top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย (๑๕) : ร่มเงาแผ่นดินพระร่วง (1)



นายศุขมารอรับที่สนามบิน ‘ชั่วอึดใจเดียวจริงๆ จากสวรรคโลก ถึง กรุงเทพมหานคร’ และ ‘ชั่วอึดใจเดียวอีกเหมือนกัน ที่จันนวลนึกถึงหนุ่มใหญ่ ไรเคราเขียวครึ้ม ช่างเขินคนนั้น’


“พี่ศุข ทางนี่ค่ะ ขอบคุณนะคะที่มารับ ไกลบ้าน เกรงใจ จริงๆ นวลเรียกแทกซี่สนามบินก็สะดวกดี”


“ไม่ได้หรอกครับ ยายอ่อน แกเอาเรื่องผมตายเลย”


รถขับเคลื่อน 4 ล้อกลางเก่ากลางใหม่ตัดข้ามกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกครั้งที่รถเลี้ยวเข้าถนนชักพระ จันนวลมักคิด และเอ่ย “พี่ศุข นี่เราอยู่ปีพุทธศักราชเท่าไร แถวนี้ จะกี่ปีกี่เดือนก็นิ่งสงัดอย่างนี้”


“อย่าเพิ่งเบื่อนะ ครับคุณหนู”


“ไม่หรอกค่ะ ที่เยอรมันก็เงียบ นวลชอบ คลอง ร่มไม้ เรือแจว ยังจำได้ สมัยไปโรงเรียน มีเรือเครื่องมารับหน้าบ้านเลย”


“ครับ คุณหนูชอบไปโรงเรียน ตอนนั้นพ่อผมไปส่ง ยังคิดถึงคุณยายนะครับ บ้านเรามีเรือยนต์ ขับกันไปเข้าคลอง บ้านไทร บางระมาด สองฝั่งมีแต่ทุเรียน มังคุด”


“เรือ ยังอยู่ไหมคะ”


“โอย พังไปนานแล้วครับ มีแต่เรือแจวครับ ผมยังแจวเข้าคลองซอยตรงข้ามไปเก็บผัก ตัดกล้วย ให้ยายอ่อนอยู่เลย มีมะม่วงพราหมณ์ และทุเรียน 7 ต้นสุดท้าย”


“โห ยังเก็บไว้ได้หรือคะ เก่งจัง”


“คลองวัดไชยทิศตรงข้ามบ้านเรา มันตัน ดีว่า สวนอยู่ต้นคลอง คุณยายท่านทำคันกันน้ำเค็มไว้ดี เพาะเม็ดทุเรียน ตอนกิ่งไว้ ตอนสวนล่ม น้ำท่วม หมดท่วมท่านก็ลงใหม่ ไม่รู้ปีนี้จะติดดอกไหม”


ถึงบ้านเอาเมื่อบ่ายอ่อน บานกระทุ้งเปิดรับลมระบายอากาศ เตรียมไว้ก่อนแล้ว แดดริมคลองหอมสอาด ส่องเนื้อไม้กระดานจนซีดแลเห็นเป็นร่องเพราะเนื้อไม้หดลงเพราะความร้อน แต่กลับ ‘หอมเนื้อไม้’ ร่องกระดานชวนให้คิดถึงสมัยก่อนที่พี่เลี้ยงมักหลอกว่าตามร่องกระดาน มือผีจะมาล้วงไส้ หากกินข้าวไม่หมด


ยายอ่อนคะยั้นคะยอให้ไปนอนเรือนคุณหอมเดิมซึ่งไม่ติดคลอง แต่จันนวลยืนยันว่าจะนอนเรือนเล็กริมคลอง นายศุขก็ต้องมานอนเฝ้าอย่างเคย


“คนไทยเรานี่ติดหวานนะคะ แม่อ่อน” จันนวลติงขึ้น ขณะดื่มน้ำข้าวตังอุ่น


“ค่ะ นิดหน่อยพอเป็นกำลัง นำ้ตาลอ้อยไม่ฟอกสี อบเชยป่นนั่น ป้าตำเอง”


จันนวลถ่ายข้อมูลภาพจากกล้องลงคอมพิวเตอร์ เริ่มวางแผนงาน ลำดับความคิด จดทุกอย่างที่ จดย่อ ไว้ ขยายรายละเอียด เริ่มเสาะหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ส่วนมากเป็นข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และความเข้าใจตามกระแสหลักเกี่ยวกับการสถาปนาอาณาจักรของคนไทย พลันคำพูดของนัยน์แว่วขึ้น


‘นวล เธอต้องก้าวข้มเรื่องนี้ไปเลย เราต้องมองให้พ้นกรอบความเป็น ชาติ มันไม่ได้เนื่องกันตามเวลา สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ อย่างในเพลงที่ร้องกัน’


‘ใช่สิ เราต้องเริ่มที่คำถาม ทำไมสุโขทัยจึงเป็นอุดมคติแห่งความสงบงาม’


“เมืองสุโขทัยนี้ดี น ณ ปากน้ำ และ ธิดา สาระยา”


“เมืองศรีสัชนาลัย ธิดา สาระยา”


เมื่อเห็นชื่อผู้แต่ง ‘อาจารย์ยังคงเป็นที่พึ่งให้เราเสมอ’


น่าเสียดายที่เป็นหนังสือเก่า มือสองอย่าได้หวัง จะมือสาม มือสี่ จันนวลก็จะขอซื้อ แต่กลับขึ้นว่า “ขายแล้ว”


จ่ายค่าบัตรเข้าชม จันนวลอุทาน “ไม่แพงเลย ทำไมถึงถูกอย่างนี้”


“พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะค่ะ เราอยากให้เด็กรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่ ทุกกลุ่ม สาขาอาชีพ เข้ามาเที่ยว ผ่านๆ ก็ยังดี ได้รู้ว่า เราเป็นมาและจะเป็นไปอย่างไร” เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ส่วนตัวจันนวลเอง ครั้งสุดท้ายที่มาเยือน “วังหน้า” พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เมื่อไร จำไม่ได้จริงๆ บ้านเมืองดูงามสอ้าน ไม่รกระเกะระกะ เหมือนสมัยก่อน ท่าพระจันทร์ วังหน้าเป็นตลาดพระ รายไปตามทางเท้า ซึ่งก็เป็นบรรยากาศอีกอย่างที่มีเสน่ห์


ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ตั้งเด่นเป็นสง่า การจัดแสงยิ่งทำให้หินสลัก ๔ ด้าน ดูโดดเด่นที่สุดในหอแสดง ๑


‘คงอยากให้เข้าใจว่าจุดเริ่มต้นของชาติไทย คือ สุโขทัย’ จันนวลคิด


หอแสดงศิลปวัตถุ ๒ อาคารมหาสุรสีหนาท ตัวอาคารทอดยาว โครงสร้างหนักแน่น คงเพราะต้องรับน้ำหนักวัตถุมาก ชวนให้คิดถึงหอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี รูปทรงอาคารคล้ายกันเหลือเกิน จันนวลเพลินชมสิ่งต่างๆ ในห้องแสดงทั้ง 3 ชั้น พลางนึก ‘เสียดาย หากตัวอาคารไม่หลบมอยู่ด้านใน คงมีคนเข้ามาชมมากกว่านี้ ศิลปะวัตถุของชาติไทย ไม่แพ้ใครจริงๆ’


ขณะที่จะเดินหอแสดง ๓ ถัดลึกเข้าไป ทางซ้ายชานระเบียงตึกมีแผ่นหินยาวสลักอักขระ ดูคล้ายบานกระจก จันนวลเดินเข้าไป จะเอื้อมมือจับให้หันมา ‘ใครเอาจารึกมาวางไว้ตรงนี้’


เสียงหนึ่งดังขึ้น ทว่าทุ้ม สุภาพ “อย่าจับนะครับ กำลังอยู่ในช่วงบูรณะอาคาร วางระเกะระกะหน่อย”

ชายสูงวัย ร่างสูงใหญ่ ผมขาวดอกเลาแซมเทาประปราย หวีเรียบสนิทจับน้ำมันแต่งผมอย่างสมัยก่อน


“ขอโทษค่ะ บังเอิญเห็นว่าตั้งขวางอยู่ หนูคิดว่าด้านในยังมีอะไรให้ชมอีก”


“ไม่เป็นไรครับ ดีที่ห้ามไว้ทัน จารึกหลักที่ ๒ เก่าแก่มาก ข้อแรก ผ่านมาหลายร้อยปี ไม่รู้มีเชื้อโรคอะไรไหม คุณเคยได้ยินเรื่องคนเข้าไปหาสมบัติฟาโรห์ในปิรามิด แล้วตายไหม นั้นไม่ใช่เพราะคำสาปอะไรหรอก แต่เพราะเมื่อเปิดโรงศพมัมมี่ออกมา เชื้อกาฬหลังแอ่นมันเข้าโจมตีทันที รายไหนรายนั้น ไม่รอด!”


จันนวลเผลอพูดภาษาเยอรมัน ออกมา “Jawohl !” ค่ะ ใช่ค่ะ นั่นล่ะ


“พูดเยอรมันด้วย แม่คุณเก่งจัง เป็นไงมาไงล่ะนี่ มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์แบบเจาะลึกอย่างนี้ คนไทยไม่ค่อยมีหรอก ฝรั่งเสียส่วนมาก”


พอได้แนะนำตัวออกไป ...


“จันนวล สวรรคโยธิน พื้นเพเป็นคนสวรรคโลกหรือ แม่หนูเกี่ยวข้องยังไงกับ พันเอก พระเดชาสวรรคโยธิน” ชายสูงวัยถาม


“หนูไม่แน่ใจว่าท่านเป็นคุณปู่หนูหรือเปล่า แต่ถ้าชื่อ พระยาสวรรครักษราชโยธา ท่านคือ คุณทวด ค่ะ ส่วนคุณพ่อหนูคือ พลโท ขวัญสรวง สวรรคโยธิน ค่ะ”


“แหม่ โลกนี้มันช่างกลมเสียจริง ผม ปราชญ์ ศรีพนมมาศ เป็นอดีตข้าราชการกรมศิลปากร นักวิชาการโบราณคดี ผมกับไอ้ ขวัญ เป็นเพื่อนเล่นกันมา ที่ถามถึง พันเอก พระเดชาสวรรคโยธิน นั่น คือ คุณปู่ของแม่หนูไงล่ะ”



“ที่เรียกกันว่า ท่านเจ้าคุณน้อย น่ะหรือคะ”


“นั่นล่ะ ถูกต้อง ไอ้ขวัญ กับ ผมนี่ เรียนโรงเรียนสวรรควิทยามาด้วยกัน ผมเกิดอยู่ที่ ลับแล อุตรดิตถ์ แต่มาเรียนที่ สวรรควิทยา แล้วก็สอบเข้า เทพศิรินทร์ด้วยกัน มากินข้าวก้นบาตรพระ แต่ไอ้ขวัญ พ่อหนูน่ะ หนีไปสอบเข้าเตรียมทหารเสียก่อน อายุมันสั้นไปหน่อย ชิงไปสบายก่อน”


“คุณพ่อ เริ่มมีอาการทางหัวใจ ตอนไปเป็นแม่ทัพภาคค่ะ คงเครียดด้วย”


จันนวลท้าวความถึงเหตุที่กลับมาเมืองไทย รวมทั้งโครงการ The World Heritage Revisited ให้ ดร. ปราชญ์ฟัง


“เรื่องสวรรคโลก สุโขทัย ก็ต้องคนสวรรคโลกทำสิน่า” ดร. ปราชญ์ หัวเราะ ยิ้มกว้างอย่างอารมณ์ดี


“จริงๆ แล้ว ทุกอย่างใกล้ตัวหนูมาก แต่หนูกลับไม่เคยมองเห็นสิ่งเหล่านี้ หนูค้นหาตำราเพื่อศึกษา ก็เป็นตำราที่ อาจารย์ของหนูเขียนไว้นานมากแล้ว”


“ชื่อ ?”


“เมืองศรีสัชนาลัย ค่ะ ดร. ธิดา สาระยา แลอีกเรื่องท่านแต่งร่วม ชื่อ เมืองสุโขทัยนี้ดี”


ดร. ปราชญ์ เดินหายเข้าไปหลังฉากไม้ฉลุโปร่ง แบบนิยมกันเมื่อสัก 50 ปีที่แล้ว พร้อมยื่นหนังสือให้ ทันทีที่จันนวลเห็นหนังสือเล่มที่เสาะหาอยู่ ก็ดีใจอย่างจะกรีดร้อง


“จำไว้อย่างนะ หนู หากเราเจอหนังสือที่เราชอบ เพราะมันดี และไม่ค่อยมีใครสนใจ จงซื้อไว้มากกว่า 1เล่มเพราะวันหนึ่ง มันจะกลายเป็นของหายาก ซื้อไปเถอะ 3-4 เล่ม สิ่งที่คนละเลยมักจะเป็นของดี และของดีมักไม่มีบ่อยและไม่อยู่นาน”


จันนวลยกมือไหว้ขอบคุณ พลางเอ่ย “จริงค่ะ เล่มนี้ แทบพลิกแผ่นดินหาเลยทีเดียว แค่ชื่อ ศรีสัชนาลัย นี่ก็ยากแล้วค่ะ”


ดร. ปราชญ์ หัวเราะชอบใจ พลางย้อนถาม “แล้วคิดว่าหมายถึงอะไร”


8 views0 comments

Comments


bottom of page