top of page

สู่แผ่นดินพระร่วงเจ้า (๑๑) นายเรือง สุขศรี


ไม่ต่างจากนายแสงลูกชายหัวแก้วของพระยาสวรรครักษราชโยธา นายเรือง ลูกพ่อค้าเร่ชาวสวรรคโลก แม่เป็นชาวนาชาวไร่ เติบโตขึ้นมาบนแผ่นดินสวรรคโลก แต่เล็กแต่น้อยทั้งนายเรืองกับนายแสง ปีนป่ายเขาพนมเพลิง จับปลาที่แก่งหลวงมาด้วยกัน เรียนหนังสือกับพระที่วัดกลาง เติบใหญ่ขึ้นนายแสงเลือกเดินสายพ่อค้าเร่ หลีกทางให้น้องๆ ได้เรียนหนังสือ เข้าหน้าแล้ง จะออกเดินทางขึ้นเหนือไปทางเมืองน่าน ข้ามโขงไปหลวงพระบาง เสาะหาของป่า เครื่องเงิน น้ำผึ้ง สมุนไพร ลงมาขาย บางคราวขึ้นไปทางเมืองแพร่ พะเยา เชียงตุง หรือ ข้ามไปทางแม่สอด มะละแหม่ง แม้จะไม่ได้เข้าเรียนตามระบอบระเบียบ การเดินทางย่อมทำให้หูตากว้างไกล ที่เมืองมะละแหม่งนายเรืองได้เห็นความเจริญที่ฝรั่งบริเตนสร้างขึ้น โรงเรียน “เซนต์แปตริก” และหมอสอนศาสนา มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่พระคริสต์ พร้อมทั้งวิทยาการในแถบเมืองเหนือและล้านนา


โอกาสย่อมเป็นของผู้แสวงหา นายเรืองได้เรียนภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีที่ลำปางและแพร่ จนอ่านออกเขียนได้ ด้วยความรักดี ชอบอ่านเขียน นายเรืองเข้าทำงานเป็นเสมียนที่ห้างบอมเบย์เบอร์มา และได้ย้ายมาพระนคร “ความเจริญ” ของบ้านเมืองในอาณานิคมบริเตนและ “ภาษาอังกฤษ” เบิกหู เบิกตา และเบิกทางให้นายเรืองเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ตามที่ฝันใฝ่ ต้นรัชกาลพระมงกุฎเกล้า นักคิด นักเขียน ต่างเริ่มแสดงความเห็นเรื่องระบอบการปกครองแบบ “เดโมเครซี” เพราะเห็น “ความเหลื่อมล้ำก้ำเกิน” ระหว่างเมืองหลวงและหัวเมือง การปฏิวัติจีนยิ่งเป็น “เชื้อไฟ” ในคนหนุ่มสาวสยามหันมามองชาติตัวเอง การการโต้แย้งท้าทายกันผ่านหนังสือพิมพ์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าก็ทรงลงมา “เล่น” การนี้ด้วย ตลอดแผ่นดินพระปกเกล้า นายเรืองแสดงตนเป็นผู้ใฝ่ประชาธิปไตยเสมอมา ที่สุดจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ กระแสชาตินิยม


นับแต่สมัยแผ่นดินรัชกาลที่ ๖ แนวคิดชาตินิยมได้ก่อตัวให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรับมือกับกระแสการเมืองภายนอกและนายทุนจีนโพ้นทะเล จนทำให้นักการเมืองสร้างกระแส “เผ่าไทย” ขึ้น เชิดชูอาณาจักรสุโขทัยในฐานะราชธานีแห่งแรกของการรวมตัวกันเป็น “เผ่าไทย” ในห้วงเวลา “โภคกิจอัตคัต” เกิดการควบรวมหลายจังหวัดเข้าด้วยกัน รวมทั้งควบสุโขทัยเข้ากับสวรรคโลก ต่อมาเปลี่ยนชื่อจากจังหวัดสวรรคโลกเป็นจังหวัดสุโขทัย ด้วยความภาคภูมิใจในสวรรคโลกอย่างที่สุด นายเรืองไม่เห็นด้วยอย่างมากและพยายามต่อสู้ให้ จังหวัดสวรรคโลกกลับมาเคียงคู่กับจังหวัดสุโขทัย เพราะทั้ง “สุโขทัย” และ “สวรรคโลก” ต่างเห็นลมหายใจของกันและกันอันแยกออกไม่ได้ ทว่านับวันกระแสชาตินิยมเริ่มแปรสู่เผด็จการอำนาจนิยม ไม่เป็นไปตามระบอบที่อ้าง จึงทำให้นายเรือง “โต้แย้ง” ผ่านปลายปากกา เน้นความเท่าเทียม เป็นธรรม และประชาธิปไตย ที่สุด ภัยมาถึงตัว เหล่านักคิดนักเขียนถูกกวาดล้าง นายเรืองจำต้องหนีไปทางใต้ และป่วย ความหวังที่จะเห็นสวรรคโลกกลับมาเรืองรองไม่เคยจางหายไปจากความคิด ที่สุด ทั้งนายเรืองและนายแสงก็ต้องเผชิญกับเหตุอันสลดใจ #แสงสรวงสัชชนาไลย #นิยายต่อเนื่อง #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com





5 views0 comments

Comments


bottom of page