เอ่ยไว้ในตอนก่อนหน้า แนวทางรถไฟตั้งแต่ศาลาน้ำร้อนลงไป จนถึงสถานีธนบุรีในปัจจุบัน (สมัยก่อนเรียกตำแหน่งที่ตั้งนี้ว่า สถานีบางกอกน้อย) จะไม่มีใครเฉียดกรายไปทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะมีพวกขี้ยาฟันเหลือง มั่งสุมอยู่ตามโบกี้ร้าง แต่พ่อก็มักจะไปไหว้หลวงพ่อโบสถ์น้อยทุกครั้งไป และอาจเลยไปถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม ข้างสถานีตำรวจรถไฟด้วย พ่อบอกว่า เงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน ข้างๆ มีตรอกเดินย้อนลัดไปบ้านขมิ้นได้ เจอวัดวิเศษการพอดี สมัยก่อนที่คนยังนิยมเที่ยวคาเฟ่ ก็มักจะมากินข้าวรอบดึกค่ำที่ตลาดหน้าวัดวิเศษนี่ ตรงข้างวัดวิเศษการนี้ มีสะพานโค้งข้ามคลอง ประมาณได้ว่า สมัยก่อน คงเป็นสะพานในสวน ตอนยังไม่ตัดถนน ทุกครั้งที่ผ่านสะพานนี้ จะลอบมองเสมอ อ่านข้อความบนป้ายได้ว่า “นายอู๊ด ช่างหล่อ ยี่ห้อฮั๊วอัน” คงเป็นร้านหล่อพระ ทั้งคิดเพ้อเอาว่าสมัยก่อนคงงามทีเดียว ทั้งสวน ทั้งคลองและวัด


ไม่ไกลจากวัดวิเศษการ เดินไปทางตรอกวังหลัง ก็จะถึงวัดระฆังโฆษิตาราม หรือโบราณเรียก วัดบางหว้าใหญ่ แน่นอนคงไม่พลาดเข้าไปกราบสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี และชมเรือนไทย คนแถวนี้ ส่วนใหญ่รู้จักคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ กันดี ท่านเป็นผู้ริเริ่มกิจการเดินเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยยังไม่มีเรือเครื่องมาก ก็รับส่งกันด้วยเรือแจว แล้วพัฒนาทันยุคสมัยขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนมักจะข้ามเราจากท่าวัดระฆัง ไปท่าพระจันทร์มากกว่า เพราะคนน้อยกว่าท่าศิริราช ให้น้อยกว่านั้นไปข้ามท่ารถไฟ ค่ำๆ คนจุดตะเกียงแขวนวอมแวมให้เห็นทางเดินไปต่อรถสองแถวเข้าบางขุนศรี บางขุนนนท์ แต่ก่อนก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะคนก็เดินกัน หากแต่มองกลับไป สมัยก่อนคนธนบุรีนี่ลำบากกันจริง จะให้ทันสมัยอย่างฝั่งพระนครนั้น ไม่มีเลย


แถวปากตรอกวัดระฆังนั้น มีร้านกับข้าว ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวเรียงรายมากมาย ใครใคร่นั่งกิน นั่ง ใคร่ซื้อกลับ รอ! ถนนหน้าวัดระฆังสมัยก่อน ดูออกจะแคบ ทำไม จึ่งกว้างขึ้นได้ขนาดนี้ ข้ามถนนไป ฝั่งบ้านช่างหล่อ จะมีตรอกเล็กๆ ปากตรอกเต็มไปด้วยขนมหวาน ขนมไทย สีสันสวยสด หน้าร้านเรียงมะตูมเชื่อมเป็นถุงๆ เหนือถุงก็มีมะตูมแห้งแขวนไว้ สมัยก่อน ชาวบ้านมักซื้อน้ำผลไม้ใส่ถ้วยแก้ว แก้วละ 2 บาท ยืนดูดปรูดๆ แล้ว วาง เดินจากไป น้ำมะตูมสดชื่นแท้ เมื่อเข้าหน้าร้อน เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีใครทำ แถว ถ.ชักพระ มีใส่ขวดน้อยหนึ่ง ขายตั้ง 20 บาท นานๆ ก็ซื้อกินแก้อยาก แต่ก็ไม่ชอบนัก เพราะหวานเกินไป “มะตูม” นี้เป็นผลไม้วิเศษ เป็นเครื่องบูชาพระศิวะ ใบมะตูม มี 3 แฉก ก็คล้ายอาวุธของพระศิวะ พราหมณ์ถือเป็นของมงคล มะตูมแห้ง ก่อนชง ให้ผิงไฟก่อน ชงดื่มเป็นชา พระท่านดื่มน้ำมะตูม นัยว่าช่วยลดกำหนัด เดี๋ยวนี้ มะตูมเชื่อมใช้ทำเค้กกันมาก สุดแต่ฝีมือ บางร้านอร่อย เพราะกินแล้วยังได้รสมะตูม บางร้านก็หวานน้ำตาลเชื่อมอย่างเดียว ไร้รสมะตูม ร้านเดียวที่แวะไป คือตรงต้นมะขามใหญ่ ในตรอกมะตูม ซึ่งยังคงใช้เตาฟืนต้มน้ำเชื่อมมะตูม ทั้งช่วยให้กลิ่นหอม ไม่เหม็นแกส #บางกอกน้อย #อยู่อย่างไทย #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com



17 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page