top of page

ภาษาชวนคุย (๒) : ดัง ดั่ง เผื่อ เพ่ือ



เมื่อวานสอนหนังสือทางไกล ลูกศิษย์เป็นเด็กไทย เติบโตในต่างประเทศ กำลังเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ สอนกันมาหลายปี ทุกครั้งที่กลับมาเยี่ยมบ้าน ก็จะเรียนภาษาไทย เพื่อเตรียมตัวทำงานในอนาคต เลือกเรื่องเกี่ยวกับ ชนกลุ่มน้อย บริเวณชายแดนไทย พม่า ให้อ่าน เธอว่า เข้ากับเรื่องที่เธอกำลังเรียนอยู่ คือ digital migration ฟังแล้ว “ตามไม่ทัน” วิชาการสมัยใหม่ ก้าวไปเร็วมาก


ด้วยความที่บทความที่เลือกให้อ่าน มีลักษณะความ (texttype)แบบสารคดี ซึ่งมีการใช้ภาษาหลายแบบ ทั้ง การเล่าเรื่อง (narrative) คำสัมภาษณ์ (interview) การบรรยาย (descriptive) และการแสดงอารมณ์ (expressive) คำ รูปประโยคที่ใช้จึงหลากหลายมาก มาถึง ท่อนหนึ่ง


“... เป็นเหตุให้คนกะเหรี่ยง พุทธ - คริสตื เข่นฆ่ากันเอง จนทำให้ปี ๒๕๓๘ KNU สูญเสียฐานบัญชาการใหญ่ “มาเนอปลอว์” ที่เป็นดั่ง ‘เมืองหลวง’ และศูนย์รวมหัวใจ “คนกะเหรี่ยง”


“… เป็นความยากลำบากที่ต้องตัดสินใจ สิ่งที่ทุ่มเทไม่เป็นดังหวัง ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังก็แทบสลาย”


ในความ ๒ ตอนด้านบนมี คำ ดั่ง และ ดัง ซึ่งมีความหมายคล้ายกัน ใช้ในการเปรียบ อาจแทนด้วยคำ “เหมือน” ก็ได้ คำถามจากลูกศิษย์


“แล้วการเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์จาก สามัญ เป็น เอก เกิดขึ้นได้อย่างไร คือ ดัง เป็น ดั่ง หรือจะ ดั่ง เป็น ดัง ก็ตามที่


เป็นคำถามที่ท้าทายและอยากตอบมาก ก่อนอื่น ต้องพิจารณาว่า ดัง และ ดั่ง เป็นคำอะไร


ดั่ง เมืองหลวง ดั่งควรเป็นคำ preposition เพราะตามด้วย คำนาม ส่วน ดัง ตามด้วยกริยา หวัง ควรเป็น คำ conjunction ในภาษาไทย คำหนึ่งอาจเป็นได้ทั้ง preposition หรือ conjunction แล้วแต่ว่าตามด้วย คำ หรือ ประโยค (กริยา แทน ประโยค) คำถามต่อมา


เมื่อไรใช้ ดั่ง เมื่อไรใช้ ดัง ?


ตอบไปว่า ดั่ง มักใช้ในภาษาสวยงาม (literary text) ส่วน ดังใช้ในภาษา ทั่วไป ส่วนตัว คิดว่า ขนบโคลงสี่สุภาพ อาจมีส่วนทำให้เกิด คำ ดั่ง เพราะมีการบังคับ ใช้คำ เอก โท (่ ้) พอเกิด มี ดั่ง ขณะที่ ดัง ก็มีอยู่ ผู้ใช้ภาษาจึงพยายาม “มอบ” ความหมายประจำคำให้


อีก กรณีหนึ่งที่ยกขึ้นมา คือคำ เผื่อ เพื่อ ในการสอนภาษา มักได้รับคำถามเสมอว่า ๒ คำนี้ มีความหมายต่างกันอย่างไร ใช้อย่างไร สอนแบบเร็วๆ ไม่มีเวลามาก จะแปล เผื่อ หมายว่า just in case ส่วนเพื่อคือ for


หากพอมีเวลา จะแจงละเอียด โดยเฉพาะลูกศิษย์ต่างประเทศที่ชอบเจาะลึก ลองดู อักษรไทยดังต่อไป : ผ พ ภ อักษรทั้ง ๓ ตัวนี้ แทนเสียง /ph/ ทั้งสิ้น เพียงแต่ในระบบภาษาไทย กำหนดให้ พยัญชนะในแถวลงที่ ๒ มีเสียงจัตวาในตัว เรียกอย่างทันสมัยคือ “2 in 1” ผ เมื่อกำกับด้วยไม้เอก ่ ออกเสียงวรรณยุกต์เอก ส่วน พ และ ภ เมื่อกำกับด้วยไม้เอก ่ ออกเสียงวรรณยุกต์โท ลองดูประโยคต่อไปนี้


“พี่ซื้อขนมเผื่อน้อง” และ “พ่อทำงานเพื่อครอบครัว” ทั้ง เผื่อ และ เพื่อ ตามด้วยนามจึงเป็น preposition หมายว่า for


“เอาร่มไปด้วย เผื่อฝนตก”


“ฉันซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ เพื่อเขียนตำรา”


ตัวอย่างข้างต้น เผื่อ และ เพื่อ ตามด้วยประโยค จึงเป็น conjunction ทั้ง ๒ ตัวอย่าง แสดงความหมายในอนาคต ฝนยังไม่ตก ตอนนี้ และ เขียนตำรา ยังไม่ได้เริ่ม


แท้จริงแล้ว เผื่อ และ เพื่อ มีความหมายคล้ายกันมาก ในการใช้ภาษา เมื่อเกิดคำ ๒ คำขึ้น ผู้ใช้ก็จะพยายามแยกความแตกต่างออก เพื่อกันความสับสน ซึ่งถือว่าดี เมื่อเวลาผ่านไป ความแตกต่าง จะเริ่ม “คง” ตัวจนแยกความหมายได้ เผื่อ มักจะใช้เป็น “เงื่อนไข” ในอนาคต ส่วน “เพื่อ” มักจะใช้บอก “เป้าหมาย” ในอนาคต


#ภาษาชวนคุย #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com


42 views0 comments

コメント


bottom of page