top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๒ : มหาธาตุแห่งสุโขทัย (2)



“กลับมาที่หมู่พระเจดีย์ วัดมหาธาตุ ของเรา เด็กๆ รู้สึกไหมครับว่า เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูม ดูแปลกแยกจากเจดีย์ประจำทิศทั้ง 4 และ เจดีย์ประจำมุมทั้ง 4” กรันชวนคิด


“เห็นไหมว่า เจดีย์ประจำทิศ หรือ ประจำด้าน 4 องค์มีลักษณะศิลปะขอม หรือ เขมร ซึ่งน่าจะสร้างพร้อมกัน” นัยน์เสริม


“และน่าจะเก่าแก่ที่สุดด้วย ใช่ไหมคะ เพราะ ขอม มีอิทธิพลเหนือดินแดนนี้ มาก่อน” นักศึกษาสาวคิด


“ใช่เลย แล้วไม่รู้สึกผิดสังเกตหรือ ว่าทำไม เจดีย์ดอกบัวยืนเด่นออกมา” นัยน์ลุ้นคำตอบ


“น่าจะครอบพระเจดีย์องค์เดิมไหมครับ อาจารย์”


“เก่งมากครับ นั่นล่ะ ผมลุ้นคำตอบอยู่ด้วยเหมือนกัน จากการสำรวจครั้งก่อนๆ ผมเคยได้มีโอกาสร่วมงานด้วย มีรอยต่อระหว่าง ฐานพระเจดีย์ดอกบัวกับฐานพระเจดีย์เดิม ซึ่งน่าจะมีลักษณะเดียวกับ เจดีย์ประจำทิศทั้ง 4” กรันช่วยนัยน์ตอบ


“แต่ส่วนยอดของเจดีย์ประจำทิศล่ะคะ อาจารย์ จะเป็นแบบไหน หายไปเกือบหมดแล้ว”


“อ่าา เป็นคำถามที่ดีจริง คาดเดากันว่าน่าจะเป็นทรงปราสาท 5 ยอด แล้วเป็นทรงระฆังแบบลังกา อย่างที่เราเห็นที่ศรีสัชนาลัย ไงล่ะ”

จันนวลคิด ทบทวน การถามตอบไปมา “แสดงว่ามีความสัมพันธ์กับล้านนาด้วยเหมือนกันสินะ นัยน์”


“ใช่เลยนวล นี่ฟังแล้วเริ่มซึมเข้าเนื้อแล้วสิ” นัยน์แซว


“แบบนี้ เจดีย์มุมก็เป็นแบบล้านนาใช่ไหม นัยน์ เพราะคล้ายกับที่เราเห็นที่ศรีสัชนาลัยเลย”


“ไง เด็กๆ คิดว่า ยังไง พระเจดีย์ 5 ยอด ใช่ไหม”


“ใช่แน่ๆ ค่ะ ครับ”


“ครับ พระเจดีย์ 5 ยอด ครับ แต่ผมคิดว่าน่าจะมาสร้างต่อเติมในสมัยหลัง นะครับ ไม่น่าสร้างพร้อมกับพระเจดีย์ประจำทิศ” กรันเสริม


“เอาล่ะ ใครเคยไปเชียงใหม่บ้าง เด็กๆ” นัยน์ถาม

ทุกคนยกมือ ทว่าจันนวลเองจำไม่ได้ว่าเคยไปหรือไม่ “นึกถึงอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ได้ไหม ที่อยู่หน้าพิพิธภัณฑ์เชียงใหม่ ศาลากลางจังหวัดเดิมน่ะ” นัยน์ถาม

ค่ะ ครับ เด็กๆ นักศึกษาตอบรับ


“ทั้ง 3 ท่านคือ พญางำเมือง พญามังราย และพระร่วง สุโขทัย ซึ่งคาดกันว่า คือ พ่อขุนรามคำแหง ตามตำนาน เล่ากันว่า ตอนพญามังรายย้ายเมือง มาสร้างเชียงใหม่ ได้เชิญสหายทั้ง 2 ท่านมาหารือ พ่อขุนรามคำแหง ทรงแนะนำว่า ทำเล เชียงใหม่ นั้นดี เหมาะแก่การสร้างเมือง ....”


“ยังไงคะ” นักศึกษาถามแทรก


“ใจเย็นๆ ... เอ้านายกรัน ช่วยหน่อย”


“ครับ เมืองเก่าสุโขทัยที่เรายืนอยู่นี้ ห่างจากน้ำยม เอาสัก...ประมาณ 10 กิโลเมตร เด็กๆ ครับ น้ำยม น้ำปิง น้ำวัง น้ำน่าน ถึงหน้าน้ำหลาก นี่ น่ากลัวนะครับ ท่วมเจิ่งนอง เป็นทะเลเวิ้งว้างเลยนะครับ เด็กๆ เคยได้ยินคำว่า ทะเลหลวง ไหมครับ


“ทะเล ตรงนี้ มีทะเลด้วยหรือครับ”


“ไม่ใช่ทะเลจริงๆ ครับ แค่เหมือนทะเล น้ำยมนี่ มองไม่เห็นตลิ่งเลยนะครับ”

จันนวลนึกขึ้นได้ “ขอเสริมนะคะ ทะเล เป็นคำเขมร มาจากคำว่า โตนเล คือ แม่น้ำใหญ่ ส่วน หลวง แปลว่าใหญ่ ส่วนตัวคิดว่า แม่น้ำยม หน้านำ้นี่ คงใหญ่มากค่ะ”


“นั่น เจ้าแม่ภาษามาเองแล้ว”


“ความรู้ทางภาษา ช่วยได้มากเลยครับ คุณนวล” กรันเอ่ย


สายตากรัน ดูอ่อนโยนทุกครั้งเมื่อทอดมาทางจันนวล ในใจชายหนุ่มคงหวั่นไหวยิ่งๆ ขึ้น จะทำอย่างไรที่จะเข้าใกล้เธอ นับวัน กรัน ยิ่งไม่มั่นใจอารมณ์หวั่นไหว มั่นไม่ใช่ความหวือหวา อย่างหนุ่มรุ่นๆ แต่คือ ความรู้สึกขาดส่วนหนึ่งไป นับแต่หย่าร้าง แต่ จันนวลดูเหมือนไม่ขาดอะไร มั่นใจ สง่างาม ทุกขณะ


“พอรู้น่ะ สมบัติเก่าสมัยเรียนทั้งนั้น” จันนวลตอบ ไม่พยายามมองไปทางกรัน ใช่สิ เธอไม่ใช่สาวรุ่นที่ต้องเขินอาย แต่ก็ไม่พร้อมจะเริ่มใหม่กับใคร


“นั่นคือเหตุผลที่เมืองสุโขทัยตั้งห่างขึ้นมาจากริมน้ำยม และเป็นพื้นที่เอียงลาดขึ้นไปทางเขาหลวง ความก้าวหน้าในสมัยนั้นคือ กำแพงเมือง 3 ชั้น ที่ทำหน้าที่ ชะลอน้ำ ซึ่งไหลมาจากเขาผ่านแม่ลำพัน เข้า ฝายใหญ่ สรีดพง มาตามคลองเสาหอ ครับ” กรันบรรยาย


“ทำไมไม่ใช้น้ำจากแม่น้ำล่ะคะ อาจารย์”


“เอ้า น้ำจากแม่น้ำมันมีดินตะกอน ดื่มกินได้เสียที่ไหน หลากมาที พัดพาอะไรมาจากทางเหนือบ้างก็ไม่รู้ น้ำสะอาด ต้องมาจากภูเขา ผ่านซอกหิน ใสไหล เย็น” นัยน์สอน


“เหมือนในยุโรปไงคะ น้ำดื่มกินมาจากภูเขาแอลป์ หรือตาน้ำในภูเขาตามเขตป่าดำ ในเยอรมนี ก็เหมือนกันค่ะ”


“นี่ล่ะ เด็กๆ เชียงใหม่เองก็เหมือนกัน ตั้งอยู่ห่างจากลำน้ำปิงและรับน้ำจากดอยสุเทพ ผ่านคลองแม่ข่า แล้วไหลรอบคูเมืองเชียงใหม่ คนโบราณฉลาดในการจัดการน้ำมาก” นัยน์เสริม


“แสดงว่าตำนานเป็นเรื่องจริงหรือครับ”


“ตำนาน คือ แหล่งข้อมูลอีกอย่างหนึ่ง เราอย่าไปตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่จริงก่อน หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ หรือนักโบราณคดีคือ สกัดเอาเนื้อหาจากตำนานออกมา โลกของคนโบราณไม่ได้แยกธรรมชาติออกจากเรื่องเหนือธรรมชาตินะ เด็กๆ” นัยน์ให้แง่คิด


“วิเศษจริง โลกคือหนึ่งเดียว ไม่แบ่งจริงไม่จริง ไม่พยายามพิสูจน์อะไรจริง ไม่จริงอย่างฝรั่ง” จันนวลเสริม


“ครับ เรากลับมาที่พระเจดีย์ของเราดีกว่า เจดีย์ประจำทิศเราเห็นแล้ว เจดีย์ประจำมุมล่ะครับ ร่างภาพออกมาแล้ว เห็นเป็นยังไงกันบ้างครับ อวดให้ผมดูหน่อย” กรันสอนต่อ


“ผมว่า ออกไปทางเจดีย์ 5 ยอด แบบล้านนา นะครับ อาจารย์” นักศึกษาชายสังเกต


“สภาพล่ะ เป็นยังไง”


“สมบูรณ์กว่ากลุ่มเจดีย์ประจำทิศค่ะ”


“แบบนี้ สุโขทัย น่าจะมีความสัมพันธ์กับขอม มานานแล้วใช่ไหมค่ะ เพราะมีศิลปะขอมอยู่ด้วย และยังหักพังมากกว่า” นักศึกษาสาวตั้งข้อสังเกต


“แน่นอน” นัยน์ตอบ


“นั่นไง คราวนี้พอจะได้คำตอบหรือยัง” นัยน์ชี้ทาง


“อาจารย์กำลังจะบอกว่า เจดีย์ทั้งหมดไม่ได้สร้างในคราวเดียวกัน หรือครับ”


“แน่นอนครับ เจดีย์ประจำมุมยังสมบูรณ์อยู่มาก และแทบไม่มีศิลปะเขมรเลย เป็นศิลปะล้านนามากกว่า” กรันเอ่ย


จันนวลฟังเพลิน และตั้งใจว่าถึงกรุงเทพเมื่อไร จะต้องเก็บตัว จำศีล ในห้องสมุดเสียที ‘เราโง่เหลือเกิน ที่ไม่รู้จักบ้านเกิดเมืองนอนตัวเอง’ พลางมองหมู่พระมหาธาตุเจดีย์ และเจดีย์ประธานทรงดอกบัว


“กรันคะ เจดีย์ทิศ เจดีย์มุม นี่คือ ทิศทั้ง 8 หรือเปล่า แล้ว เจดีย์ดอกบัว คือ ศูนย์กลาง นี่คติทางเขมรเลยนะคะ คล้ายปราสาทนครวัด”


“คุณนวลเก่งจังครับ นี่ล่ะครับ สุโขทัย ศูนย์กลางแห่งจักรวาล แผ่อำนาจไปทุกทิศ” กรันเอ่ยภูมิใจ


“นวล แล้วเธอเห็นไหมว่าที่ ศรีสัชนาลัยไม่มีการสร้างเจดีย์ประธาน ล้อม 8 ทิศแบบนี้” นัยน์เสริม


“เพราะ ศรีสัชนาลัยอยู่ในตำแหน่งเมืองหน้าด่าน เป็นจุดยุทธศาสตร์ต่อแดน ล้านนา และลาวทางตะวันออกเฉียงเหนือไงครับ หากเกิดสงครามขึ้น ศรีสัชนาลัยต้องรับก่อน จะค้าขายอะไร ต้องผ่านแดนที่ศรีสัชนาลัยครับ” กรันเอ่ยด้วยความภูมิใจในบ้านเกิด


สิ่งที่กรันเล่า ทำให้จันนวลคิดถึงบันทึกท่านเจ้าคุณใหญ่ พระยาสวรรครักษราชโยธา ขณะขึ้นไปเฝ้าสังเกตการณ์บนเขาพนมเพลิง เมื่อเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ ลำปาง ที่สุดจะปะติปะต่อภาพปัจจุบันกับอดีต เข้าใจ ตำแหน่งที่ตั้งของสวรรคโลกศรีสัชนาลัยได้ดีขึ้น


“วัดมหาธาตุสุโขทัยนี้ ถือเป็นศูนย์กลางของแคว้นในการสร้างเมืองครั้งที่ 2 ศูนย์กลางเก่าจะอยู่บริเวณ วัดพระพายหลวง ซึ่งเรายังคงเห็นปราสาทแบบเขมรอยู่ เดี๋ยวเราจะไปชมกันนะครับ


7 views0 comments

Comments


bottom of page