top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๐ : งามอย่างศรีสัชชนาไลย (2)


“ก็อยากจะอยู่นะคะ แต่การงานก็ต้องทำ นี่ลามา 1 ปี กลับไปจะตามงานทันไหมก็ไม่รู้ งานล่าม มันต้องฟัง ต้องคิด ต้องพูดตลอด ร้างไปนานๆ ก็จะลืม” จันนวลพูดเสไป เพราะเกรงสายตา คู่นั้น


แม่ลำพาดูจะ “ซึม” ลง เมื่อจันนวลพูดถึงเรื่องกลับต่างประเทศ


เด็กๆ เดินเข้ามาขอบคุณจันนวล “อะไรกันนั่นคนทำนั่งอยู่นั่น ไปกราบขอบคุณ แม่ลำพาสิคะ เด็กๆ”


รถรางอุทยานนำคณะนักศึกษา ดร. นัยน์ จันนวล และ กรัน ออกจากประตูอุทยาน สู่เมืองเชลียง


“เด็กๆ เราเข้าสู่เขตศรีสัชนาลัยเก่า หรือที่เรียกกันตามชื่อเก่าว่า เชลียง ลองมองไปที่ปราสาทเขมรองค์นั้นสิ”


นัยน์ชวนเด็กๆ ชม วัดเจ้าจันทร์


“ครับ ปราสาทวัดเจ้าจันทร์ นี่แสดงถึง อิทธิพลเขมร ถือว่าเป็นหลักเขตบอกจุดสิ้นสุดอำนาจวัฒนธรรมขอม เลยนะครับ เพราะ เหนือขึ้นไปจากนี้ จะไม่พบปราสาทแบบเขมรอีกเลย เข้าสู่เขตล้านนา” กรันเสริม


“นี่ล่ะ คือความสำคัญของสวรรคโลกในสมัยที่ผนวกเข้ากับกรุงศรีอยุธยา เพราะหากรักษาสวรรคโลกไว้ไม่ได้ ล้านนาก็จะเข้าตี เท่ากับเปิดทางให้ฝ่ายพม่าด้วย เพราะ พม่าเองก็ยึดครองล้านนาอยู่นานเกือบ ๒๐๐ ปี” นัยน์บรรยายต่อความ


แม้รายละเอียดตกแต่งของปราสาทเขมรจะเลือนหายไปตามกาล แต่พอจะมองเค้าออกมา เป็นเทวาลัยบูชาเทพเจ้าองค์หนึ่งองค์ใด และชาวบ้านแถวนั้น ยังคงนำเครื่องเส้นมาตั้งบูชา


นัยน์ กรัน เดินนำเด็กๆ นักศึกษาไปยังศูนย์กลางเมืองเชลียงในอดีตกาล “งามเหลือเกิน นัยน์” จันนวลรู้สึกถึง กำลังอันวิเศษที่แผ่ซ่านเข้ามาทางกลางหน้าผาก เมื่อสบตาพระพุทธรูปองค์ประธาน หน้าพระบรมธาตุเมืองเชลียง


“งามมาก แน่นอน นวล ฉันว่าพระพุทธรูปประธานองค์นี้ เป็นความงามที่สุดในศิลปะสุโขทัย นวลดูที่นิ้วท่านสิ” นัยน์ชี้ชวน


“นิ้วยาวเรียว”


“และยาวไม่เท่ากัน” กรันเสริม


เด็กๆ นักศึกษานั่งจับกลุ่มกันอยู่เบื้องหน้าประธานวัดพระบรมธาตุเชลียง “เด็กๆ ครับ ความงามแบบฉบับสุโขทัย คืออะไร จำได้ไหมครับ” นัยน์ถามนำ


“ความสมส่วน เรียบง่าย ค่ะ” นักศึกษาสาวใฝ่รู้ชิงตอบได้ก่อนเสมอ


“ถูกต้อง สมส่วนคือ พระเศียรจะไม่ใหญ่อย่างแบบเชียงแสน แต่จะรับกับขนาดบ่า และ อก ขององค์พระ ใบหน้าเรียว คล้ายกับพระพุทธรูปรายบนพระเจดีย์ช้างล้อม เรียบง่าย คือ ไม่ตกแต่งงรุงรัง และสะท้อนมนุษยลักษณ์ คือ ลักษณะของคน คือ นิ้วที่ยาวไม่เสมอกัน” นัยน์บรรยายออกรส


“มนุษย์ซึ่งสามารถบรรลุธรรมได้ เป็นการถ่ายทอดแนวคิดพุทธศาสนาแบบเถรวาท ไงล่ะครับ” กรันเสริม


“โหนี่ มหากรันมาเองเลยนะนี่” นัยน์แซว เด็กๆ ยิ้ม


“เด็กๆ ครับ เมื่อตอนที่เราเข้ามาในเขตพระวิหาร มีใครสังเกตุเห็นอะไรไหมครับ” กรันบรรยายต่อ


“ตรงยอดทางเข้าไงครับ”

เด็กๆ กรูไปดู เหมือนยอดประตูเป็นปราสาทเขมรน้อย


“ยอดที่ซุ้มประตูที่มีพระอวโลกิเตศวรนี้ แสดงให้เห็นอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบมหายาน ซึ่งร่วมสมัยกับเขมรนครธม”


“ถ้าอย่างนั้น บริเวณนี้น่าจะเคยเป็นเทวาลัยที่สร้างเพื่อถวายพระอวโลกิเตศวรหรือเปล่าครับ” นักศึกษาหนุ่มตั้งข้อสงสัย


“ผมก็คิดแบบนั้น น่าจะเป็นเทวาลัยในสมัยเชลียง เพราะที่มุมนั่นก็มีเทวาลัยวัดเจ้าจันทร์ไงครับ เมื่อเข้าสู่สมัยที่เป็นศรีสัชนาลัยแล้ว เป็นยุคของศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกาวงศ์ พญาลิไท มีบทบาทสำคัญมากในการสถาปนาพุทธศาสนา ทั้งในศรีสัชนาลัย และ สุโขทัย” กรันเสริมความเห็น


“เด็กๆ เดินมานี่สิครับ master piece แห่งพระพุทธรูปปางลีลาเลยนะ” นัยน์ชี้ชวน


จันนวลคลานเข่าเข้าไปกราบที่ปลายนิ้วของพระประธาน น้ำตาแห่งความอิ่มเอมรื้นขึ้น ไหลเป็นทาง เป็นจังหวะเวลาที่กรันหันมา จะเรียกให้จันนวลไปชมพระพุทธปางลีลา กรันชะงักทันใด ภาพหญิงสูงศักดิเกล้ามวยต่ำ ปักปิ่นเงิน ชุดสีนวลกรอมพื้น กำลังก้มกราบพระพุทธรูป เพียงชั่วเวลากึ่งนาที จันนวลหันขึ้นมายิ้ม ปลุกกรันตื่นจากความชงักงันนั้น


“กรัน กรันคะ” จันนวลเรียก


“ครับ ผมจะเรียกคุณนวลไปชมพระพุทธลีลา”


นวลแทรกตัวระหว่างกรันกับเสาพระวิหารผ่านเข้าไปชมพระพุทธลีลา ใบหน้าเรียวงาม รอยยิ้มสงบ “รู้อยู่” ไม่หวั่นไหว


จันนวลคิดพลาง ‘หากเราวางใจได้แบบนี้ คงดีไม่น้อย 2-3 ปีมานี้ มีเรื่องวุ่นวายใจไม่เว้น’


“พระพุทธรูปแต่ละท่านี่ มีความหมายยังไงนะ นัยน์”


“หลักๆ นะ จะมี 4 ท่า เรียกพระ สีอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ที่เห็นกันมากคือ ท่านั่ง จริงๆ ก็คือต้องการสื่อให้เข้าใจว่า ไม่ว่าจะ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ต้องมีสติ รู้ตัว ตลอดเวลา ไงล่ะนวล”


“ความหมายเรียบๆ แบบนี้ ทำให้คนสร้างสรรค์งานศิลปะออกมาได้หลากหลายขนาดนี้เลยนะ นัยน์”


“ใช่สิจ๊ะ มนุษย์บทจะดีก็ดีใจหาย ร้ายก็ร้ายสุดใจ ถึงต้องมีสติกำกับยังไงล่ะ”


11 views0 comments

Comments


bottom of page