top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๐ : งามอย่างศรีสัชชนาไลย (1)



สายตา กรัน ดูอ่อนโยนคล้ายคนรู้ผิด “ผมขอโทษที่เสียงดังนะครับ คงเพราะรีบเร่งไป กลัวจะบรรยายได้ไม่หมด”

“โอย ไม่เป็นไรเลยค่ะ ที่เยอรมนี ฝรั่งเศส ก็คุยกันดัง เถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด แล้วก็ไปกินข้าวกัน ไม่มีอะไร”

ด้วยความเป็นตะวันตกในตัว จันนวลจึงสอดแขนตัวคล้องแขนกรัน เพื่อให้กรันรู้สึกสบายใจ แต่อีกฝ่าย แทบละลาย กลิ่นหอม eau de cologne จากตัวจันนวล ทำให้นายกรัน หวั่นไหว หน้าแดงเรื่อ จันนวล จึงค่อยคลายวงแขนออกมา


‘แปลกจริง ผู้หญิงคนนี้ทำอะไรดูไม่ขัดเขิน ไม่น่าเกลียด’ หากเป็นผู้หญิงคนอื่นที่ผ่านๆ มา กรันคงคิดว่า “เข้าหา”’


กลุ่มนักศึกษา และนัยน์เดินเรียงกันเป็นแถวแนวผ่านวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ จันนวลเดินเคยงกรันตามแถวนักศึกษาไป


“หอมจังเลยนะคะ กลิ่นดอกแก้ว” จันนวลเอ่ย


กรันนิ่งไป เพราะไม่อยากให้จันนวลตกใจ เพราะกรันเองกลับไม่ได้กลิ่นอะไรเลย แม้น้อยเดียว


“ครับ ผมคงชินเสียแล้ว มาที่นี่บ่อยจนเป็นเหมือนบ้าน ทุกครั้งที่ผมต้องการแรงกำลังใจ แรงบันดาลใจ ที่นี่ให้ผมพักพิงเสมอ หากพอมีเวลาผมจะพาคุณนวลไปเดินที่แก่งหลวง สัมผัสแม่ยม มีพลังจริงๆ ครับ” กรันหันมาสบตา ละอองเหงื่อจับที่ไรหนวดอ่อนและเครา ลมหายใจผ่อนแรง รดอยู่ตรงหน้า


‘ใครหนอช่างปั้นให้ผู้ชายคนนี้ ดูทรงพลัง ไม่ครั่นคร้าม’ จันนวลคิดพลาง


“เอาล่ะเด็กๆ วัดสุดท้ายในช่วงเช้า นี้ ก่อนที่เราจะไปกินข้าวกลางวันกันนะ เที่ยงนี้ บ้านสวรรครักษราชโยธา เป็นเจ้ามือ นะ อ้าวนั่น เดินมาแล้ว” นัยน์ชวนนักศึกษาคุย แก้เหนื่อย


กรันผละเดินนำขึ้นมาก่อน จันนวลหลบไปด้านหลัง คอยฟังกรันบรรยาย


“ครับ เห็นพระเจดีย์ประธาน วัดนางพญา แล้ว คิดว่า เหมือนหรือแตกต่างจากเจดีย์วัดช้างล้อม หรือสุวรรณคีรีไหมครับ ใครพอจะสังเกตุอะไรได้บ้าง” กรันตั้งคำถาม


“ผมว่าดูคล้ายเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงเก่ามากกว่าครับ” นักศึกษาหนุ่มตอบ

“คล้ายยังไง”


“ตรงช่องที่ฐานพระเจดีย์ที่ยื่นออกมา ๓ ด้าน ครับ แบบนี้ ไม่มีที่วัดช้างล้อมและสุวรรณคีรี”


“เก่งมากครับ มุขหน้าทั้ง ๓ ด้านขององค์ระฆังฟ้องทันทีว่า พระเจดีย์ประธานองค์นี้คงสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น หลังจากที่แคว้นสุโขทัยถูกผนวกเข้ากับอยุธยาแล้ว ลวดลายตกแต่งก็ต่างจากแบบสุโขทัย ใครมีกล้องลองส่องดูที่รอบพระเจดีย์ จะเห็นลายมาลัยเถา ลวดลายแบบนี้ พบในอยุธยา แผนผังของวัด ก็เป็นผังเดียวกับทางอยุธยา คือ มีพระวิหารหน้า พระเจดีย์ประธาน อยู่ในแนวเดียวกัน ส่วนด้านหลังองค์พระเจดีย์ น่าจะเป็นพระอุโบสถตั้งในทางขวาง แบบนี้อยุธยาแน่นอนครับ” กรันบรรยายออกรส


“เอาล่ะ เรามาดู grand master piece กันเด็กๆ” นัยน์ชวน พลางเดินไปที่ซากผนังพระวิหาร พร้อมหลังคาคุ้มฝน


“ส่วนตัวผมไม่คิดว่าพระวิหารแบบสุโขทัย จะมีผนัง ยิ่งลวดลายเถาดอกไม้ ยิ่งไม่ใช่สุโขทัย ผมคิดว่าพระวิหารแบบ สุโขทัยจะลาดต่ำ ด้านข้างเปิดโล่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ เพราะในฤดูแล้ง ศรีสัชนาลัย สุโขทัยจะแล้งร้อนมาก หลังคาลาดต่ำจะไม่ขวางทางลม ผนังอิฐคงมาก่อเอาในสมัยอยุธยา หากใครมีโอกาสไป วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จะได้เห็นความงามอย่างสุโขทัยแท้เลยทีเดียวครับ


ลวดลายดอกไม้นี้ น่าจะมีส่วนมาจากศิลปะจีนบ้าง ซึ่งอยุธยาเองก็ทำการค้ากับจีนมานับแต่ยังแยกกันเป็น สุพรรณภูมิ และละโว้อโยธยา หรือ พระวิหารพระพุทธชินราช ที่เมืองพิษณุโลก ก็มีหลังคาลาดต่ำมาก และคงก่อผนังขึ้นภายหลัง หากไม่เสียเวลานัก ข้ามถนนไปฝั่ง วัดราชบูรณะ ก็จะเห็นความเรียบง่ายของวิหารแบบสุโขทัย”


ท่าเดินทะมัดทแมง จังหวะก้าวย่างขึ้นบันไดแต่ละขึ้นสู่องค์พระเจดีย์ไม่มี “พลาด” ตำแหน่งไหนที่อิฐเปราะ กรันจะเยื้องและก้าวขึ้นไปอย่างรวดเร็ว


‘สวรรคโลก ศรีสัชนาลัยคือลมหายใจของผม ผมรักทุกอย่าง แม้ดินกำมือเดียว จับขึ้นมาก็รู้ว่าคือ ดินศรีสัชนาลัย ’ จันนวลจำคำนายกรันได้แม่น ขณะเดินเรื่อยเอื่อยมาที่พระเจดีย์วัดนางพญา


“ส่วนตัวผม ผมคิดว่าพระเจดีย์วัดนางพญานี้น่าจะสร้างก่อนพระเจดีย์พระศรีสรรเพชญาญาณ เพราะ มีขนาดเล็กกว่ามาก คือ อาจจะเป็นต้นแบบ” กรันเสริม


เด็กๆ เพลิดเพลินกับการส่องกล้องดูรายละเอียดของพระเจดีย์ บางคนเลือกเก็บภาพด้วยกล้องฟิล์ม บางคนด้วยกล้องสมัยใหม่ บางคนร่างภาพ และคงเก็บไว้ลงสีต่อไป


ขณะเดินออกมาจากเขตวัดนางพญา นัยน์บรรยาย


“เด็กๆ ครับ หากเรามองจากมุมนี้ จะเห็นว่า วัดนางพญา วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดเจดีย์ ๗​ แถว และวัดช้างล้อม จะอยู่ในแนวเดียวกัน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีพนมเพลิงเป็นกำบัง พระเจดีย์สุวรรณคีรี เป็นจุดสูงสุด ..​


“นัยน์ นายว่า ทิศอะไรนะ ตะวันออกเฉียงใต้ เหรอ ..” จันนวลถามซ้ำ


“ใช่ นวล มีอะไรจะเสริมไหม”


“คือ คำว่า อาคเนย์ ที่แปลว่าตะวันออกเฉียงใต้ นี่ไงล่ะ จริงๆ ก็คำเดียวกับคำว่า อัคนี ที่แปลว่าไฟ เพื่อนชาวอินเดียเคยเรียนด้วยกันที่ ปารีส เคยบอกว่า อาคเนย์เป็นทิศบูชาไฟ เอาล่ะ ฉันเข้าใจละ ว่าทำไม เรียกเขาด้านหลังว่า พนมเพลิง ที่แท้เพราะอยู่ในแกน บูชาไฟนี่เอง ถือเป็นทิศมงคลนะ นัยน์”


นักศึกษาต่างทึ่งงันกับการวิเคราะห์ภาษาของจันนวล


“ไงล่ะ อึ้งกันเลยไหม สวย เก่ง ด้วย นี่ เยอรมัน ฝรั่งเศส ก็คล่องปรืดเลยนะ เห็นหรือยังว่า ภาษา ประวัติศาสตร ศิลปกรรม แยกออกจากกันไม่ได้” นัยน์สำทับ


มื้อกลางวัน ด้านหน้าอุทยาน มีร่มเงาไม้ และโต๊ะให้นั่ง ด้วยคนถิ่นฐานย่านนี้รู้จักกันเองเสมอมา ทางอุทยานก็ไม่ว่า หากจะล้อมวงกินข้าวกัน


“กับข้าวง่ายๆ ไม่หนัก ป้าทำข้าวผัดปลาเค็ม ปลากุเลาค่ะ เนื้อดีเชียวมาจากเมืองตรังโน่น มีไข่เจียวฝอยโรย เคียงหมูคั่วกระเทียม ผักลวก” แม่ลำพาช่างคิดอ่านหากับข้าวไม่แน่นหนักเกินไป ทุกอย่างห่อด้วยใบตอง แยกคนละห่อๆ กินสะดวก มัดเชือกกล้วย ผลไม้สดล้างสะอาด จัดเรียงในกระทง มีมะละกอ สับปะรด ฝรั่ง


“สับปะรดห้วยมุ่นค่ะ มาจากที่ทางของท่านเจ้าคุณใหญ่ เมืองตรอน ค่ะ พันธุ์ห้วยมุ่น ฉ่ำไม่หวานจัด สดชื่นดีค่ะ”


“นี่เรามีที่ทางอยู่ เมืองตรอน ด้วยหรือคะ เมืองตรอน นี่อยู่แถวไหน หนูไม่เคยได้ยินเลย” จันนวลเย้าแม่ลำพา


“เอ้า แรกๆ คุณหนูมา ป้าเล่าให้ฟัง นี่ดูซิไม่เท่าไรลืมแล้ว”


นายกรัน แทรกเข้ามา “ตรอนอยู่ อุตรดิตถ์ครับ เลยศรีสัชนาลัยขึ้นไปหน่อยเดียว สวยครับ มีน้ำตกใหญ่ เขียวครึ้มเลยครับ”


จันนวลยิ้มรับ


“ค่ะ คุณกรันรู้จักพื้นที่แถวนี้แทบจะทุกตารางนิ้ว แม่ของป้าเล่าว่าท่านเจ้าคุณใหญ่ กับท่านเจ้าคุณน้อย จะไปไหว้พระธาตุทุ่งยั้งทุกปี เพราะถือเอากันว่า เป็นเมืองพระร่วงเจ้าเหมือนกัน” แม่ลำพาเสริม


“หนูนี่แย่จังนะคะ แม่ลำพา ไปมาแล้วเกือบจะทั่วโลก แต่กลับไม่เคยรู้จักบ้านเกิดเมืองนอนตัวเองเลย” จันนวลเอ่ย


“อยู่นานๆ สิครับ คุณจะหลงรักที่นี่” กรันแทรกทันควัน


จันนวลรู้สึกใจเต้นแรง เมื่อกรันหันมาจ้อง สบตา


8 views0 comments

Comments

Couldn’t Load Comments
It looks like there was a technical problem. Try reconnecting or refreshing the page.
bottom of page