top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๓ : ลุ่มน้ำน่านแห่งแคว้นสุโขทัย (1)




“แปลกดีนะคะ ไม่เคยได้กินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าใส่ซอสพริกเลย” จันนวลเริ่มคุย


“เป็นแบบฉบับคนสุโขทัยครับ ไม่มีที่ไหนเหมือน” กรันตอบหัวเราะ ยิ้ม


“ก็อร่อยดีนะคะ” จันนวลยิ้ม ยิ้มที่ทำให้หนุ่มใหญ่อย่างกรัน ต้องหลบตาลง หันไปอีกทางเพราะไม่มั่นใจในอารมณ์ตน


“ปลาแห้งที่นี่ ก็มาก นำ้ปลาก็เยอะ ไม่เหมือนที่ขายตามห้าง” จันนวลสังเกตสังกา


“นำ้ยมยังสมบูรณ์ดีอยู่มากครับ เป็นแม่น้ำเดียวที่ยังไม่เขื่อนใหญ่ ทางน้ำปิงมีเขื่อนภูมิพล น้ำวังสั้นมากครับ มีเขื่อนกิ่วลมดักน้ำไว้ เพราะหน้าน้ำหลาก ก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน น้ำน่านมีเขื่อนใหญ่ 2 แห่งครับ เขื่อนสิริกิติ์ ที่อุตรดิตถ์ และเขื่อนแควน้อยฯ ที่พิษณุโลก น้ำน่านไหลแรง และยาวมาก ส่วนน้ำยม มีแค่ประตูน้ำสะพานจันทร์ ที่สวรรคโลก” กรันเล่ายืดยาว


“แล้วไม่ท่วมแย่หรือคะนี่ หน้าน้ำ” จันนวลถาม


“อยากเห็น ต้องอยู่นานๆ ครับ จึงจะเข้าใจ” กรันมองลึกซึ้ง


“2 ปีพอไหมคะ กว่าจะเสร็จโครงการของยูเนสโก” จันนวลตอบซื่อ


“ไม่พอครับ น่าจะอยู่ตลอดเลย” กรันไม่หยุด รุกต่อ


“คงยากนะคะ งานการอยู่ทางนั้นหมด” สายตาคู่นั้น มีนัยลึกซึ้ง “รู้” กรันไม่ใช่เจ้าชู้เรี่ยราด ด้วยวัย ด้วยประสบการณ์ ต่างคนต่างเข้าใจความหมายในที กรัน ไม่เคยรู้สึกว่า จันนวล คือ คนแปลกหน้า จำได้ทันทีเมื่อแรกเห็นว่า เธอ คือ เด็กหญิงน้อยผมยาว พูดน้อย ถือตัว


“หน้าน้ำ นำ้ยมจะเอ่อท่วมกินพื้นที่กว้าง ตะกอนดินจากทางเหนือทำให้ดินศรีสัชนาลัยสวรรคโลกอุดมด้วยอาหารครับ พอน้ำลด ส่วนหนึ่งจะขังอยู่ตาม บึง บ่อ ช่วยให้พื้นที่แถวนั้นไม่ขาดน้ำใช้ น้ำกินจะมาจากเขาที่ติดกับลำปางครับ ตอนนี้เป็นอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย คนมักจะจำสลับกับอุทยานประวัติศาสตร์ครับ”


จันนวลทึ่งในใจ คนคนนี้ช่างรู้ดี รักบ้านเกิด เป็นปราชญ์ท้องถิ่น


“น้ำยมเชี่ยวมากครับ ลึก แคบ สมัยก่อนเวลาล่องซุงกันจะต้องผูกเป็นกระดูกงู คือ ผูกเป็นแพกว้างไม่ได้ ต้องยาวเป็นท่อนๆ ไป”


“สวรรคโลกมีการทำป่าไม้ด้วยหรือคะ”


“ไม่มากครับ เรามีไม่สักไม่มาก ไม้ส่วนใหญ่ล่องมาจากทางเมืองแพร่ ล่องมาถึง แก่งหลวง ตรงศรีสัชนาลัย ที่เราไปเมื่อวานไงครับ จะต้องแก้ไม้ออก เพราะ ติดแก่งหิน พักไว้ขึ้นตามหาดริมยม แล้วผูกซุงใหม่ตามแนวยาวแล้วล่องต่อลงมา เสียดายเมื่อวานไม่มีเวลาพอ ไม่อย่างนั้นจะพาคุณนวลไปดูแก่งหลวง”


“น่าสนใจจังค่ะ ข้อมูลแบบนี้ คนส่วนมากไม่น่าจะรู้”


“ครับ ส่วนใหญ่คิดว่ามาแค่เที่ยวดูเจดีย์วัดวาเก่าๆ แล้วก็กลับ” กรันถอนใจ


จันนวลกลับมาที่เรื่องน้ำปลา “น้ำยมปลาชุมมากครับ โดยเฉพาะตั้งแต่บ้านกง เอ่อ อำเภอ กงไกรลาส น่ะครับ ต่อแดนกับทางพิษณุโลก จะเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมทุกปี แต่ชาวบ้านไม่เดือดร้อนนะครับ กลับชอบเสียอีก เพราะปลาเยอะมาก บ้านกง นี่เป็นแหล่งหมักน้ำปลาเลย ที่คุณนวลเห็นอยู่นี่ล่ะ ครับ น้ำปลาบ้านกง”


“อย่างที่เด็กๆ เราเรียนกัน ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จันนวลนึกได้


“ใช่เลยครับ อย่างที่คุณนวลบอก ทะเลหลวง แม่น้ำใหญ่ ก็คือน้ำมันท่วม เอื้อให้ปลูกข้าวได้ไงครับ คนโบราณเขาไม่เดือดร้อน เพราะอยู่อาศัยกันแถวเมืองเก่านี่ ที่มันลาดสูงขึ้นมา แต่เดี๋ยวนี้ไปสร้างเมืองใหม่แถวริมน้ำ มันเลยท่วมหนักไงครับ ทุกปีมีข่าว เก็บของกับแทบไม่ทัน”


“ผิดที่ผิดทางกันไปหมด อ่ออ ฉันพอจะนึกออกแล้วค่ะ เคยได้ยิน ยายอ่อน บ้านที่คลองชักพระ พูดว่า น้ำปลาบ้านกงส่งมาจากสวรรคโลก” กรันยิ้มกว้าง


“ดูท่าทางบ้านท่านนายพลที่นี่กับที่กรุงเทพจะโยงกันตลอด นะครับ”


“ค่ะ แม่รักบ้านที่นี่ พอๆ กับที่บางกอกน้อย ที่นั่นเป็นบ้านเกิด ที่นี่เป็นเรือนตาย” จันนวลเสียงเอื่อยไป

เสียงนัยน์ดังไล่หลังมา เรียกให้ขึ้นรถไปเที่ยวชมโบราณสถานต่อ


แดดยามบ่ายอ่อน สาดแรงแทบจะมอดไหม้ไปกันหมด ตัดกับฟ้าสีสด หากเป็นที่ยุโรปอากาศคงหนาวเย็นติดลบ หากฟ้าใสกระจ่างแบบนี้ ยิ่งแดดแรง ยิ่งขับให้องค์พระในวิหารดูเด่นขึ้นชัดตา


“ทำไมสร้างแคบติดตัวองค์พระอย่างนี้ล่ะครับ ดูอึดอัด” เสียงนักศึกษาโพล่งขึ้น


“เฮ้ยย ไอ้หนุ่มนี่ ใจร้อนจริง” นัยน์แซว

จันนวลเอง สะดุด นิ่งอยู่ที่ปากประตู ความรู้สึกหลายหลากประดัง อัดอั้น จนทำให้ น้ำตาไหลพรู


“คุณนวล คุณนวล คุณนวล ...” กรัน กระตุกดึง สติ จันนวลกลับมา


“งาม งาม ฉันไม่รู้จะพูดยังไง กรัน มันเหมือนท่าน ถามฉันว่า หายไปไหนมา กลับมาแล้วหรือ”

จันนวลเองก็ไม่รู้ตัวนักว่าพูดออกไปได้อย่างไร และ นั่น คือ ความรู้สึกที่อัดแน่นอยู่ เดินๆ เข้าไปที่องค์พระ และกราบลงที่ปลายนิ่วที่ช้อนอ่อนช้อยขึ้น ความอบอุ่นแผ่ซ่านทั้วตัวจันนวล


“นวล เป็นอะไร เธอไหวไหม แดดร้อนไป หรือเปล่า” นัยน์ถามด้วยความเป็นห่วง

“เปล่า นัยน์ ขอโทษที่ทำให้ตกใจ ฉันรู้สึกว่าพระพุทธรูปองค์นี้งามมาก” จันนวลตอบ

เด็กๆ พากันหยุด หันมามอง


“ต่อเลยค่ะ เด็กๆ พี่กำลังรอฟัง ว่ายังไงนะคะ” จันนวลแก้เหตุเฉพาะหน้า

นัยน์ท้าวความเรื่อตัวอาคารที่ก่อแนบองค์พระอจนะ “อาคารแบบนี้ เราเรียกว่า คันธกุฎี ถ้าเด็กๆ สังเกต ที่วัดมหาธาตุก็จะมีลักษณะอาคารก่อแนบพระพุทธรูปแบบนี้”

“ครับ การสร้างคันธกุฎีแนบองค์พระแบบนี้ เพื่อเตือนให้นึกถึงความเรียบง่าย พอดีๆ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ไงครับ...


ใครเคยไปปฏิบัติธรรมตามวัดป่าไหมครับ สังเกตไหมว่า กุฏิที่พักจะเล็กแคบพอดีตัว นี่ล่ะครับปริศนาธรรมนับแต่ยุคสมัยสุโขทัย”

จันนวลรู้สึกทึ่งในศรัทธาของชาวสุโขทัยโบราณ อุตสาหสร้างพระพุทธรูปใหญ่โต สง่างามได้เช่นนี้


“ต้องมีศรัทธาขนาดไหนกันคะนี่ ถึงจะสร้างพระพุทธรูปใหญ่โตได้ขนาดนี้” จันนวลหันไปทางกรัน


“คุณนวลหลับตา ทำใจนิ่งๆ สัก 10 วินาทีครับ ...

ความศรัทธานั้น เท่ากับที่คุณนวลรู้สึกครับ เพราะความศรัทธาจะชั่งได้ก็ด้วยแรงศรัทธา เราถึงมีพุทธศาสนาสืบต่อกันมาได้ยังไงล่ะครับ”


‘จริงสินะ หากเราศรัทธาอะไร ย่อมจะเกิดกำลังและความมุ่งมั่น’ จันนวลคิด


“อาจารย์ขา ที่กำแพงมีช่องด้วยค่ะ ทางลับ ดำดิน หรือคะ” เสียงฮาดังขึ้น


“แหม เจ้านี่ จำเรื่องขอมดำดินได้แม่นเชียวนะ ไม่ใช่!

เป็นทางเดินประทักษิณ สมัยก่อนเคยเปิดให้เข้าไปได้ แต่เดี๋ยวนี้ ไม่อนุญาตแล้ว เพราะความปลอดภัย ข้างในมีภาพฝาผนังด้วยนะ เป็นพุทธประวัติ


“คุณนวลเคยได้ยินเรื่องพระพูดได้ไหมครับ” กรันเอ่ยชวนคุย

“ยังไงคะ”

“เล่ากันมาว่าในสมัยอยุธยา น่าจะเป็นพระนเรศวร จะไปรบ ต้องมากราบพระอจนะที่วัดศรีชุมนี่ แล้วจะมีพระแอบขึ้นไปทางช่องประตู คุณนนวลดูช่องที่ด้านข้างสิครับ นั่นล่ะท่านจะพูดออกมาท่านช่องนั้นครับ”


“สมัยก่อนคงเปิดช่องไว้ระบายอากาศน่ะ นวล” นัยน์เสริม


“ฉันก็คิดแบบนั้น ไม่อย่างนั้น คงหายใจไม่ออก”

เด็กนักศึกษาสาวช่างสงสัย “อาจารย์ขา ทางเหนือก็มีชื่อวัด ศรีชุม หลายแห่งนะคะ ทำไมชื่อมันซ้ำๆ กัน”


“อึม... หากให้ผมเดานะ น่าจะเกี่ยวข้องกับประเพณีทางล้านนานะ วัดศรีชุมนี่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเก่านอกกำแพงเมือง สมัยโบราณ เมื่อออกไปนอกเมือง รบทัพจับศึกอะไรก็ตาม เวลาเข้าเมือง จะเข้าทางทิศเหนือ ทิศเหนือจึงเป็นทิศมงคลไงล่ะ”


“น่าจะจริงนะคะ ศรี แปลว่า งาม ดี ชุม หมายถึง เข้ารวมกัน รวมๆ คือ ความดีงามมารวมกัน”


“โบราณคดี สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ ภาษา แยกออกจากกันไม่ได้จริงๆ นะครับ” กรันเอ่ย


“ภาษาเป็นเรื่องที่โกหก ปรุงแต่งยากค่ะ โกหกได้ ก็ไม่เสมอต้นเสมอท้าย ถึงมีเครื่องจับเท็จไงล่ะคะ”


“นั่นสิครับ ผมเคยได้ยินว่านักวิชาการบางท่าน บอกว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงเป็นของสร้างขึ้นสมัยหลัง ผมว่าใครมันจะมานั่งสลักหิน ตัวอักษรโบราณอีก จะเก่งขนาดนั้นเลยหรือ”


“เป็นไปได้ยากค่ะ ภาษาโบราณมันสืบสร้างกันได้ เอาภาษาแต่ละสมัย แต่ละตระกูลมาวิเคราะห์ ก็รู้ได้ว่ามีที่มาที่ไปยังไง”


บ่ายจัด แดดอ่อนลงมาก ไม่ร้อนผลาญอย่างเมื่อเที่ยง คณะของนัยน์นำหน้าไปพิษณุโลก กรันและจันนวลขับตามไป


กรันรู้สึกเก้อเขินทุกครั้งเมื่ออยู่กับจันนวลลำพัง และต้องชวนคุยเพื่อหลบความเขินนั้น


“เรากำลังลงไปศูนย์กลางที่ 2 ของสุโขทัยครับ คุณนวลเคยไปพิษณุโลกไหมครับ”


7 views0 comments

Comments


bottom of page