top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๓ : ลุ่มน้ำน่านแห่งแคว้นสุโขทัย (2)



“คุณพ่อ คุณปู่ คุณทวด ทั้ง 3 ท่านรับราชการทหารอยู่ที่พิษณุโลกหมดเลยค่ะ เท่าที่จำความได้ สมัยก่อนคุณแม่พานั่งรถไฟมาเยี่ยมคุณพ่อ แม่เหนื่อยมาก เพราะต้องขึ้นลงกรุงเทพ พิษณุโลก ตลอด ยังดี มีพลทหารมาช่วยขนของ หยิบจับ”


“อ้อ ถ้าอย่างนั้นคงคุ้นเคยดีนะครับ”


“ไม่เลยค่ะ จำได้แต่ พระพุทธชินราช ค่ะ แต่ก็ไม่ได้ไปกราบท่านมา ร่วม 20 ปีแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ไป น่าจะก่อนเข้ามหาวิทยาลัย แม่เคยเล่าว่า นวลไปวิ่งเล่นในวัดแล้วหายตัวไป คนตามหากัน กลัวจะตกน้ำตายไป สุดท้าย นวลไปซ่อนอยู่หลังองค์พระพุทธชินราช หลับไปตั้งนาน”


“โห ซนนะครับนี้ ปีนเข้าไปได้ ถึงด้านหลังองค์พระ”


“ดีใจจังคะ กรัน ที่จะได้กราบท่านอีก คิดถึงมาก”


น้ำเสียงเรียบ แต่แผ่ซ่านซาบเข้าขั้วหัวใจของกรัน กรันไม่เคยรู้สึกร้อนผ่าวอย่างนี้มานาน ใช่ มันไม่ใช่ความรัก ความชอบ อย่างหนุ่มสาว ทว่าคือ ความอุ่นใจ มั่นคง จะทำอย่างไร ที่จะครองใจเธอคนนี้

เธอที่รักอิสระ มั่นใจ รักษาระยะห่าง ใกล้เหมือนไกล สง่าเหมือนนางหงส์



รถแล่นมาถึงที่พักเล็กๆ ดูสบาย ริมน้ำน่าน “ที่นี่ไม่ไกลจากวัดใหญ่ เอ่อ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ครับ”


“ก็คือ วัดพระพุทธชินราช ใช่ไหมคะ”


“ครับ โรงแรมนี่เพื่อนผมเป็นเจ้าของ เราเลยได้ราคาพิเศษ พร้อมอาหารเช้า พรุ่งนี้เช้า เราจะไปกราบท่านที่วัดใหญ่กัน และคงได้ข้ามไปที่พระราชวังจันทน์ ฝั่งตรงข้ามด้วย” กรันส่งจันนวลเข้าห้องพัก ด้วยใจเต้นแรง


คืนเดือนหงาย แสงเดือนส่องพอให้เห็นโค้งน้ำน่าน ใหญ่ทะมึน ต้นน้ำเจ้าพระยา ดูยิ่งใหญ่ สงบงาม จันนวลเปิดประตูระเบียงรับลม เพราะไม่ชอบความเย็นของเครื่องปรับอากาศ ใจอยากอ่านบันทึกท่านเจ้าคุณใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หยิบมาด้วย กลัวจะฉีกขาด เพราะกระดาษเก่ามากแล้ว ต้องเบามือทุกครั้งที่อ่าน


ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้หลับเป็นตาย หลังอาบน้ำเสร็จ กลิ่นหอมของ

โคโลญจน์ลอยไปข้างห้อง


‘หนุ่มใหญ่เมืองสวรรคโลก หวั่นไหว และจะห้ามใจได้อีกนานเท่าไร’

เสียงนกที่ระเบียงร้อง ปลุกจันนวลขึ้นตามเวลาที่เคย ตี 5 แล้ว ลุกขึ้นล้างหน้าล้างตา มุ่นมวยผมขึ้น แต่งหน้าตาให้ดูสดชื่น และไม่ลืม โคโลญจน์กลิ่นโปรด


“ขอโทษคะ อาหารเช้ายังไม่พร้อม รอสักครู่นะคะ” พนักงานโรงแรมบอก


“อ่อ... ไม่รบกวนค่ะ อยากออกไปเดิมเล่นตรงริมน้ำน่าน เอ.... ตรงนี้ใกล้วัดใหญ่ใช่ไหมคะ พระออกบิณฑบาตไหมคะ”


“มีค่ะ เดินไปทางท้ายวัดนะคะ เดินเลียบไปตามถนน พุทธบูชา นะคะ พอผ่านหน้าวัดจะมีถนน ตัดซ้าย เลี้ยวซ้ายเดินตรงไปถึงตลาดค่ะ”


จันนวลยิ้มขอบคุณ

ฟ้าเริ่มแจ้ง ออกเรื่อๆ อากาศดี และติดจะเย็นอยู่บ้าง จันนวลกระชับผ้าคลุมไหล่ เดินตามหญิงชราถือตะกร้าดอกไม้


“ป้าไปวัดใหญ่จ้ะ เอาดอกไม้ น้ำมะพร้าวไปถวายพ่อใหญ่ท่าน”

จันนวลเดินตามสตรีสูงวัย ถึงหน้าประตูวัด ยังไม่ทัน 6 โมงเช้าดี วัดเงียบสงบ พอมีผู้คนบ้าง ต่างมารอเข้าพระวิหาร


ไม่ทันได้คิดนึกอะไร บานประตูไม้หนาหนัก ประดับมุกไฟเปิดออก องค์พระพุทธชินราช ปรากฏตรงหน้า สุกอร่าม ‘งามไม่วางตา’ คือ เช่นนี้เอง งามจนไม่รู้คำบรรยาย งามที่ใจรู้สึก

จันนวลนั่งลง กราบลงตรงหน้า “พ่อใหญ่” น้ำตาไหลอาบแก้ม ไม่รู้เหตุผล ความรู้สึกต่างๆ อัดอั้น พรั่งพรูออกมาทางน้ำตา ใจรู้แค่เพียง คิดถึง และ คิดถึง


“หนูสวดมนต์บูชาพ่อใหญ่เป็นไหม นี่แน่ะ ลุงให้” คุณลุงผู้ดูแลพระวิหารมอบบทสวดมนต์ให้จันนวล

จันนวลสวดบูชาพระพุทธชินราช 3 จบ และนั่งนิ่งๆ อย่างนั้น นาน ....

ใกล้ 7 โมงแล้ว กลับโรงแรมน่าจะดี เผื่อ นัยน์ กรัน ตื่นมา จะถามหา

เมื่อถึง โรงแรม กรัน ยืนรับลมอยู่หน้าโรงแรม “คุณนวลไปไหนมาครับ”


“ตั้งใจว่าจะไปตักบาตร แต่แวะวัดใหญ่กราบ พระพุทธชินราช ก่อน นั่งเพลินเดินไปไม่ถึงตลาดค่ะ”

“อ้าว ชิงไปก่อนเสียแล้ว”


“ไปแล้วก็ไปอีกได้ค่ะ วัดใหญ่เช้าๆ ไม่มีคน สงบดีจังคะ”

“ขึ้นไปกินข้าวเช้าเถอะครับ เสร็จแล้วเราจะไปวัดใหญ่กัน รถไฟของไอ้นัยน์กับเด็กๆ ออกบ่าย 3 โมง เราฝากกระเป๋าที่นี่ ส่งนัยน์ขึ้นรถไฟแล้ว เราค่อยกลับสวรรคโลกกัน”

จันนวลยิ้มรับ เดินตามกรันไป รู้สึกชื่นชมที่วางแผนไว้เป็นตอนๆ


“เด็กๆ แม่น้ำข้างหน้าเรานี่คือ ...”

“แม่น้ำน่านครับ” เด็กนักศึกษา ตอบขันแข็ง


“ถูกต้อง ก่อนที่เราจะศึกษาวิเคราะห์งานศิลปะวัตถุ โบราณสถานอะไร เราต้องวิเคราะห์ตัวพื้นที่ก่อน ใช่ไหม เด็กๆ เรียกว่า อะไรนะ”


“ภูมิวัฒนธรรม ค่ะ”

“ดีมาก สอนไม่เสียข้าวสุก” นัยน์เย้า เสียงเฮฮาดังสนุกสนาน

“ครับ ในสมัยโบราณ เมืองพิษณุโลกนี้ ชื่อว่า เมืองสองแคว ชื่อ พิษณุโลก นี่ มาตั้งเอาใหม่ น่าจะสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนต้น และยังมีอีกชื่อหนึ่ง เมืองชัยนาท ผมจำไม่ได้แน่ว่าชื่อไหนมาก่อน แต่ที่สุด ชื่อที่เรียกกัน คือ พิษณุโลก ...


สองแคว คือ มีแม่น้ำ 2 สาย สายหนึ่งคือ แม่น้ำน่านที่เราเห็นอยู่ อีกสายหนึ่ง เรียกว่า แม่น้ำน้อย ไหลโอบเมืองไปทางด้านหลัง แต่ปัจจุบัน แม่น้ำได้เปลี่ยนทาง และตื้นเขินหมดแล้วครับ”


“เด็กๆ เมืองสองแควนี่ ถือว่าอยู่ในเขตอำนาจของแคว้นสุโขทัย ในช่วงสักประมาณปลายสมัยพญาลิไท กษัตริย์วงศ์พระร่วงลำดับที่ 6 ก็ตก พ.ศ. 1900 กว่านี่ล่ะ ...

ตอนนั้น กรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นแล้ว และเริ่มสะสมอำนาจขยายพื้นที่ ขึ้นมาด้านบน ซึ่งเป็นพื้นที่ในอำนาจสุโขทัย อีกอย่างนะ เด็กๆ สุโขทัยแผ่อำนาจออกไปทางตะวันออกมาก อาจจะถึงทางหล่มสักเลยก็ได้ เรียกว่า ปิดทางข้ามไปเมืองลาวเลย อยุธยาเอง ก็อยากจะแผ่อำนาจด้วยเหมือนกัน” นัยน์บรรยายออกรส


“ครับ ในช่วงท้ายรัชกาลของพญาลิไท ท่านเสด็จฯ มาประทับที่เมืองสองแควนี่ หลังจากที่มีเหตุขัดแย้งกับกรุงศรีอยุธยา เล่ากันว่า ท่านเจรจาขอเมืองสองแควคืนจากกรุงศรีอยุธยา และคงมีการตกลงกัน คืนเมืองให้ แต่ต้องเสด็จมาประทับ อะไรทำนองนี้ครับอยู่นานนะครับ ตั้ง 6-7 ปี” กรันเสริม ช่วยนัยน์


“อ้าว ตายจริง แล้วท่านต้องทิ้งสุโขทัยลงมาหรือคะ นี่ 6-7 ปีนี่ไม่น้อยเลย” จันนวลตั้งข้อสังเกต


“เป็นประเด็นที่น่าสนใจนะนวล คือ นักประวัติศาสตร์ก็สงสัยกันว่า ทำไม เมืองสองแควจึงมีความสำคัญขนาดนั้น” นัยน์


“คือในช่วงปลายรัชกาลพญาลิไท บ้านเมืองมอญไม่สงบสุขสักเท่าไร เพราะพม่าซึ่งไม่มีทางออกทะเลก็ต้องการตีเมืองมอญให้ได้ไงล่ะ คราวนี้ สงครามระหว่างมอญ พม่า ก็ทำให้ สุโขทัย ไม่สามารถออกทะเลทางเมาะตะมะได้ สุโขทัยถึงได้แผ่อำนาจลงไปถึงเมือง นครชุม หรือ กำแพงเพชร แต่อยุธยาก็ไม่ยอมหรอกนะ หลังๆ ก็ยันขึ้นมา เอาล่ะสิ ทางตะวันออก แม่น้ำน่านเป็นหัวใจเลยนะ เพราะมันข้ามไปลาวได้ ตั้งแต่อุตรดิตถ์ น่าน นครไทย หล่มสัก เทือกโน้น อยุธยาจะยอมได้ยังไง” นัยน์เล่าออกรสชาติ

“แต่ฉันก็นับถือ พญาลิไทนะ จะยังไงก็ต่อรองได้ แสดงว่าท่านก็ต้องมีดีอยู่เหมือนกัน”


“ใช่นวล เราจะมาหาคำตอบกัน”

มือหนึ่งจับที่ข้อศอกจันนวลเบาๆ รั้งไว้ไม่ให้เดินต่อ “สักครู่ครับคุณนวล ...


เด็กๆ ครับ ความงามขององค์พระพุทธชินราช เลืองลือถือเป็น “ที่สุด” แห่งศิลปะสุโขทัย แต่ก่อนที่เราจะเข้าไปกราบท่าน ผมอยากพาทุกคนไป กราบองค์ผู้สร้างพระพุทธชินราชกันก่อน” กรันนำทางไปที่ข้างพระวิหาร มีศาลากรุกระจก


“ครับ นี่คือ พระมหาธรรมราชา พญาลิไท กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งวงศ์พระร่วงเจ้า ท่านมีศักดิเป็นหลานของพ่อขุนรามคำแหง ท่านเป็นผู้สร้างพระพุทธชินราช ครับ” กรันเล่าท้าวความเป็นมา

เพียงแวบเดียว เมื่อจันนวลเงยหน้าขึ้นมา ชายรูปร่างสมส่วน โจงกระเบนผ้าโปร่งสีออกนวลเหลือง คาดเข็มขัดทองคำ สองมือประคองไหล่จันนวลขึ้น จันนวลรู้สึกตกใจ ทว่าอบอุ่นอย่างล้ำลึก

ชั่วพริบตาเดียว จันนวลหลับตาลึก ชายคนนั้นหากไป เหลือเพียงเสียง “ลูกเอ๋ย”

จันนวลเซ นัยน์จับแขนไว้ทัน แต่สายตาอีกคู่ไม่พอใจนัก


“นวล เป็นอะไร”


“ไม่เป็นไร ลุกเร็วเกินไป แก่แล้วนะจ๊ะ อาจารย์”


ทุกคนเดินตามกันเข้าพระวิหาร ดูท่าฟ้าดินเป็นใจวันนี้ คนไม่ค่อยมากอย่างเคย

จันนวลเอื้อมมือไปเกี่ยวแขนกรันไว้ ประคองตัวให้เดินตรง เพราะทางเดินไม่เรียบ

กรันใจเต้นแรง เมื่อข้างตัวเขาขณะนี้ มีคนที่เขาแอบชมชอบ มาอยู่ใกล้


“เดิมองค์พระพุทธชินราช หล่อด้วยสำริด ไม่เป็นทองสุกปลั่งแบบนี้ ต่อมาด้วยแรงศรัทธาของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ปิดทองถวาย ตัวพระวิหารก็ตกแต่งประดับกระจก จนแทบมองไม่เห็นความเป็นสุโขทัยเอาเสียแล้ว” นัยน์เริ่มบรรยาย


“ผมเคยเห็นอยู่ครั้งหนึ่งครับ ตอนบูรณะปิดทองใหม่ ลอกเอาทองเก่าออก งามกว่าองค์สีทองแบบนี้ครับ ให้ความรู้สึกที่เรียบง่าย ไม่โอ่อ่า” กรันเสริมนัยน์

“จริง” ท่านมีพี่น้องด้วยนะ พญาลิไทท่านหล่อพระคราวเดียว ๓ องค์ องค์แรก คือ พระศรีศาสดา องค์ที่ ๒ คือ พระพุทธชินสีห์ และ องค์สุดท้องคือ พระพุทธชินราช วิหารที่เราอยู่ตรงนี้ คือ วิหารฝั่งตะวันตก หันหน้าเข้าแม่น้ำน่าน พระศรีศาสดาเดิม ท่านประจำทิศเหนือ และพระพุทธชินสีห์ ประจำทิศใต้ สมัยเริ่มคงไม่ได้มีระเบียงคดล้อมแบบนี้ น่าจะโปร่งโล่ง สบายๆ แบบสุโขทัย” นัยน์เสริม


“ครับ น่าเสียดายว่า ปัจจุบันเหลือเพียงพระพุทธชินราชองค์เดียวที่ยังอยู่ที่นี่ อีก ๒ องค์ได้ชะลอไปไว้ที่กรุงเทพแล้ว เพราะหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ บ้านเมืองแถบนี้รกร้าง ผู้คนหนีกระจัดกระจาย เมื่องตอนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ขุนนาง เชื้อพระวงศ์บางท่าน ได้ขึ้นมาเชิญ

พระพุทธรูปงามๆ ลงไป เพราะกลัวว่าจะถูกลักขโมย ตัดเศียร และผมคิดว่า เวลานั้น ขวัญกำลังใจ สำคัญที่สุด แต่หากจะรอ สร้างพระขนาด ก็คงอีกนาน บ้านเมืองยังไม่สงบดี จึงเชิญจากเมืองเหนือนี่ง่ายกว่า ทางสุโขทัยก็ชิญลงไปหลายองค์นะครับ” กรันเล่า

เด็กนักศึกษา ต่างจับจองมุมของตัวเองเพื่อร่างภาพ บางคนตั้งใจจะลงสีเมื่อกลับถึงกรุงเทพ นัยน์บรรยายต่อเนื่อง


“คนไทยส่วนใหญ่ ยกย่องให้ พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุด และมักจะถามกันว่า ใช้อะไรวัด เชื่อไหม ตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่าใช้อะไรวัด บางครั้ง ความงามต้องใช้ ใจ มอง วัดด้วยความรู้สึก และผมก็เชื่อว่า คนไทยที่มากราบท่าน ก็คงรู้สึก สัมผัส ความงามนี้ เพราะทุกคนก็พูด “งาม งาม แต่ไม่รู้จะพูดเป็นคำอย่างไร”


“อาจารย์ครับ ทำไมนิ้วของท่านยาวเท่ากันล่ะครับ ที่ศรีสัชนาลัย สุโขทัย ไม่เท่ากันนะครับ”


“เออ ไอ้นี่ช่างสังเกต พญาลิไท ท่านมีชื่อเสียงจดจำกันได้มาจนทุกวันนี้ว่าเป็นกษัตริย์ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ท่านบวช ๒ ครั้ง ๒ คราว เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว ก็ยังออกบวช ถือว่ามีศรัทธาสูงมาก....

ความศรัทธาย่อมมีที่มาที่ไป และพัฒนาการ ผมคิดว่าพระพุทธรูปงามๆ ส่วนใหญ่ในเมืองศรีสัชนาลัย พญาลิไทน่าจะเป็นผู้สร้าง สร้างเจดีย์ ก็น่าจะสร้างพระพุทธรูปด้วย เมื่อท่านขึ้นเป็นกษัตริย์ ท่านก็ปรุงความงามนี้ขึ้นถึงขั้นสุด คือ พระศรีศาสดา พระพุทธชินสีห์ และพระพุทธชินราช นิ้วที่ยาวเท่ากัน แสดงถึง ลักษณะสัตบุรุษ ดีงามเลิศกว่า มนุษย์ ซึ่งนิ้วยาวไม่เท่ากัน”

“อีก ๒ องค์ ไปอยู่ที่ไหนแล้วล่ะ นัยน์” จันนวลเอ่ยถาม


9 views0 comments

Comments


bottom of page