top of page

หลังบ้าน


หลังจากที่พ่อแม่แต่งงานกันในปี ๒๕๑๒​ ผ่านมาถึงปี ๒๕๑๙ จึงมีบ้านของตัวเอง เพราะลูกๆ โตขึ้นทุกวัน ห้องเล็กๆ ในกงสีคงไม่พอ “หลังบ้าน” เดิม จะเป็นลานซักล้าง และกะบะปลูกต้นไม้ จำได้ว่ามีน้อยหน่าอยู่ต้นหนึ่ง และอ่างเลี้ยงปลา “หลังบ้าน” ออกทั้งข้างซ้ายและขวาจากตัวบ้าน มักเป็นที่นั่งเล่น นอนเล่น ครัวนอกที่ต้องติดเตาถ่าน เมื่อย่างปลา แมวก็จะไต่มาคอยที่กำแพง เราแบ่งปลาให้พวกมันเสมอ “หลังบ้าน” เคยเป็นสวนทุเรียนเดิม แถบบางยี่ขัน บางบำหรุ นี้ ทุเรียนกำปั่น ขึ้นชื่อนัก ค่ำลง ก็จะมืดสนิท พี่เลี้ยงมักจุดเตาถ่านต้มน้ำ เมื่อเข้าหน้าฝน ไอลมชื้น นางจะเอาขิงสด ตะไคร้ มัดเข้าเป็นตุ้มโยนลงในกา บังคับพวกเรากิน ราวตากผ้า อยู่อีกมุมหนึ่ง เมื่อโตขึ้น ไม่มีพี่เลี้ยง พ่อก็จะตากผ้าให้ทุกคนเสมอ มุมนี้จึงเป็นมุมของพ่อไป


เข้าฤดูร้อน ลมว่าวโกรกโปร่งสบาย กลางวัน บนบ้านแทบอยู่กันไม่ได้ เด็กๆ ก็มักจะมานั่งเล่นกัน “หลังบ้าน” ค่ำลงจุดยากันยุง กางมุ้งเม็ดพริกไท เอาหมอนหนักๆ กันไว้ที่ขอบ เรานอนกันอยู่ที่ชานหลังบ้าน มี พี่เต่า เพื่อนบ้านมาคอยเล่น และดูแลเราไปด้วย ตอนอ่านหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัย “หลังบ้าน” เป็นมุมเงียบสงบที่สุด ๓ ปี ที่เก็บตัวอ่านหนังสือ แทบไม่มีเสียงอื่นใด นอกจากจิ้งหรีด


วันนี้ เรามีบ้านหลังใหม่ปลูกบนที่เดิม “หลังบ้าน” ก็ยังเป็นอาณาที่มีเสน่ห์อย่างอบอุ่น ต้นลำไยที่แตกก้าน แผ่ร่มมากว่า ๑๐ ปี ถูกโค่นลง เพราะกิ่งก้านไปรบกวน อพาร์ตเมนต์ “หลังบ้าน” วันนี้ ไม่มีสวนหลังบ้าน คงเหลือแต่สวน พี่เต่า แคบเล็กเท่าแมวดิ้นตาย “ไม่ขาย ยังไงก็จะอยู่อย่างนี้ ตรงนี้” นางเป็นชาวสวนเดิม มือเย็น ปลูกอะไรก็งาม ตำลึง ตะไคร้ กระชาย มะกรูดอะไรๆ แกก็มี กำๆ ไปขาย ปากซอย ก็ได้เงินใช้


เมื่อค่ำวันก่อน ฝนตก กลิ่นดินกลิ่นหญ้าลอยฟุ้งหอมอุ่นใจ เสียงจิ้งหรีด ยังดังไม่ขาด แม้ไม่มีต้นลำไยแล้ว พวกเขาก็เกาะอยู่ต้นอื่นแทน มะละกอ ๓ ต้นกำลังขึ้นสูง แตกใบ อีกไม่นานคงได้กินลูก ออกไปนั่งซักผ้าอย่างเคย พี่นาง ตะโกนคุยจากข้างบ้าน ในช่วงโรคระบาดนี้ เราจะไม่พบกัน เพื่ออนามัยที่ดี ของกันและกัน ไอฝนกระเซ็น พี่นาง ไล่ให้เข้าบ้าน เพราะรู้ว่าป่วยง่าย ใจยังอยากสูดกลิ่นเดิมที่ “หลังบ้าน” ตรงนี้


“หลังบ้าน” ที่เคยมีเด็กๆ นั่งเล่นกัน มีแมว มีพ่อ มีความปลอดภัย #เรือนบางระมาด


อ่านเพิ่มเติมที่ www.ruenbangramat.com


18 views0 comments

Recent Posts

See All

Comentários


bottom of page