top of page

สู่หนันหยาง ดินแดนทะเลใต้ (2)


หนันหยาง ดินแดนทะเลใต้ หรือเอเชียอาคเนย์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สุดแต่จะเรียก แบ่งออกเป็น 2 ภาค ทวีปและหมู่เกาะ ซึ่งไม่อาจนับได้ถ้วนทั่ว หมู่เกาะแก่งแหล่านี้เกิดจากการระเบิดของภูเขาไปในอดีตกาลนานโพ้น กาลเวลาผันผ่าน เถ้าภูเขาไฟกลายเป็นดินคุณภาพดี ปลูกอะไรก็งามไปเสียสิ้น ชาวบาหลีถึงกับเอ่ย “ไม่มีอะไรปลูกไม่ได้ที่บาหลี” หมู่เกาะมาลุกุ หรือที่เรียกติดปาก “โมลุกะ” ทางฟากตะวันออก เป็นแหล่งเครื่องเทศชั้นเอก เช่น ลูกจันเทศ (nutmeg) ดอกจัน (mace) และกานพลู (clove) อบเชย (cinnamon) ชวาตะวันออกเป็นแหล่งพริกไท กระวาน ชั้นเลิศ เครื่องเทศเหล่านี้จะเข้ายาก็ได้ ปรุงอาหารก็ดี ความสมบูรณ์เช่นนี้ย่อมไม่พ้นสายตานักล่าอาณานิคม !


ชาวบ้านท้องถิ่นยังชีพกันอย่างพอมีพอกิน ด้วยแถบร้อนชื้นมีฤดูฝนยาวนาน ไม่ขาดแคลนข้าวปลา การเพาะปลูกอย่างยังชีพคือการเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับแมกไม้ ลำธาร ป่าเขา “เอาแต่พอกิน ไม่มุ่งครอบครอง ปองร้ายกัน” การค้าขายเป็นแบบแลกเปลี่ยน ไม่มุ่งแสวงกำไร ทว่าความเจริญแห่งมนุษยนิยมทางฟากตะวันตกนั้น มั่นใจเสียมากว่าจะเอาชนะธรรมชาติได้ การเพาะปลูกเน้นเพื่อการผลิต บริโภค ค้าขาย จำนวนมากผู้ชนะย่อมได้ครอบครองท้องถิ่น


Batavia อาณานิคมหนึ่งบนเกาะชวาจึงเกิดขึ้นจากการบุกยึดของชาวฮอลันดา และเป็นอยู่อย่างนั้นกว่า 300 กว่าปีทีเดียว ! การเพาะปลูกเพื่อค้าขายเกิดขึ้นพร้อมกับระบบชนชั้น หัวหน้าหมู่เผ่าสนองตอบความต้องการ เร่งเพาะปลูก ชาวพื้นเมืองคือแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ การเพาะปลูกค้าขายย่อมต้องการแรงงานเพิ่ม ข่าวคราวการค้านี้สะท้อนดังไปทั่วหัวเมืองชายทะเล ที่เรือเดินสมุทรฮอลันดาไปถึง โดยเฉพาะแถบ กวางตง ฟูเจี้ยน ชาวจีนแถบนี้ เห็นช่องทาง “ไปตายเอาดาบหน้า” จึงไม่พลาดโอกาสที่จะออกแสวงหาชีวิตใหม่ไม่ว่าจะที่เมือง ปอนติอานัก บนเกาะบอร์เนียว ปัตตาเวีย บันดุง บนเกาะชวา


ชาวจีนทะเลใต้กลุ่มแรกๆ เริ่มก่อร่างสร้างตัวกันที่นี่ ! #กังไสยาม #นิยายต่อเนื่อง #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.ruenbangramat.com




Opmerkingen


bottom of page