top of page

บางกอกน้อย (๔) : บางขุนนนท์


“บาง” เป็นคำเรียกถิ่นฐานที่ตั้งริมคลอง หรือ แม่น้ำกว้างแคบใหญ่โต คงขึ้นกับครัวเรือนใน “บาง” นั้น “บางขุนนนท์” เหตุใดชื่อ ขุนนนท์ และเกี่ยวดองอย่างไรกับ ขุนศรี ตำบลหนแห่งที่ติดกัน “บางขุนศรี” ทั้งคำ นนท และ ศรี ล้วนเป็นคำที่มีความหมายดี นนท หมายว่า ยินดี มีสุข ส่วน ศรี หมายว่า สง่างาม “ขุน” หมายถึง ตำแหน่งขุนนาง ที่สูงกว่า หมื่น ตำแหน่งขุนนนท์และขุนศรี น่าจะเป็นตำแหน่งขุนนาง แต่ครั้งกรุงเก่าก็เป็นได้


“บางขุนนนท์” นั้น น่ายินดี สมชื่อแล้ว ทุกครั้งที่ขับรถจากบ้านใหญ่ที่บางยี่ขัน มาตามถนนจรัลสนิทวงศ์ พอข้ามสะพานคลองบางกอกน้อย ก่อนเลี้ยวขวาเข้าบางขุนนนท์ จะรู้สึกถึงความเรียบง่าย กันเอง น่ายินดี หากรถติดอยู่บนสะพาน ก็มักลอบมองไปทางปากคลองบางกอกน้อย หน้าวัดทอง ยังมีเรือขนทราย จอดเรียงราย บางวัน เรือขนทรายพวกนี้ ก็ผ่านหน้าเรือน ริมคลองชักพระ ชั่วแต่ว่าไม่บ่อยนัก เพราะต้องรอเวลาชักบานประตูน้ำ


ถ. บางขุนนนท์นี้ แต่เดิม ชื่อ ถ. บางกอกน้อย - ตลิ่งชัน เพราะ ถนนไปสุดแค่คลองชักพระ สมัยโบราณก่อนจะมี สะพานคลองชักพระ ปี ๒๕๐๗ หากจะข้ามฟากไปตลิ่งชัน ต้องลงเรือแจวเท่านั้น และชื่อ ถ. บางกอกน้อย - ตลิ่งชัน ยังปรากฏอยู่ในโฉนดที่ดิน นับแต่เช้าตรู่ ร้านกับข้าว ของสด ก็เริ่มเปิด เพราะมีโรงเรียนอยู่แถวนี้มาก เด็กๆ ต้องกินข้าว หน่วยงานราชการก็มี อาทิ ที่ทำการอำเภอเดิมในตรอกวัดทอง ฝั่งตรงข้าม อยากกินอะไร ก็เลือกเอาตาม ๒ ข้างทางเรื่อยไป ราคาไม่แพง เพราะ “กำลังซื้อ” คนย่านนี้ ไม่มากนัก ทั้งยังชอบหุงต้มกันเอง อะไรที่มันแพงนัก ก็ทำกินเองเสียก็ได้ ก่อนเที่ยง ปากทางมีร้านแกงหม้อใหญ่ แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย ต้มยำขาหมู แพนง อร่อย เห็นได้ไม่ยาก เพราะมีหม้ออลูมิเนียมใบเขื่อง วางเรียงกัน “ร้านแกงหม้อใหญ่” ขายข้าวแกงไม่เอาเปรียบคนกิน ช่วงไหนของแพง ขึ้นราคาหน่อยหนึ่งและบอกลูกค้าลูกขายตลอด ผิดกับบางร้าน ขึ้นราคาอย่างน่าเกลียด แกงถุงหนึ่ง นับหมูได้ ๖ เสี้ยว ซ้ำยังหวานราวกับเชื่อมกะทิ


“ก๋วยเตี๋ยว” มีอยู่หลายร้าน แล้วแต่จะชอบรสมือใคร ส่วนตัวจะชอบร้าน “เฮียเป็ด” ใน ซ.ริมคลองชักพระ หอมสมุนไพร และพริกคั่วป่น ร้านดั้งเดิมที่ย้ายขึ้นมาจากคลองคือ ก๋วยเตี๋ยวตำลึงเชิงสะพานข้ามคลองชักพระ ทว่าไม่ได้แวะกินนานมากแล้ว ก่อนถึงร้านก๋วยเตี๋ยวตำลึง มีเพิงเล็กๆ ขายขนมเบื้องอย่างดั้งเดิม ใช้แป้งถั่วเขียว ละเลงด้วยน้ำตาลมะพร้าว ไข่แดง ไส้หวาน เค็มสุดแต่จะชอบ เป็นลูกหลานยายสิน ซึ่งเคยพายเรือขายในคลองชักพระเมื่อ ๔๐ - ๕๐ ปีที่แล้ว ยังทันสมัยปลายๆ ที่ยายสินขาย ขนมเบื้องยาย แผ่นใหญ่เท่ากะทะที่ละเลง ใช้เตาถ่าน อยากกินต้องรอ ! เพราะ เร่งความร้อนมากไม่ได้ แป้งจะไหม้คากะทะ โบราณว่า ละเลงขนมเบื้อง นั้นทำยาก จึ่งว่า ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก นั้นง่าย คือ ดีแต่พูด ไม่เคยทำจริง


ย่ำค่ำ ปากทาง “บางขุนนนท์” คึกคักเสมอมา ด้วยเป็นป้ายต่อรถ ใครจะเข้าถนนบางขุนนนท์ ยังต้องใช้รถสองแถว ก่อนเข้าบ้าน หาซื้อกับข้าว ขนม กันเสียหน่อยก่อน ขนมไทย น้ำเต้าหู้ เต้าฮวย กล้วยหักมุกย่างไฟ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด ราดหน้า มีหมด เอาเป็นว่าอย่าเสียเวลาทำเอง ซื้อกินสุดแสนสะดวก ไม่ช้านาน ค่ำกว่านี้ ก็ขายหมด “บางขุนนนท์” ค่อยเงียบลงอีกคราว ไฟร้านค้า ค่อยดับลง เหลือเพียงไฟส่องทาง


ย่ำรุ่ง “บางขุนนนท์” ก็เริ่มตื่นฟื้นอีกครั้ง วนเช่นนี้ไป #บางกอกน้อย #อยู่อย่างไทย #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com


29 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page