มัก (อยู่) ง่าย (3): รสแท้ ของเดิม
- Keeratikhun Chuenchomrat
- Feb 11, 2023
- 1 min read

ในระยะที่เกิดโรคระบาดมานี้ ทั่วโลกต่างทนทุกข์ทรมาน ทว่าธรรมชาติได้พักฟื้นให้กลับงามอีกครั้ง โรคระบาดสอนให้ประมาณตน เมื่อโลกกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง บางคนรู้สึกโหยความสงบงามที่ผ่านมา ในต่างประเทศหลายคนลาออกจากงานที่ทำ เมื่อรู้ว่าจะต้องกลับเข้าไปทำงานในสถานที่ เขาคงได้เรียนรู้ความเรียบง่ายของชีวิต
ทุกวันนี้ ในต่างประเทศเกิดกระแส “real food” อย่างทั่วถึง คืออะไรกัน? หากเอ่ยเป็นไทย คงเรียก “รสแท้ ของเดิม” กล่าวอย่างง่าย คือ อาหารที่ปรุงแต่งน้อยที่สุด เน้นรสชาติของส่วนผสมที่นำมา “ปรุงทำ” ไม่ใช่ “ปรุงแต่ง” และส่วนผสมก็ไม่ผ่านกระบวนการมาก พลันเมื่อเปิดโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือ ก็จะเห็นโฆษณาชวนกินร้านต่างๆ ในรูปแบบ “รีวิว” คำ “แน่นๆ” “จุกๆ” “เยิ้มๆ” “ไม่อั้น” ได้ยินเป็นเรื่องทั่วไป เดี๋ยวนี้ “ผัดกะเพรา” ที่ไหนก็ไม่ต่างกัน เค็มนำเจือน้ำมันหอย กินอย่างนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน โรคภัยไข้เจ็บก็เข้าเยือน แล้วจะให้ทำอย่างไรในยุคเร่งรีบเช่นนี้? เป็นคำถามที่อยู่ในใจคนส่วนใหญ่ ก็เห็นด้วย และเห็นใจ !
โดยส่วนตัวก็เผชิญปัญหานี้ และอยากจัดการให้จริงจัง เริ่มจากการประมาณอาหารการกินในแต่ละมื้อ เช้ากินมากหน่อย ลดลงในมื้อกลางวัน และอาจจะงดมื้อเย็น ผลไม้ถือเป็นของวิเศษ บ้านเมืองเขตร้อน กล้วย มะละกอ มีทั้งปี ปกติไม่ชอบกินกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม และมะละกอสักเท่าไร ต่อได้ย้ายมาอยู่ในสวนบางกอกน้อย ชาวบ้านเอาผลไม้จากสวนหลังบ้านมาขาย กล้วยน้ำว้าลูกเรียวกลม ไม่หวานมากนัก กล้วยหอมหวีเล็ก ไม่ใหญ่โตอย่างขายตามห้าง “บ่มอย่างไร แม่เอ๋ย” เคยถามป้าชาวสวนท่านหนึ่งที่เอามาขาย นางว่า “เรียงใส่โอ่งดิน แล้วบ่มด้วยควันธูป ปิดฝาโอ่ง สัก 3 วันก็เริ่มเหลืองสุก” มะละกอแขกดำลูกเล็กบิดเบี้ยว แต่รสดีเหลือเกิน ยิ่งบีบมะนาวรดลงเนื้อมะละกอ ยิ่งอร่อย “ผัดกะเพรา” เมื่ออยากกิน จะตำพริกเหลือง กระเทียมไทยไว้ ผัดกับน้ำมันให้หอม ตักเก็บขึ้นไว้ใช้หลายคราว อยากกินก็เตรียมเนื้อหมูไก่ น้ำปลาดี น้ำตาลมะพร้าว ใบกะเพราสด ทำคราวหนึ่ง ให้กินได้สัก 2 - 3 มื้อ กินอยู่เท่านั้น ให้ได้รสกระเทียม พริก กะเพราะ อย่างแท้อย่างดั้งเดิม
เมื่อคราวไปเยือนเยอรมนีเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าของบ้านจะพาไปเดินเล่นเชิงเขา บนโต๊ะมีทาร์ตหัวหอม (Zwiebelkuchen) เป็น “ของอบ” กินในฤดูใบไม้ร่วง หอมใหญ่ (Zwiebel) รู้กันดีในทุกชนชาติว่าแก้หวัดชงัดนักหนา ฤดูใบไม้ร่วงคนเป็นหวัดกันมาก เนื่องด้วยความต่างอากาศเช้า บ่าย ค่ำ ทาร์ตหัวหอมจึงเป็นของกินประจำกาล พร้อมกับไวน์ใหม่ที่ออกมาในเวลาเดียวกัน บ้านเรา เข้าปลายปีสะเดาแตกยอดอ่อน วางขายทั่วไปกำละไม่กี่สตางค์บาท ลวกสักน้ำหนึ่งหรือสองน้ำ กินกับน้ำปลาหวาน แนมปลาดุก กุ้งแม่น้ำย่าง ปลาดุก ปลาสลิด ปลายปีจะมันอร่อย เพราะได้น้ำใหม่หลากมาจากทางเหนือ จะคาวน้อยกว่าฤดูอื่น ทั้งสะเดาพริกทอด หอมเจียว ก็ช่วยดับคาวอีกทางหนึ่ง สะเดาช่วยเรียกน้ำย่อย เจริญอาหาร ขับพิษ ประโยชน์สารพัด ชาวบ้านท้องที่ยังกินกันอยู่มาก ลองปรับชีวิตให้เข้ากับกาลฤดู ทำของกินง่ายๆ อย่างปรุงน้อย พักผ่อนให้พอ สุขภาพกายใจคงดีขึ้นเป็นมั่นคง #อยู่อย่างไทย #เบี้ยบ้ายรายทาง #เรือนบางระมาด
อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com
Comentarios