top of page

สู่หนันหยางทะเลใต้ (8)


ในที่สุด นิยายอิงประวัติศาสตร์เล่มที่ 2 จากเรือนบางระมาดก็เสร็จลง “กังไสสยาม” เรื่องราวของชายหนุ่มจีนแผ่นดินใหญ่ “อองเกียนเบ๋ง” อพยพหนีความแร้นแค้นในแผ่นดินแม่ออกมาสู่ชีวิตที่ดีกว่าในดินแดนทะเลใต้ ดังเรียกในภาษาจีนกลางว่า “หนันหยาง” ซึ่งเป็นดินแดนอันอุดมด้วยทรัพยากรหลายหลาย โดยเฉพาะเครื่องเทศ อย่าง ลูกจันทน์เทศ กระวาน อบเชย กานพลู และ พริกไท ฯลฯ ล้วนเป็นเครื่องเทศที่ปรุงอาหารได้เลิศรส และใช้เข้ายาได้ด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่หมายตาของชาติตะวันตกอย่างอังกฤษและฮอลันดา และตกเป็นอาณานิคมของ 2 ชาตินี้ในที่สุด


ปัตตาเวีย เป็นหมุดหมายแรกของเกียนเบ๋งและพี่น้อง รวม 3 คน ทว่าอุปสรรคบางข้อทำให้เกียนเบ๋งต้องไปย้ายไปทำงานที่ สิงคโปร์ เมืองท่าอันมั่งคั่งแห่ง Strait of Settlement ที่นี่ เกียนเบ๋งได้เห็นโลกใหม่และกระตุ้นให้อยากเรียนรู้โลกกว้าง มุ่งมั่นสร้างตัว เก็บเกี่ยวประสบการณ์ อยากรู้ว่า “ปีนัง” “เมดาน” “ไทรบุรี” ซึ่งเป็นชื่ออยู่บนลังสินค้านั้นอยู่ที่ไหน เมื่อฝีมือแก่กล้าพอ จึงขอเถ้าแก่ใหญ่แห่งห้าไถ่หยางย้ายไปไทรบุรี


“ไทรบุรี” ชื่อนี้ คงคุ้นหูอยู่บ้างในหมู่คนสนใจประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสยามในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่เป็นประเทศราช อนึ่งเข้าใจก่อนว่า “ประเทศราช” นั้น ไม่ใช่ “อาณานิคม” เรื่องนี้ได้เขียนไว้แล้วในตอน “สู่หนันหยางทะเลใต้ (6) โดยส่วนตัวสงสัยเรื่อยมาว่าเหตุใดสยามจึงให้ความสำคัญแก่เมืองไทรบุรีมาก สืบค้นความได้คือ “ข้าว” ไทรบุรีขึ้นชื่อว่าเป็นชามข้าวแห่งมลายา ข้าวจากที่นี่ส่งออกไปเลี้ยงหัวเมืองอันดามันต่างๆ มากมายทั้ง ถลาง ตะกั่วป่า กระบี่ และรัฐมลายาทางใต้ฝั่งอันดามัน เกียนเบ๋งสนใจเรื่อง “ข้าว” เพราะตนและครอบครัวในแผ่นดินใหญ่เคยอดอยากแร้นแค้นมาก่อน และมุ่งมั่นเอาดีทางการค้าข้าว


แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิด “กังไสสยาม” นี้ มาจากชั้นเรียนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศที่ผู้เขียนสอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระยะหลายปีมานี้ นับแต่ก่อนเกิดโรคระบาด สังเกตได้ชัดว่ามีชาวจีนมลายู สิงคโปร์ และชาวจีนอินโดนีเซียสนใจมาเรียนภาษาไทยมากขึ้น ในชั้นเรียนเราได้พูดคุยกันเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนในดินแดน “หนันหยาง” หรือทะเลใต้ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ได้รู้ว่ากับข้าวจีนๆ อย่างพะโล้ นั้นกินกันโดยทั่วไปในแถบมลายู หรือ หมูฮ้อง อาหารพื้นถิ่นจีนภาคใต้ประเทศไทย ก็เป็นอาหารจีนในคายสมุทรมลายูตั้งแต่เมืองระนองลงไปถึงสิงคโปร์ และยังมีอีกหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน จนเรียกว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้นคือหนึ่งเดียว เมื่อถอยออกมามองดินแดน “หนันหยาง” ในมุมกว้าง เห็นได้ชัดว่าความเจริญทางเศรษฐกิจทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดจากชาวจีนทั้งนั้น ชาวจีนมีคุณสมบัติเอกอย่างหนึ่งคือ ปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ได้ดี ทั้งนี้คงเป็นเพราะชาวจีนมุ่งขยัน ทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัว อดออม บางคนได้ดีในงานราชการสยาม อาทิ ตระกูล ณ ระนอง


ที่สุด อองเกียนเบ๋ง เลือกย้ายมาลงหลักปักฐานที่เมือง ตรัง คราวที่สยามยกไทรบุรี เปอร์ลิส กลันตัน ตรังกานูให้แก่อังกฤษ เพราะรัก “น้ำใจ” ชาวสยาม โดยเฉพาะคู่ชีวิตของเขา ชมจันทรา บุตรีพระมาลยกิจสวัสดิ กรมการเมืองไทรบุรีฝ่ายสยาม


จากนี้จะนำเสนอเรื่องราวของกังไสสยามเป็นตอนสั้นๆ พร้อมแนะนำตัวละครให้รู้จักไปทีละน้อยๆ ขอฝากกังไสสยามในหมู่นักอ่าน ลักษณะไทยด้วยค่ะ #กังไสยาม #เรือนบางระมาด

อานเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com


Comments


bottom of page