top of page

เสียงตามลม



ทุกครั้งที่อยู่ รังหนู อพาร์เตอมองต์เล็กๆ ริมคลองชักพระ จะต้องเปิดวิทยุก่อนอื่นใด เพราะรอฟังข่าวสารการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในสมัยโรคระบาดนี่ “การฟัง” สำคัญนัก อยากฟังข้อมูลจริง ไม่เอาอารมณ์ละเม็งละครใดๆ ย้อนกลับไปเมื่อสัก ๓๐ กว่าปีที่แล้ว สื่อเพื่อการศึกษาและความสนุกสนานยอดนิยม คือ วิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุมีหลายช่อง ทั้งคลื่นสั้น และคลื่นยาว นัยว่าคลื่นสั้นกระจายเสียงทางไกลได้ดีกว่า ตอนเริ่มเรียนภาษาเยอรมันครั้งแรกเมื่อประมาณปี ๒๕๒๙ ก็เรียนทางวิทยุศึกษา รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกถ่ายทอดเสียงจากกรุงบอนน์ ผู้เรียนฟังวิทยุแล้วอ่านตาม ตำราต่างๆ ส่งมาจากเยอรมนีตะวันตก ตอนนั้น ดีใจเหลือเกินที่ได้จับต้องตำราจากเมืองฝรั่ง วิทยุที่ใช้ฟัง เป็นของพ่อยี่ห้อ Westfunk ของเยอรมนีตะวันตก ซึ่งเป็นยอดแห่งเทคโนโลยี เครื่องนี้พ่อเก็บเงินอยู่นาน ซื้อก่อนอีกเครื่องตรา Kaiser พ่อเล่าว่าใช้เรียนภาคค่ำ สมัยก่อนเรียนกันทางวิทยุช่วงหัวค่ำ บางวันก็ไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่ พ่อมีโอกาสเรียนในระบบน้อยมาก เวลาประกาศผลสอบ ก็ประกาศกันทางวิทยุ ทั้งเครื่อง Westfunk และ Kaiser ยังคงใช้มาจนทุกวันนี้ เวลาฟังวิทยุ ก็มักจะอ่านชื่อเมืองต่างๆ บนหน้าปัดไปด้วย ภาคพื้นทวีปยุโรปมีเมืองเล็กใหญ่มากมาย แต่ละเมืองก็จะมีสถานีวิทยุของตัวเอง สำคัญคือวงดนตรีคลาสสิก มักจะมาเล่นสดตามสถานี อยากฟังวงไหนก็หมุนไปตามเมืองนั้น เมื่อตอนเรียนหนังสือที่ออสเตรีย ก็ยังฟังอยู่เป็นประจำ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ในแผ่นดินก่อนก็ติดวิทยุเหมือนกัน ท่านเคยเล่าว่าฟังตอนทำการบ้าน ติดฟังเพลงคลาสสิก วงออเคสตราของสวิตเซอร์แลนด์สมัยนั้นก็มีชื่ออยู่


มาวันนี้ วิทยุเครื่องนี้ก็ยังทำหน้าที่ได้อย่างดี วันก่อนเผลอไปกดปุ่ม KW ซึ่งย่อมาจาก Kurze Welle หรือคลื่นสั้น หมุนไปมา รับสถานีวิทยุที่กรุงเวียงจันทน์ และกรุงฮานอยได้ แต่ไม่ชัดนัก ส่วนใหญ่จะฟังสถานีเกษตร สอนเพาะชำไม้ดอกผลดต่างๆ หรือไม่ก็ฟังธรรมจากสถานีวัดนายโรง ตรงปากคลองบางยี่ขัน ด้านคลองบางกอกน้อย เสียงชัด ไม่ขุ่นซ่าน เพราะบ้านอยู่ในคลองชักพระ ไม่ไกลกัน



3 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page