top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๐ : งามอย่างศรีสัชชนาไลย (3)


เด็กๆ ดูจะเพลินกับการร่างภาพเร็วๆ ด้วยดินสอดำ กรัน เองก็สนุกไปด้วย บัว เหมือนได้เลือดพ่อมา ร่างภาพได้คมชัด น่าทึ่ง


“พระพุทธลีลาองค์นี้ถือกันว่าสมบูรณ์ละงามที่สุดในบรรดาพระลีลาศิลปะสุโขทัย จังหวะที่ทอดแขนลง ช่วงแขนที่เรียวงาม ใบหน้ารูปไข่แบบเดียวกับพระประธานองค์ใหญ่” กรันเดินเข้ามาเสริม


“เอ้าเด็กๆ พระปรางค์ลักษณะนี้ ใครตอบหน่อย ศิลปะแบบไหน?” นัยน์เอ่ยถาม


“อยุธยาค่ะ”


“เอ้าไหนเล่าซิ ศิลปะแบบนี้เป็นมายังไง”


“ผมเข้าใจว่า ปรางค์ศิลปะอยุธยานี้ พัฒนามาจากปราสาทแบบเขมร ย่อส่วนลงมา แตยังคงกลีบขนุนไว้”


จันนวลเริ่มสนุก เมื่อเข้ารายละเอียดลึกมากเรื่อยๆ


“กลีบขนุนคือ ส่วนที่ดูเป็นเกล็ดซ้อนๆ กันบนตัวองค์ปรางค์ครับ คุณนวล”


“ค่ะ ดูๆไป ก็คล้ายกับที่ปราสาทนครวัดนะคะ”


“ครับ ศิลปะเขมรมีอิทธิพลมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ไทยเรานิยมสิ่งที่ย่อมกว่า แม้จะดูไม่อลังการ แต่จะอ่อนช้อย มีรายละเอียดมาก” กรันตอบ


เด็กๆ นักศึกษาสนุกกับการปีนป่ายขึ้นด้านบนองค์ปรางค์ แต่หนูบัวไม่กล้าขึ้นจึงเดินเข้ามาอยู่กับพ่อ


“สันนิษฐานกันว่า พระปรางค์องค์นี้จะสร้างครอบพระเจดีย์ทรงดอกบัวน่ะ นวล เพราะมีฐานเขียงอยู่” นัยน์เล่า


“การครอบทับนี่ เป็นสัญลักษณ์ของการยึดครองใช่ไหม” จันนวลเอ่ยถาม


“ใช่สิ เหมือนประกาศศักดา ... เอ้าเด็กๆ ด้านบนมีอะไร”


“มียอดเจดีย์ดอกบ้วข้างในครับอาจารย์”


“นวลสนใจปีนขึ้นไปไหม”


“ไม่ล่ะ ฉันกลัวความสูง แล้วนี่ยังมียอดดอกบัวให้เห็นกันหรือ”


“ไม่หรอกครับ ผมว่าน่าจะมาสมัยหลังๆ นี่ ล่ะ คงมีคนสร้างยอดพระเจดีย์ดอกบัว แล้วตั้งบูชาไว้ข้างใน แสดงให้เห็นความเชื่อเรื่องการครอบทับ ครับ” กรันเสริม


แม้แดดจะแรงอยู่บ้าง แต่มีลมพัดโกรกเย็นสบายตัว แม่น้ำยมไหลโอบล้อมพระบรมธาตุเชลียงเป็นโค้งน้ำ งามตา


“คงเป็นความตั้งใจของคนโบราณนะคะ ที่เลือกสถานที่ตั้งองค์พระปรางค์” จันนวลเอ่ย


“แน่นอนครับ ศูนย์กลางจักรวาลต้องมีน้ำล้อม ผมคิดอย่างนี้นะ”


แดดระฟ้าก่อนค่ำ แลดูงามด้วยแสงเรื่อๆ จันนวลรู้สึกสนุกและได้ความรู้มากมายในวันนี้ ชาเขียวร้อนช่วยให้จันนวลสดชื่น แม้จะเดินทั้งมาวัน แต่ก็ไ่ม่รู้สึกเหนื่อยแต่อย่างไร กลิ่นดอกปีบหอมอวลทั่วเรือน ชวนให้คิดถึงแม่ แม่จำลองบ้านในคลองชักพระมาไว้ที่สวรรคโลก ต้นไม้ใบหญ้าอะไรๆ ที่บ้านริมคลอง ล้วนมีปลูกที่เรือนนี้


ยังไม่ดึกนัก จันนวลคว้าสมุดบันทึกท่านเจ้าคุณพระยาสวรรครักษราชโยธาได้ จันนวลเปิดอย่างเบามือ



“ เรื่องที่ค้างอยู่และอยากบันทึกไว้ คือ แม่พรรณ เมียประเสริฐของฉัน ตอนนี้ แม่พรรณ ท้องแก่เต็มที ใกล้คลอดเข้าทุกวัน นับวันก็ยิ่งนับถือน้ำใจเมีย เมื่อได้พบแม่พรรณครั้งแรก ก็รู้สึกต้องชาตา เธอไม่ถือตัว อย่างเพื่อนของเธอที่เป็นลูกพระยา คงเพราะเปนลูกชาวสวนกระมัง ไม่มีศักดิใหญ่โต แม่พรรณ อ่านภาษาอังกฤษได้ เพราะเรียนโรงเรียนแหม่มโคล ทั้งยังใฝ่รู้ไปเรียนภาษาปรัสเซียกับภรรยาท่านเจ้ากรมรถไฟ เกียรซ อีกด้วย มีความรู้อ่านนิทาน กริมม์ ได้ทีเดียว เธอสนใจสิ่งรอบข้างตลอดเวลา แม่พรรณมักมีเรื่องตื่นเต้นมาเล่าสู่ฟังเสมอ เช่น การปฐมพยาบาล การฉีดยาปลูกฝี ที่หมอฝรั่งสอนศาสนาทำอยู่ โรงเรียนแหม่มโคล อยู่ใกล้โรงเรียนแพทย์มาก บางครั้ง หมอฝรั่งก็มาขอความช่วยเหลือ ขอแรงผู้หญิงช่วยต้มน้ำร้อน


พระนครมีแม่น้ำเจ้าพระยาใช้เป็นหลักอยู่ แต่ก็ไม่สะอาดนัก น้ำกินต้องรองน้ำฝนเอา หากต้องใช้น้ำในแม่น้ำต้องแกว่งสารส้มก่อน น้ำยม บ้านเราก็เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยานี่ ผิดกันตรงที่เราไม่ค่อยถ่ายของเสียลงน้ำยมนัก อาจเป็นด้วยตลิ่งสูง น้ำเชี่ยวกราก แถบแก่งหลวงมีปลาชุม หากใครลงไปถ่ายคงต้องโดนชาวบ้านไล่แพ่นกันทีเดียว


เมื่อตามเพื่อน คุณเฟื่อง มากราบสมเดจเจ้าประคุณท่าน แม่พรรณมักเปนฝ่ายถามอย่างนั้นอย่างโน้น เรื่องหุ่นศิลาจีนต่างๆ ว่าใครเปนใคร เล่นเอาสมเดจท่านหัวร่อชอบใจ กับฉัน แม่พรรณไม่เก้อเขินที่จะคุยด้วย หลายครั้ง เพื่อนของเธอดุเอา เห็นว่าไม่งาม แม่พรรณทำกับข้าวอร่อยจริง รู้ได้อย่างไรน่ะฤา ฉันกินข้าวก้นบาตรหลวงพี่ทองคำ สมเด็จเจ้าประคุณไงเล่า ฉันได้พูดคุยกับแม่พรรณจนเกิดชอบพอ แต่ก็เจียมตัวเสมอ จนเมื่อได้ไปฝึกทหาร จึ่งเพิ่งความกล้า พอฉันได้คัดตัวไปเยอรมนีสมเดจท่านเห็นว่าจะมีการงานดีต่อไป จึ่งลองถามถามใจฉันว่าชอบพอแม่พรรณฤาไม่ หากชอบพอก็จะทาบทาม หมั้นหมายไว้ ขอให้บวชก่อนเท่านั้น จะตบแต่งก็ไม่ว่ากัน ฉันไม่กล้าคิดอะไรไกล เพราะนับแต่รู้ว่าจะต้องไปเยอรมนี จากพระนครไป ไม่รู้สักกี่นาน แล้วแม่พรรณจะชอบพอฉันแค่ไหน ก็ไม่รู้ได้”



10 views0 comments

Comentarios


bottom of page