top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๒ : มหาธาตุแห่งสุโขทัย (1)


ฟ้ายังไม่สางดี กลิ่นเตาฟืนปลุกจันนวลให้ตื่นขึ้น อากาศที่สวรรคโลกช่างต่างกับอากาศที่กรุงเทพเสียจริง ข้อเสียของจันนวลคือ ไม่ชอบนอนในห้องปรับอากาศไม่ว่าจะปรับให้เย็น หรือปรับให้ร้อน ฤดูหนาวที่เย็นแทรกเข้าทุกซอกส่วนของร่างกาย จันนวลก็ไม่ชอบเครื่องทำความร้อนอยู่ดี ต้องแง้มช่องให้อากาศเย็นเข้ามาหมุนเวียน ไม่ว่าจะที่ไหน จันนวลมักตื่นเช้าเสมอ ไฮน์ริชบ่นเสมอ ‘เธอจะตื่นเช้าไปทำไม ที่นี่รถไม่ติดเหมือนที่เมืองไทยนะ’


ลุกจากที่นอน เก็บพับให้เรียบร้อย จันนวลขมวดผมขึ้นด้วยปิ่นอันเดียว


“ทำอะไรกันแต่เช้าเลยคะนี่ กลิ่นหอมเข้าไปถึงห้องแม่เลยค่ะ” จันนวลเอ่ยถาม


“ข้าวต้มกับ ค่ะ มีหมูผัดกระเทียม ยำถั่วงอกน้ำมันงา เต้าหู้นึ่งโรยหน้าหอมเจียว ค่ะ แล้วก็ข้าวเหนียวหมูทอดให้เด็กๆ คุณนัยน์ คุณกรันไปทานระหว่างทาง” แม่ลำพาสาธยาย


“ยังใช้เตาถ่านกันหรือคะนี่ เตาแบบนี้ไม่ได้เห็นนานมากแล้ว”


“มันเคยมือค่ะ คุณหนู เตาถ่านสะดวกดี หุงหาเสร็จก็ต้มน้ำต่อ จนไฟมันมอดไป ทำอะไรก็อร่อย”


จันนวลนึกพลาง แปลกดีจัง ‘คิดว่าเตาแกสน่าจะสะดวกกว่า กลับกลายเป็นว่า เตาถ่านสะดวก’


ข้าวต้มขาวเม็ดข้าวเรียวไม่แตกอย่างข้าวต้มจีน อร่อยไปอีกแบบ ดีที่ได้ซดน้ำข้าวร้อนๆ กับข้าวรสอ่อน ถูกใจจันนวลนัก ยำถั่วงอกน้ำมันงาเจือเผ็ดนิดๆ เพราะมีขิงซอย “กับข้าวนี่ใครคิดทำคะนี่ อร่อยดีจัง”


“บ้านเราทำกันมานานแล้วค่ะ คุณหอมเล่าว่าคุณหญิงพรรณเป็นคนคิดขึ้น สมัยก่อน สวรรคโลกเป็นตลาดค้าพืชไร่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง คนจีนมาซื้อกันมาก รับไปขายที่เมืองพิชัยบ้าง น่านบ้าง แพร่บ้าง เห็นคนจีนยำ ก็ยำตาม ดัดแปลงใส่ขิงซอยให้หอมขึ้นค่ะ” แม่ลำพาเล่าเพลิน


“โห เป็นร้อยปีแล้วนะนี่ ตำรับนี้” จันนวลแซว


เสร็จมื้อเช้า จันนวลออกเดินเล่นเพลินไปถึงริมน้ำยม ‘ตลิ่งสูงจัง’ คิดพลาง ต้นหญ้าเขียวจัดขึ้นรายไปตามแนวตลิ่ง กล้วยก็มี มะยมก็มี ชาวบ้านแถวนี้ปลูกกันไว้ยึดหน้าดิน


“น้ำหลากก็ตายหมด น้ำแล้งก็ขึ้นใหม่ แม่ยมไม่เคยตายครับ” เสียงกรันดังอยู่ด้านหลัง


“มากันแล้วหรือคะ เราจะไปเมืองเก่าสุโขทัยใช่ไหมคะ”


“ครับ คืนนี้เราพักที่เมืองเก่า พรุ่งนี้เราไปพิษณุโลก ไปไหว้พระพุทธชินราชกัน เสร็จแล้วส่งทีมนายนัยน์กลับทางรถไฟ” กรันตอบ


“แล้ว...”


“ผมขับรถไปอีกคัน พรุ่งนี้ผมมาส่งคุณนวลที่บ้านครับ วันนี้หนูบัวไม่ไปด้วย ห่างบ้าน จะโยเย” กรันรีบตอบให้จันนวลคลายกังวลเรื่องการเดินทาง


มองจากด้านข้าง โครงหน้าของนายกรัน คม อยู่ไม่น้อย ผิวคร้ามแดด ผมขาวแซมประปราย เดาได้ว่าเจ้าตัวคงผ่านเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมาไม่น้อย กรันดูผ่อนคลาย ขณะขับรถ ทว่าจันนวลกลับเก้อเขิน


“เมืองเก่าสุโขทัยไกลจากสวรรคโลกไหมคะ” จันนวลเอ่ยถามแก้เก้อ


“40 กิโลเมตรครับ” ขับตรงๆ ไป สบายๆ


ไม่นานนัก ก็เข้าสู่เขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรันและจันนวลเดินไปรวมกลุ่มกับนัยน์และนักศึกษา


“ผมติดต่อขอ รถรางไว้แล้ว เดี๋ยวคงออกมารับเรา” กรันเอ่ย


“เออสิวะ เดินก็ขาลากตาย” นัยน์แซว


“เมืองเก่านี้กว้างขวางจังนะ นัยน์ แปลกที่ไม่ค่อยมีร่มไม้” จันนวลสังเกต


“สุโขทัย เวลาแล้ง แล้งจริงแล้งจังนะนวล แต่ถ้าถึงฤดูน้ำหลาก ก็เอาเรื่อง เอ่อขึ้นมาท่วม 2 ฝั่ง เมืองใหม่นี่

ย้ายหนีกันแทบไม่ทัน” นัยน์เล่า


รถรางนำกลุ่มนักศึกษา นัยน์ กรัน จันนวล แล่นรอบอุทยานประวัติศาสตร์ ผ่านอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ทุกคนยกมือขึ้นไหว้ เมื่อเข้าเขตวัดมหาธาตุ ความยิ่งใหญ่แห่งแคว้นสุโขทัยปรากฎอยู่ตรงหน้า หมู่พระเจดีย์ประธานยืนเด่นสง่า


‘จะต้องมีกำลังศรัทธาเท่าไร จึงจะสร้างความสง่างามนี้ขึ้นมาได้’ จันนวลนึกพลาง


“เอ้าเด็กๆ ก่อนที่ผมจะบรรยายต่อ ผมอยากให้ทุกคน ร่างภาพ หมู่พระเจดีย์ แยกแต่ละองค์ๆ ดูว่า มีลักษณะต่าง เหมือนยังไง”

เด็กๆ นักศึกษาต่างแยกย้ายหามุมของตัวเอง จันนวลเดินชมภาพร่างของแต่ละคนเพลิน ออกจะทึ่งว่าคนนั้นเกิดมามีพรติดตัวมาต่างกัน บางคนพูดเก่ง เขียนเก่ง วาดรูปเก่ง


“อาจารย์คะ เจดีย์ประธาน และรอบๆ นี่ ไม่เหมือนกันเลยนะคะ” นักศึกษาสาวเริ่มสังเกตุ


“นั่นสิ แล้วความต่างๆ นี่ สะท้อนอะไร ลองดูรายละเอียดว่าเป็นศิลปะแบบไหน” นัยน์ชวนนักศึกษาคิด


“เจดีย์ประธานทรงดอกบัวศิลปะสุโขทัยแน่ แต่เจดีย์รอบ 4 ด้านนี่สิละ ครับ มีทั้งหน้านาง ทั้งกลีบขนุน ดูเป็นศิลปะขอม เขมร มาก”


“แล้วที่มุมล่ะ มีเจดีย์กี่องค์ ลักษณะยังไง”


“ทรงปราสาท 5 ยอด แบบนี้ ผมว่า ศิลปะล้านนา นะครับ แต่ทำไมมันผสมปนกันไปหมดล่ะครับ อาจารย์”

จันนวลฟังลูกศิษย์อาจารย์ ตั้งคำถาม ตอบคำถาม เพลินไป ได้ความรู้มากมายในการเขียนรายงานส่ง ยูเนสโก


“แล้วที่วัดเจดีย์ 7 แถวมี เจดีย์แบบล้านนาไหม ลองนึกดูดีๆ เมื่อวานเพิ่งไปดูมา” นัยน์ชวนคิดต่อ


“มีค่ะ แต่ที่นี่ดูเป็นอลังการกว่ามากเลย” นักศึกษาสาวตอบ


“ผมอยากให้ทุกคนใช้แอพพลิเคชั่น ภาพถ่ายดาวเทียม ครับ ลองดูตำแหน่งที่ตั้งจังหวัดสุโขทัยปัจจุบันก่อน แล้วค่อยๆ ลงไปที่ตำแหน่ง อุทยานประวัติศาสตร์ ที่เรายืนอยู่นี่” กรันเสริม รับส่งลูกจากนัยน์ได้เข้ากัน


“เห็นไหมครับว่า ตำแหน่ง เมืองเก่าสุโขทัย อยู่ฝั่งเดียวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย คือ ฝั่งตะวันตกของแม่ยม และอยู่ในแนวเกือบเป็นเส้นตรงเลยทีเดียว ทางฝั่งตะวันตกของเมืองเก่า จะเห็นว่ามีเขาหลวงอยู่ใช่ไหมครับ” ถัดจากเขาหลวงไป คือ จังหวัดตาก ทุกวันนี้ ก็มีรถทัวร์วิ่งระหว่างตาก - สุโขทัย ครับ” กรันบรรยายต่อ


“ออกจากตาก ก็เข้าเขตพม่า เป็นเมืองมอญเดิม แถบเมาะตะมะ ออกทะเลได้ ใต้สุโขทัยเป็นจังหวัดอะไร เด็กๆ” นัยน์ถาม


“กำแพงเพชร ใช่ไหมคะ แล้วค่อยนครสวรรค์”


“ถูกต้อง ขยับไปทางตะวันออกหน่อย เป็นจังหวัดอะไร”


เด็กหนุ่มแทรกขึ้น “พิษณุโลก บ้านเกิดผมเองครับ”


“วนทางตะวันออกขึ้นไปเป็นจังหวัด ...”


“อุตรดิตถ์ ค่ะ แม่หนูเป็นคนเมืองพิชัยค่ะ”


“หากเราต้องการเข้าใจ ที่มาที่ไปของโบราณสถาน เราต้องเริ่มตรง ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ก่อน ลองคิดวิเคราะห์ดูว่า ทำไมเมืองนั้นๆ จึงมีตำแหน่งที่ตั้งแบบนั้น ฝั่งตะวันตก และทางใต้สุโขทัย เป็นเขตลุ่มน้ำปิง ทางตะวันออก พิษณุโลก อุตรดิตถ์คือ ลุ่มน้ำน่าน ศรีสัชนาลัย-สุโขทัยคือลุ่มน้ำยม” กรันชี้ทางให้เด็กนักศึกษา


“คราวนี้เห็นหรือยังว่า ตำแหน่งเมืองเก่านี้มีนัยอย่างไร” นัยน์เสริม


“ศูนย์กลางคลุมแม่น้ำ 3 สายหลักเลยครับ หากรวมน้ำวังที่รวมกับน้ำปิงก่อนแล้ว ก็คือ แม่น้ำ 4 สาย” เด็กหนุ่มเอ่ย


“และแต่ละเมือง ทั้งตาก นครชุมหรือกำแพงเพชร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ศรีสัชนาลัยคงไม่ต้องเอ่ย ล้วนมีเจดีย์ทรงดอกบัวตูม เหมือนเป็นหลักเขตแห่งอำนาจของแคว้นสุโขทัยโบราณ” นัยน์ชวนนักศึกษาวิเคราะห์


7 views0 comments

Comments


bottom of page