top of page

บางกอกน้อย (๙) : หลวงพ่อโบสถ์น้อย


ในย่านศิริราช แทบทุกคนรู้จักสะพานอรุณอมรินทร์ แต่หากถามว่ารู้จักวัดอมรินทราราม (วรวิหาร) ไหม หลายคนมักเลิกคิ้ว สงสัย อยู่ตรงไหน ถามใหม่ รู้จักหลวงพ่อโบสถ์น้อย ไหม แทบทุกคน พยักหน้า ยิ้มออกทันที และมักเรียก วัดหลวงพ่อโบสถ์น้อย ซึ่งเป็นชื่อลำลอง แต่เดิมวัดนี้ เรียกขานกัน วัดบางหว้าน้อย หันหน้าออกคลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า คู่กับวัดบางหว้าใหญ่ หรือวัดระฆังโฆษิตาราม ซึ่งหันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นคลองลัดบางกอกเดิม


วัดอมรินทรฯ นี้ เป็นวัดที่น่าเห็นใจนักหนา เพราะพื้นที่ถูก ตัด แยก ออกเป็นหลายส่วน ตามความเจริญที่รุกคืบเข้ามา แต่เดิมธรณีสงฆ์น่าจะไปจรดริมคลองบางกอกน้อย ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ ที่ปากคลองบางกอกน้อย จึงต้องตัดผ่านอาณาวัด มีเรื่องเล่าปาฏิหาริย์เกี่ยวแก่หลวงพ่อโบสถ์น้อยมากมาย แต่ก็ไม่รู้แท้ว่ามีมูลมากน้อยเพียงใด หากดูจากพื้นที่ ทางรถไฟก็ตัดผ่านจริง แต่ไม่น่าถึงตัวพระวิหาร อีกข้อหนึ่ง วัดในย่านบางกอกน้อย นับแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา ไม่นิยมสร้างโบสถ์วิหารใหญ่โต เพราะบางกอกเป็นเพียงเมืองหน้าด่าน เก็บภาษีอย่างที่เรียกว่า ขนอน หรือ transit tax เงินทองสพัดจึ่งเรียก ธนบุรี “ธน” นั้นก็คือ เงินทอง นั่นเอง


ต่อมา เมื่อมีการสร้างสะพานอรุณอัมรินทร์ เขต สังฆาวาส ก็ถูก แยก แบ่ง ตัด ออกไปอยู่ปีกขวา เพราะ มีการสร้างทางลงสะพานไปตลาดศาลาน้ำร้อน อันเป็นตลาดสด ยามเช้าที่คึกคักมากในวันวาน สัก ๔๐ ปีก่อน ศาลาน้ำร้อน โบสถ์น้อย ศิริราช ขายของกัน วันยันค่ำ เพราะมีผู้คนมาขึ้นลงรถไฟ ต่อรถ ลงเรือ กันมาก เจ้าหน้าที่ พยาบาล หมอ ก็อาศัยซื้อหาของกินกันแถวนี้ ใต้สะพานอรุณอมรินทร์เคยเป็นตลาดของสดใหญ่โต เดี๋ยวนี้ก็ยังมี แต่ย่อมลงไปมาก วิหารหลวงพ่อโบสถ์น้อย จะเปิดตั้งแต่ ตี ๕ รอบๆ มีคนขายปลาปล่อย ผักหญ้า อะไรต่อมิอะไรมากมาย แน่นอน คงดูไม่สอาดนัก แต่นั่นก็คือชีวิตชาวบ้าน อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ คือ การบนบาน หลวงพ่อโบสถ์น้อย ท่านเป็นที่พึ่งให้แก่คนในย่านบ้านบุ บ้านเนิน บ้านช่างหล่อ มาตลอด ใครได้สมใจ ก็แก้บนกันด้วยไข่ต้ม ถวายแล้ว ลาขึ้น คนยากจนแถวนั้นก็พลอยได้ของกินไป


มาจนวันนี้ สถานีรถไฟธนบุรีเดิม กลายเป็นพื้นที่โรงพยาบาลศิริราชอันสง่างาม อาณารอบข้างก็สอาดสอ้านไปด้วย รอบวิหารหลวงพ่อ ไม่มีของระเกะระกะ ผู้คนในย่านถิ่นนั้น ยังคงแวะเวียนไปไหว้หลวงพ่อ เหมือนท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ที่รักกันมานาน #บางกอกน้อย #อยู่อย่างไทย #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com



15 views0 comments

Comments


bottom of page