top of page

มัก (อยู่) ง่าย (๖) : เชื่อมือ


การเรียนภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะภาษาใดก็ตาม “มือ” เป็นสิ่งสำคัญ หมายถึงการขีดเขียน เห็นได้ชัดจากการเรียนภาษาจีนซึ่งเป็นภาษาคำ ต้องจำที่ละคำ คำพื้น จะเป็นฐานของคำยาก เมื่อยังเล็กเรียนภาษาจีนด้วยความหน่าย เพราะต้องคัดคำทุกวัน คำหนึ่งคัดหลายครั้ง จนจำได้เอง ทุกครั้งที่จรดปากกามือจะพาไปเองเมื่อต้องการเขียนคำคำหนึ่ง ภาษาเขมร ไทย ลาว ล้วนต้องหมั่นเขียน เรียนรู้อักขระวิธี การประสมอักษร และผันเสียงสูงต่ำ (ในภาษาไทย) การฝึกเขียนย่อมจำเป็นอย่างยิ่งยวด


ในระหว่างเกิดโรคระบาด การเรียนทางไกล จำเป็นนักที่ผู้เรียนต้องฝึกฝนเอง เทคโนโลยีต่างๆช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่คุณภาพน้อยลง ไม่มีทางที่เราจะได้ทุกอย่างโดยไม่เสียอย่างหนึ่งไป เด็กๆ ไม่ว่าไทยหรือเทศในยุคสมัยเจริญเทคโนโลยีสูญเสียความสามารถในการเขียนมากขึ้นเรื่อยๆ การพิมพ์ลงบนแป้นคิมพิวเตอร์ บางครั้งทำให้เราขาดความยั้งคิด เพราะเรารู้ว่าเราแก้ไขมันได้ แต่การเขียน การแก้ไขย่อมลำบากกว่ามาก แม้จะใช้ยางลบได้ แต่กระดาษจะบางลง เปื่อย ยุ่ย ขาด แม้แต่การใช้เครื่องพิมพ์ดีด ก็ยิ่งทำให้เราต้องยั้งคิด หากพิมพ์ผิด จะหวนกลับแก้คำยากเหลือเกิน ไม่แปลกใจเลย ที่การสื่อสารในยุคสมัยเจริญเทคโนฯ นี้ ผู้คนสื่อสารความคิดความอ่านด้อยลงมาก ทุกครั้งที่สอนหนังสือทางไกล จะย้ำกับนิสิตนักศึกษา “เขียน” ต้องเขียนเอง ฝึกเอง มือกับสมองจะทำงานร่วมกัน น่าเสียดายที่น้อยคนจะเชื่อเรื่องนี้ เพราะการเขียน คัดอักษร คัดคำ ต้องใช้ความเพียร


เมื่อยังเด็กไม่เคยชอบใจแม้น้อย ตอนครูบังคับคัดลายมือ ทว่ามาตอนนี้เข้าใจถ่องแท้ว่า “มือ” กับ “สมอง” ทำงานประสานกัน คิด ลากเส้นขึ้นคำ ประโยค นั่นคือการถ่ายทอดความคิดสู่การกระทำ โบราณถึงมีคำ “เชื่อมือ” #เบี้ยบ้ายรายทาง #อยู่อย่างไทย #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.ruenbangramat.com


24 views0 comments

Comments


bottom of page