top of page

ภาษาชวนคุย (๓) : สำเนียงส่อภาษา


ภาษา เป็นของสำคัญ เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร หากเราต้องไป อยู่ กิน ทำงานในถิ่นต่างวัฒนธรรม เราย่อมต้อง “รู้ภาษา” เขา นอกจากพูดให้ได้ “ความ” แล้ว ยังต้องเลือก “คำ” ให้ถูกตามกาลเทศอีกด้วย เมื่อเริ่มเรียนภาษา เรามักจะเริ่มที่ตัวอักษรที่ใช้แทนเสียงทั้ง พยัญชนะ สระ และพิเศษในภาษาไทยคือ วรรณยุกต์ เราเรียน สอน กันมาว่า มี 44 ตัว แล้วเสียงล่ะ มีกี่เสียง? ที่เราท่องจำกัน กอ ขอ คอ เป็นเสียง หรือคำ เรียก พยัญชนะ เอ.... อย่างไร เอาให้แน่


เอาล่ะ เมื่อไปค้นมา ก็จะพบว่า ในภาษาไทยมี 21 เสียงพยัญชนะ แล้วทำไมถึงต้องมีตัวพยัญชนะตั้ง 44 ตัว นี่แค่พยัญชนะต้นนะ ยังมีพยัญชนะท้าย หรือตัวสะกดอีก เห็นแค่นี้ คนเรียนแทบจะถอดใจแล้ว


เมื่อเริ่มเรียน เราจะแจงว่ามีพยัญชนะ 3 กลุ่ม สูง กลาง ตำ่ คำถามที่มักจะตามมาคือ อะไร อย่างไร เรียกว่า สูง กลาง ต่ำ ?​เราก็มักสอน “ท่องจำ” กันไปอย่างที่เป็น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ตอบข้อสงสัยของผู้เรียนว่า ทำไม?​


ในหนังสือ A Handbook of Thai Language ตั้งต้นตรงจุดนี้ คือ ทำไม?


ในชั้นเรียนชาวต่างประเทศ จะแสดงให้เห็นระบบเสียงพยัญชนะ 21 เสียงก่อน ซึ่งใช้เป็นเสียงพยัญชนะต้น จากนั้นค่อยสอนระบบตัวอักษรไทย โดยอิงแนวภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ระบบตัวอักษรที่เราใช้อยู่นี้ ภาษา เขมร ลาว พม่า ก็ใช้ ต้นทางคือระบบอักษรในภาษาสันสกฤต เรามักจะท่องจำ โดยใช้เสียง ออ เข้ามาช่วย เป็น กอ ไก่ ขอ ไข่ คอ ควาย จนลืมว่า เสียงพยัญชนะไม่ได้มี ออ !


การเรียนการสอนภาษาไทยในที่อื่นๆ ก็มักจะเริ่มที่ตัวอักษร และแบ่งหมวดเป็น 3 ทันที เริ่มที่อักษรกลาง คำถามคือ อะไรกลาง? คนส่วนใหญ่ตอบไม่ได้ ก่อนจะตอบว่าอะไรกลาง และกลางอย่างไร เรามาดู 2 กลุ่มที่เหลือก่อน คือ สูง กับ ตำ่ และต่ำยังแยกเป็น ต่ำคู่ กับ ต่ำเดี่ยว


สูง กับ ต่ำ นั้นคือ การออกเสียงสูง ต่ำ ในระดับคำ ที่เราเรียกกันว่า วรรณยุกต์ สูง คือ เสียงขึ้น ที่เราเรียกกัน เสียงจัตวา นั่นเอง ทางวิชาการเรียก (rising tone) ลองมาทำความเข้าใจกัน หากเราดูในภาพ ระบบอักษร ข้างต้น จะเห็นว่า พยัญชนะในแถวลงที่ 2 3 4 นั้น มีเสียงเดียวกันในภาษาไทย แล้วทำไม 3 ตัว มีเสียงเดียวกัน? ก็เพราะระบบอักษรนี้เป็นภาษาบาลีสันสกฤต โดย ข ค ฆ นั้น ออกเสียงต่างกัน แต่ระบบเสียงของไทยไม่แยก 3 เสียงนี้ อีกข้อหนึ่ง ในภาษาสันสกฤตไม่มีเสียงสูงตำ่ระดับคำ (วรรณยุกต์) เมื่อยืมระบบมาใช้แล้ว ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ ข้อต่างสำคัญคือ เรื่อง เสียงสูงตำ่ระดับคำ (วรรณยุกต์) ในภาษาไทย เสียงสูงต่ำนี้สามารถจำแนกความหมายด้วย


ระบบภาษาไทยจึงกำหนดไว้เลยว่า พยัญชนะแถวลงที่ 2 ทุกตัวเวลาออกเสียงให้ออกเสียง “ขึ้น” (จัตวา) ไปเลยในตัว ไม่ต้องเสียเวลามาใส่เครื่องหมาย ๋ เมื่อจะออกเสียงระนาบปกติ อย่างที่เราเรียกเสียงสามัญ ก็ให้ลดเสียง “ต่ำ” ลง และใช้พยัญชนะในแถวที่ 3 4 ลองมาออกเสียงกัน


2 3 4

ข ค ฆ


ฉ ช ฌ


ฐ ฑ ฒ


ถ ท ธ


ผ พ ภ


ห ฮ


ศ,ษ ซ


ลองออกเสียงพยัญชนะ ข - ค, ฉ - ช, ถ - ท ฯลฯ ดู จะได้ยินเสียง ขึ้น (จัตวา) และ ลง (สามัญ) เป็นคู่กัน สูง - ต่ำ แบบนี้ไปทีละคู่ ดังนั้น เห็นได้ว่า อักษรสูง และ อักษรต่ำ คือ เรื่องของเสียงวรรณยุกต์ ของพยัญชนะใน 3 แถวนี้ โดยไม่ต้องใส่เครื่องหมายใดๆ ทั้งสิ้น


เคล็ดลับในการสอนภาษาไทยคือ ในการเขียนเราพยายามใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ให้น้อยที่สุด


ในบทความต่อไป จะว่าด้วยเรื่อง กลุ่มอักษรต่ำเดี่ยว #ภาษาชวนคุย #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมๆได้ที่ www.ruenbangramat.com



19 views0 comments

Comments


bottom of page