top of page

ประตู (๒) /๒


ตุลาคมปี ๒๕๕๘ ขณะอายุได้ ๔๓ ปี นับว่าก้าวพ้นธรณีประตูเลข ๔ แล้ว ได้เดินทางไปเยี่ยมเพื่อนรุ่นพี่ ซึ่งรับราชการ เป็นอัครราชทูต ประจำกรุงปารีส เพื่อหย่อนใจ หลังจากรับมือกับเรื่องหนักๆ มาตลอด


“พี่อยากให้ลงไปพูดเรื่องการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศที่ Marseille แถบนั้น มีคนไทยสอนภาษาไทยอยู่ ไปไหม” ไม่ปฏิเสธ เพราะไม่เคยลงไปทางใต้เลย ใฝ่ฝันมานานว่าจะไปเที่ยวแถบ Provence การลงไปบรรยายคราวนั้น นับเป็นการเบิกทางเรื่องการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศในต่างแดนเรื่อยมาจนปัจจุบัน ปีต่อมา ได้กลับไปที่ Provence เพื่อบรรยายอีกครั้ง ถัดจากนั้น โรงเรียนสอนภาษาไทยใน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็เชิญต่อเนื่องกัน เยอรมนีก็เชิญในลำดับต่อมา การเดินทางทุกครั้ง คือ การเปิดหูเปิดตาสู่โลกกว้าง ทำให้เราได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ได้รู้ว่ามีอะไรมากกว่าการเรียนหนังสือ


มานั่งคิดดู ประสบการณ์สอนภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติก็ไม่น้อย “เขียนตำราดีกว่า” รวบรวมประสบการณ์ทั้งหมดมาร้อยเรียง ด้วยเป็นผู้สอนหลักทางไวยากรณ์ไทย จึงเขียนเรื่องนี้ และเขียนเป็นภาษาอังกฤษ! ที่สุด ก่อนอายุครบ ๔๘ ปี ตำรา A Handbook of Thai Langauage ก็ปรากฎออกมา โดยได้รับเกียรติจากหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการจัดพิมพ์ให้ในโครงการ ภาษาอาเซียน ยิ่งเป็นเกียรติกว่านั้น เพราะผู้อ่านวิจารณ์ตำราเล่มนี้ คือ ศาสตรจารย์ผู้ใหญ่ ซึ่งเข้มงวดมาก “เขาส่งมาให้ครูอ่าน ครูอ่านจริง วิจารณ์จริงนะคะ” ข้อความสั้นๆ ในบันทึกข้อความที่แนบมาพร้อมกันร่างตำรา “เนื้อหาดี สมควรตีพิมพ์เผยแพร่” เป็นกำลังใจในการทำงานมาจนทุกวันนี้


มานั่งทบทวนดู ความทุกข์ยาก สาหัส มันไม่เป็นโทษต่อเราเสมอไป หากเรามองมันอย่างกลางๆ ทุกคนย่อมต้องเจอเรื่องหนักๆ แตกต่างกันไปตามกรรมของตัว เมื่อเราผ่านมันมาได้ มันก็แค่นั้น มันทำอะไรเราไม่ได้มากกว่า “ทุกข์” และเมื่อเจอ “สุข” เราก็จะระวังตัว ไม่ประมาท เช่นกัน “สุข” ก็แค่นั้น หากเราไม่เคยเจอ “ทุกข์” เราจะไม่รู้ว่า “สุข” เป็นอย่างไร #เบี้ยบ้ายรายทาง #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com



19 views0 comments

Comments


bottom of page