top of page

สู่แผ่นดินพระร่วงเจ้า (๑)


เพิ่งวางปากกาจากนิยายเรื่อง “แสงสรวงสัชชนาไลย” (ฉบับร่าง) ได้ไม่นาน ในขณะที่กำลังตรวจทานต้นฉบับเพื่อส่งพิมพ์ในช่วงปลายปีหลังหน้าฝน พลางคิดว่าควรจะมีข้อเขียนสั้นๆ แนะนำ “ที่มาที่ไป” ของนิยายเรื่องนี้สักหน่อยก่อน เพื่อปูทางแก่ผู้อ่าน ว่ากันง่าย ให้นิยาย “ขายออก” ในยุคสมัยที่ผู้คนอื่นหนังสือกันน้อยลงทั่วโลก ด้วยหน้าที่การงานในฐานะอาจารย์สอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศมากกว่า ๒๐ ปี พอเข้ารับผิดชอบการสอนภาษาไทยระดับสูง (๙) ในหัวข้อ วัฒนธรรม : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ก็ต้องพยายามวางเนื้อหาให้เข้ากับทาง ประวัติศาสตร์ และ ภาษาไทย หากยังจำกันได้ เมื่อสัก ๓๐ กว่าปีล่วงมา มีการเฉลิมฉลองใหญ่ “๗๐๐ ปีลายสือไท” อีกทั้งมีการประกาศรับรองอุทยานประวัติศาสตร์ ๓ แห่งเป็นมรดกโลก ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร นั่นคือ จุดเริ่มต้อนที่เลือก สุโขทัย


เมื่อจะเริ่มสอนหัวข้อใหม่ๆ จุดเริ่มต้นทุกครั้งคือ หาข้อมูล ซึ่งก็คล้ายกับการเดินทางสู่หมุดหมายที่เราปักไว้ หนังสือ นิตยสาร หลายเล่ม วางเรียงซ้อนกัน รอให้หยิบจับขึ้นมาอ่าน สำรวจ ตรวจค้น ย้อนนึกทบทวนถึงตอนที่เดินทางขึ้นเชียงใหม่ สัก ๒๐ กว่าปีที่แล้ว รถตู้ที่นั่งไปกับเพื่อนๆ จอดพักที่สุโขทัยเอาเมื่อคำ่ สุโขทัย หรือไม่ก็ พิษณุโลก จะเป็นที่พักกลางทางเสมอ เช้าขึ้น ก็ได้แวะไปเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่ก็ไม่นานนัก แค่พอได้ถ่ายรูป แล้ว “ศรีสัชนาลัย” เล่า ไม่เคยได้ไป คำนี้ “ศรีสัชนาลัย” ติดอยู่ในใจเสมอมา สักวันจะต้องไปให้ได้


ภาพของสุโขทัยแก่คนทั่วไปนั้น คือ ราชธานีแห่งแรกของคนไทย คำ “สุโขทัย” แปลหมายกัน ‘รุ่งอรุณแห่งความสุข’ ความหมายนี้มาได้ยังไงกัน คงคาดเดากันว่ามาจากการรวมคำ สุข กับ อุทัย แล้วมันจริงหรือ ยุคสมัยใหม่สอนให้เราไม่เชื่ออะไรง่าย เดิมทีเขียน “ศุโขไท” ซึ่งอาจหมายตรงๆ ว่า ‘คนไทมีความสุข’ ก็เป็นได้ เอาล่ะ การเดินทางของฉันกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว


เนื้อความต่างๆในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ค่อยๆ ปรากฏขึ้นในใจ “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลู่ทางเพื่อนจูงวัวไปค้า จูงม้าไปขาย”


แล้ว ศิลาจารึกหลักที่ ๑ มาจากที่ไหน ปรากฏขึ้นได้อย่างไร ยังมีหลักอื่นๆ อีกไหม นับหลักกันอย่างไร เนื้อหาวิชาการหนักๆ ที่เตรียมไว้สอนค่อยๆ เอามาลำดับเรียงร้อยให้ชาวต่างชาติเข้าใจ ที่สุดก็หลงใหล สุโขทัยและศรีสัชนาลัย” เข้าเต็มตัวเต็มใจ การเดินทางสู่สถานที่จริงได้เกิดขึ้น ความงามในแง่มุมต่างๆ สะสมซ้อนสลับอยู่ในใจ รอวันถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรให้ผู้คนได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน


“จันนวล” ตัวละครเอกจึงเกิดขึ้น พร้อมจะนำผู้อ่านสู่ “ศรีสัชชนาไลยศุโขไท” นครสองอันแห่งองค์พระร่วงเจ้า


ฝากติดตามเนื้อหาฉบับร่าง ๒๓ ตอนใน readawrite และชุดข้อเขียน “สู่ผ่นดินพระร่วงเจ้าด้วยค่ะ


ปลายปีนี่ รูปเล่มเสร็จสมบูรณ์พร้อมวางจำหน่าย และคงมีในรูปแบบ e-book ต่อไป #แสงสรวงสัชชนาไลย #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.ruenbangramat.com


17 views0 comments

Comments


bottom of page