top of page

สู่หนันหยาง ดินแดนทะเลใต้ (6)


คำ “เอกราช” เราคงคุ้นเคยกันดี และมักจะแปลเทียบเคียงเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘independence’ อันที่จริงคำนี้ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับ ‘independence’ แม้น้อย ตามรูปคำ “เอก” หมายว่า ‘หนึ่ง’ ราช คือ ‘ราชา’ รวมความแล้วคือ ‘ราชาผู้ป็นหนึ่ง’ คำนี้สะท้อนให้เห็นรูปแบบการปกครองบนแผ่นดินทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีแว่นแคว้นเล็กๆ เป็นอิสระต่อกันอยู่ทั่วไป แนวคิดอย่างฮินดูที่ถือว่า ราชา คือสมมติเทพ พัฒนาไปสู่แนวคิด ราชาเหนือราชา คือ ราชาองค์หนึ่งที่สามารถยิ่งทั้งด้านการศึก และคุณธรรม เป็นที่เกรงขามต่อราชาองค์อื่นๆ จนต้องยอมรับให้ความเป็นหนึ่ง เช่นนี้เรียก “เอกราชา” หรือ “เอกราช” บนแผ่นดินสุวรรณภูมิ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกลุ่มอำนาจ 2 กลุ่ม ที่แย่งชิงความเป็น “เอกราช” นี้ คือ พม่า และ กรุงศรีอยุธยา หากฝ่ายใดชนะ อีกฝ่ายก็จะตกอยู่ในฐาน “ประเทศราช”


คำ “ประเทศราช” ไม่ได้หมายอย่าง “colony” ด้วยบ้านเมืองที่เป็นประเทศราชยังคงมีอำนาจปกครองตนเอง แต่ไม่อาจเหนือดินแดนอื่นได้ เฉพาะ “ประเทศ” คือ พื้นที่ตนเท่านั้น และจะต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองแด่ “จ้าวเอกราช” ทุก 3 ปี การแย่งชิงความเป็น “เอกราช” สิ้นสุดลงเมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของบริเตน สยาม จึงหมดคู่แข่งไป คงมีบ้างที่หัวเมือง ลาว มลายู แข็งเมือง สยาม ยังคงแนวคิด “เอกราช” อยู่จนถึงแผ่นดินพระเจ้ากรุงสยามที่ 5


หนึ่งในหัวเมืองประเทศราชของสยามคือ มาลยรัฐ หรือแว่นแคว้นมลายู ได้แก่ ไทรบุรี และตรังกานู หากจำไม่ผิด กลันตันนั้นอยู่ใต้อำนาจของตรังกานู จึงทำให้สยามได้แคว้นกลันตันผนวกมาด้วย ส่วนปลิส (Perlis) นั้น เป็นส่วนหนึงของไทรบุรีมาก่อน ต่อมาค่อยแยกออกเป็นอีกแคว้นหนึ่ง ไทรบุรี นั้นมีความสำคัญเป็นเอก ด้วยมีพื้นที่ปลูกข้าวกว้างขวางแห่งเดียวทางฝั่งอันดามัน เป็นหลักประกันว่าจะมีข้าวเลี้ยงผู้คนแถบหัวเมืองฝั่งอันดามันนับแต่ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง กระบี่ ถลาง ตรัง ทั้งยังอุดมด้วย ดีบุก สินแร่สำคัญ นอกจากนี้ ไทรบุรียังต่อแดนกับ สิงกอรา (สงขลา) หัวเมืองมลายูฝั่งอ่าวสยาม มีการเดินทางค้าขายข้ามสมุทรมายาวนาน จนครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เคยโปรดให้สร้างทางรถไฟ สายสงขลา - ไทรบุรี แต่ไม่สำเร็จด้วยทางบริเตนผิดเงื่อนไขล่าช้า


ไทรบุรี เคยขึ้นกับเมืองลิกอร์ หรือนครศรีธรรมราช ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ ไทรบุรี ขึ้นตรงต่อพระนคร เพื่อความสะดวกในการจัดการดูแลหัวเมืองประเทศราช นอกจากนี้ ยังโปรดฯ ให้ หม่อมเนื่อง นนทนาคร ธิดาของขุนนางผู้ใหญ่ของสยามเป็นภริยาพระราชทานแก่เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี หรือ สุลต่านอับดุลฮามิดฮาลิม แห่งไทรบุรี ปัจจุบันไทรบุรีเป็นรัฐหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเชีย เรียกเป็นมลายูว่า Kedah #กังไสยาม #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com




Comentários


bottom of page