top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๓ : ลุ่มน้ำน่านแห่งแคว้นสุโขทัย (3)



“วัดบวรนิเวศน จ่ะ นวล ... องค์พี่ใหญ่ คือ พระศรีศาสดานี่ รู้สึกว่าขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๓ เชิญลงไป สมัยนั้น นิยมสร้างวัดวาอารามกันมาก มีการเชิญพระพุทธรูปจากเมืองเหนือทั้งสุโขทัย พิษณุโลก ลงไปมาก ส่วนองค์พี่รอง พระพุทธชินสีห์ กรมหมื่นมหาศักดิพลเสพ สมเด็จวังหน้าสมัยรัชกาลที่ ๓ เชิญลงไป เล่ากันว่า คนพิษณุโลกร้องห่มร้องไห้กันระงม”


“ผมก็คิดแบบ อาจารย์ นัยน์ ...สมัยพ่อขุนรามคำแหง เรามีข้อมูลน้อยมากครับ แทบไม่รู้เลยว่าท่านสร้างพระเจดีย์ พระพุทธรูปอะไรไว้บ้าง อีกอย่าง หากเราดูหมู่พระเจดีย์ที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย สมัยก่อนพญาลิไท น่าจะเป็นเจดีย์ 5 ยอดที่รับอิทธิพลเขมร ล้านนา ผมเลยคิดว่า ไม่น่าจะสอดคล้องกับพุทธศิลป์แบบที่เราเห็นในศรีสัชนาลัย หรือ ที่พิษณุโลกนี่ครับ” กรันเสริม

ทั้งกลุ่มกราบพระพุทธชินราช ลาออกมาจากพระวิหาร เดินอ้อมไปด้านหลังชมพระอัฎฐารส


“สีน่าเกลียดจริงๆ บูรณะกันยังไง ออกมาเป็นลิเกแบบนี้” นัยน์บ่น


“เด็กๆ ครับเป็นความนิยมที่จะสร้างพระอัฎฐารสในสมัยสุโขทัยนะครับ อย่างที่เราเห็นที่วัดตะพานหิน แต่องค์นั้นดูจะงามกว่ามาก องค์ที่เราเห็นอยู่นี้ผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง ของเดิมที่ผมเห็นจากภาพถ่าย ก็ทรุดโทรมจนแทบไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว” กรันบรรยายต่อ


เดินเฉียงออกไปไม่มาก เป็นมุมที่จะมองเห็นพระมหาธาตุแห่งเมืองพิษณุโลกได้ชัดถนัดตา นัยน์จึงเริ่ม


“เอ้า ตอบมา พระธาตุที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ เป็นศิลปะแบบไหน”


“อยุธยา แน่นอนครับ”


“ถูกต้อง เก่งหรือจำแม่นนะ เรา หากเราดูองค์พระธาตุส่วนบน เรารู้ทันทีว่านี่คือทรงปรางค์ ถือเป็นงาน master piece ในสมัยอยุธยาตอนต้นเลยก็ว่าได้ แต่หากดูจากฐานพระปรางค์นี้ ชวนให้คิดว่า เดิมในสมัยพญาลิไทคงจะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัว อย่างที่ยังเห็นอยู่องค์หนึ่งที่วัดเจดีย์ยอดทอง ไม่ไกลจากที่นี่

การสร้างพระธาตุทรงปรางค์ครอบนี่ ย่อมแสดงให้เห็นอะไรบางอย่างคือ การประกาศอำนาจของกรุงศรีอยุธยาในแถบลุ่มน้ำน่านนี้


สันนิษฐานกันว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นผู้โปรดให้สร้างพระปรางค์ครอบ เพราะพระองค์ท่านเองเสด็จขึ้นมาประทับที่เมืองพิษณุโลกอยู่นาน เรียกว่าตลอดช่วงปลายรัชสมัยเลยก็ว่าได้ ตอนนั้น หัวเมืองเหนือมีความสำคัญมาก เพราะสามารถออกไปเมืองลาว เวียงจันทน์ ได้ และอีกทางคือ ล้านนา พม่า หากไม่สามารถยันทัพไว้ที่เมืองพิษณุโลกได้ กรุงศรีอยุธยาก็จะอยู่ในฐานะลำบาก การออกมายันทัพไว้ที่นี่จึงสำคัญมาก”


“นัยน์ พระปรางค์องค์นี้ เรียกได้ว่าเป็นแฝดกับพระบรมธาตุเชลียงที่เราไปมาเมื่อวานเลยนะ”


“ใช่เลยนวล นวลคิดต่อสิว่าทำไม...”


จันนวลคิดพิจารณารอบด้าน จึงเดาไป “ฉันคิดว่าสมเด็จพระบรมไตรฯ คงจะโปรดให้ครอบพระปรางค์ทั้ง 2 องค์นี้ในเวลาไล่ๆ กัน อย่างที่ นัยน์บอก ศรีสัชนาลัย หรือ สวรรคโลก ใช่ไหม เมืองเดียวกันใช่ไหม เป็นจุดต่อแดนล้านนาทางเหนือ ถ้าเป็นแบบนี้ แสดงว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์นะ”


“ใช่เลยนวล เราก็คิดแบบนี้ การครอบทับด้วยพระปรางค์เป็นการบอกขอบขัณฑสีมาของอยุธยา ในสมัยอยุธยาตอนต้น สวรรคโลกเคยถูก ล้านนายึดไปตั้งนานสองนาน 7 ปีล่ะมัง ล้านนาเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามใหม่ เป็นเชียงชื่น สมเด็จพระบรมไตรฯ ท่านไปตียึดคืนมาได้ เลยเปลี่ยนชือ เป็นสวรรคโลก”


“ซึ่งคล้องเข้ากับชื่อ พิษณุโลก เมืองของพระวิษณุ ซึ่งเป็นสมมติเทพของกษัตริย์ ส่วนอีกเมืองเป็นโลกแห่งสวรรค์”


“เก่งจังเลยครับ คุณนวล ตรงนี้ ผมขอเสริมนะครับ การที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรง “กล้า” ครอบพระเจดีย์องค์เดิม ก็เพราะว่า แม่ของท่านเป็นเจ้าหญิงองค์หนึ่งในฝ่ายสุโขทัย การผนวกดินแดนสมัยก่อน จะใช้วิธี กินดอง แต่งงานกัน ท่านจึงมีสิทธิอันชอบธรรม” กรันต่อความ


“แล้วทำไมไม่ครอบที่วัดมหาธาตุสุโขทัยล่ะคะ อาจารย์”


“เป็นคำถามที่ดี ผมมองว่า ท่านไม่ได้ครอบหมู่พระเจดีย์วัดมหาธาตุ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ เคารพบูชาพระญาติฝ่ายแม่ ซึ่งสืบเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ท่านเองครึ่งหนึ่งก็คือ สุโขทัย ในอีกด้านหนึ่ง ขณะนั้น ศูนย์กลางเมืองเหนือไม่ใช่ลุ่มน้ำยมอีกต่อไป แต่คือ ลุ่มน้ำน่าน ซึ่งมีการค้าขายคึกคักมาก แถบย่านเมืองพิชัย จุดต่อแดนทางลาวเหมือนกัน ส่วนที่ต้องครอบองค์พระบรมธาตุเชลียงก็เพราะที่นั่น คือ หมุดหมายบอกเขตแดน เป็นเมืองหน้าด่าน ที่กรุงศรีอยุธยาไม่ยอมให้ให้ใครล้ำเข้ามาได้”


“จริงครับ ในแถบเมืองเหนือนี่ หรือทางล้านนา พม่า จะใช้พระธาตุเป็นหมุดหมายตา อย่างพระธาตุช่อแฮนี่ เมื่อเห็นองค์พระธาตุก็รู้ได้ทันทีว่าเข้าเขตเมืองแพร่แล้ว หากเห็นพระธาตุแช่แห้งนั่น คือ เมืองน่าน หรือพระธาตุอินทร์แขวน ก็เข้าเขตเมืองมอญ” กรันเสริม

กรัน ภูมิใจเชื้อสายฝ่ายปู่ ฝ่ายพ่อ นัก สล่าไม้เมืองแพร่ แม้ใครหน้าไหนอาจตราหน้าเป็นพวก เงี้ยว

หลังมื้อเที่ยงสบายๆ


“สมัยผมเด็กๆ ร้านก๋วยเตี๋ยวแบบนี้จะอยู่ริมน้ำน่านครับ โต๊ะไม้ง่ายๆ ต่อเรียงยาวกันไป นั่งหน้าหันออกแม่น้ำน่าน เลยเรียกก๋วยเตี๋ยวห้อยขา ร้านนี้ เพื่อนผมเป็นเจ้าของ เป็นเขยเมืองสองแคว คิวแน่นมาก ผมต้องสั่งเตรียมไว้คนละ 2 ชามเลย คุณนวลทานน้อยไปไหม” กรันชวนคุย ดูสบายอารมณ์


“ไม่ล่ะค่ะ แค่นี้ก็อิ่มมากแล้ว เครื่องถึงดีนะคะ เหมือนก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยนะคะ มีถั่วฝักยาวด้วย เหมือนที่แม่เคยทำให้กินตอนเด็กๆ”


“รู้จักก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยด้วยหรือครับ เก่งนะนี่ มาอยู่ไม่กี่วันเอง”


“ตอนเด็กๆ หากพ่อแม่ลงไปกรุงเทพเยี่ยม ก็มักจะทำให้กิน


‘เด็กๆ ต้องรู้ว่าบ้านเกิดพ่อเขากินอะไรกัน’


ท่านนายพลขวัญสรวงมักพูดเช่นนี้เสมอ


“เฮ้ย ไอ้เสือ จีบอะไรแม่นวล” นัยน์แซวจนกรันหน้าแดงอาย


“ชวนคุยเรื่อยเปื่อย เล่าเรื่องก๋วยเตี๋ยวห้อยขาน่ะ รถไฟนายออกกี่โมง”


“ยังพอมีเวลา ไปเที่ยววัดราชบูรณะกันดีกว่า”


วิหาร 2 หลังเรียบง่ายท่ามกลางร่มไม้ครึ้ม พื้นกระเบื้องดินเผาเย็นสบายเท้า กรอบหน้าต่างเรียบสอาด ไม่ตกแต่งรุงรัง ดาลประตูไม้เป็นไม้สักเนื้อดี หลังคาโปร่งโล่ง ลมโกรกเย็นสบาย พระประธานทองสุกปลั่ง ยิ่งดูสงบงามท่ามกลางความเรียบง่าย ‘นี่สินะ งามอย่างสุโขทัยแท้’


“สบายตาจังเลย นัยน์ ดูเรียบง่ายไปหมด”


“ใช่นวล ดูสิ ดูองค์พระประธานสิ แม้จะปิดทอง แต่กลับดูไม่หรูหราเกินงาม หลังคาวิหารแแบบสุโขทัยนี่จะลาดลง ช่วยบังแสงได้ดี เวลาฝนตก มันก็ไม่ค่อยสาดเท่าไร เพราะน้ำฝนจะไหลลงพื้นเร็ว ตัวลองคิดดูสิว่า หากพระพุทธชินราชอยู่ในวิหารแบบนี้จะงามแค่ไหน”


“จริงด้วย พระพุทธชินราชแม้จะอยู่ในพระวิหารใหญ่ ตกแต่งอลังการ แต่องค์ท่านกลับดูเรียบๆ นะ นัยน์”


“งามสมส่วน สบายตา ครับ” เสียงนายกรันดังมาทางด้านหลัง


“ไอ้กรัน มันกำลังสร้างศาลาการเปรียญที่วัดกลาง ริมน้ำยมน่ะ นวล เห็นว่าจะสร้างแบบโบราณเลย ถึงไหนแล้ววะ ไอ้เสือ”


ทั้งสองคุยกันเรื่องแบบศาลาการเปรียญ จันนวลแยกตัวไป กราบพระทองคำ และนั่งรับลมบนพื้นกระเบื้องดินเผา สักพักทั้งหมดจึงไปที่สถานีรถไฟ เตรียมตัวกลับกรุงเทพมหานคร


สถานีรถไฟตามต่างจังหวัดดูสวยคลาสสิค เหมือนหยุดเวลาไว้ ไม่เร่งรีบ จันนวลเดินถ่ายรูปหัวรถจักรไอน้ำที่ตั้งอยู่หน้าสถานี ผู้คนบ้านเมืองดูไม่เร่งรีบ พลางคิด ‘เมืองใหญ่แบบนี้นี่เอง ทั้งคุณทวด คุณปู่ คุณพ่อ จึงภูมิใจมากเหลือเกินที่ได้มารับราชการที่นี่’


“นวล แล้วจะกลับกรุงเทพเมื่อไร ถึงแล้วก็บอกกันด้วย จะได้นัดกันคุยเรื่องงาน UNESCO” พลางหันไปกำชับกรันให้ดูแลจันนวล ส่งถึงบ้าน


“อีกสัก 2 - 3 วัน นะ นัยน์ มีเรื่องบ้านที่ทาง ต้องสะสางนิดหน่อย ไม่งั้นแม่ลำพาบ่นแย่” จันนวลตอบ


เด็กๆ นักศึกษากล่าวขอบคุณ และลาจันนวล กรัน ทั้งสองยืนส่งจนรถไฟวิ่งพ้นสายตา


“เหนื่อยไหมครับ หิวไหม หรืออยากซื้ออะไรไหมครับ ที่พิษณุโลกนี่มีห้างใหญ่นะครับ แถวบ้านเราไม่มี” กรันถาม


“ไม่ล่ะค่ะ ข้าวของที่บ้านน่าจะมีพอ ของกินอะไรๆ แม่ลำพาทำเองเสียหมด แทบจะไม่ต้องซื้ออะไรเลย”


“ถ้าอย่างนั้น เรากลับกันเลย คงถึงสวรรคโลกไม่เกิน 6 โมงเย็น วันนี้ผมไปทานข้าวด้วยได้ไหม” กรันเริ่มรุกเข้าหาจันนวลมากขึ้น จันนวลเองก็รู้ แต่ยังคงรักษาระยะห่าง เพราะไม่อยากสร้างความผูกพันอะไรไว้ที่นี่ หากเธอตัดสินใจกลับไปยุโรป


“กรัน อยากทานอะไร เดี๋ยวถามแม่ลำพาก่อนว่าทำทันไหม”


สายตาหนุ่มใหญ่หลุบต่ำลงด้วยความเขิน ไรจอนที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวประปรายขับให้ใบหน้าผิวคร้ามแดดดูมีเสน่ห์มากขึ้น เสื้อลายสก็อตซีดจาง บอกว่า กรัน ไม่ใช่คนสำอางนัก ผมสั้นมีขาวแซมไม่ได้ทำให้กรันดูแก่ แต่ภูมิฐาน


“ทานเป็นของยำนะคะ เย็นแล้วอย่าทานอะไรหนักท้อง”


กรันยิ้มรับ ใจเต้นแรง อย่างน้อยเธอได้เข้าใกล้จันนวลไปอีกก้าวหนึ่ง


เสน่ห์อย่างหนึ่งของต่างจังหวัด อย่างเมืองสวรรคโลก คือ กับข้าวกับปลา วัตถุดิบเครื่องเคราเครื่องปรุงสดใหม่ไปหมด ยำถั่วพูกุ้งสด ไข่เจียวปู น้ำแกงตำลึงเต้าหู้ และยำผักกวางตุ้งน้ำมันงา ทุกอย่างไม่ใส่ผงปรุงรสเลย


“กุ้งนี่มาใหม่ๆ จากทางแม่สอดเลยค่ะ ข้ามมาจากเมืองมอญ สดดีจัง ที่ตลาดเก็บไว้ให้ ป้าไม่พลาด คุณกรันชอบจริง ของทะเลนี่” แม่ลำพาเล่าขณะจัดโต๊ะ


กรันมักจะฝากท้องที่นี่ เพราะยายเภาต้องดูแลหนูบัว ลูกสาวของกรัน ทำแต่กับข้าวเด็ก กรันเองก็ไม่อยากกวน ส่วนมากฝากท้องไว้ที่ตลาดซอย 8 หรือ ขอข้าวแม่ลำพากิน เพราะต้องทำให้คนในบ้าน 2 - 3 คนอยู่ทุกวัน


จันนวลเองชอบ ข้าว ที่นี่ เพราะเหมือนกับที่ยายอ่อน หุงให้กิน “ข้าวพระร่วงเมืองสวรรคโลก” ยายอ่อนเรียกแบบนี่ เป็นพันธุ์ที่ปลูกในเมืองนี้ ทางสุโขทัยก็ปลูกอีกพันธุ์


จันนวลเลือกกินแต่แต่ถั่วพู คอยตักกุ้งให้นายกรันกิน แลซดน้ำแกง


“คุณนวลทานนิดเดียวเอง จะหิวแย่”


“ไม่เอาล่ะค่ะ ดึกแล้ว ทานมากไม่ได้ ไม่ย่อย นอนไม่หลับ เราแก่กันแล้วนะ”


“แก่อะไรกัน ผมเพิ่งจะ 43 เอง”


จันนวลอ่อนกว่ากรัน 5 ปี รุ่นเดียวกับพี่แจ้ง กรันอารมณ์ดีอย่างประหลาด จนแม่ลำพาผิดสังเกต ปกติ กรัน ไม่ใช่คนพูดมาก คุยเล่นบ้าง แต่ติดจะขรึมมากกว่า


ค่ำมากแล้ว จันนวลนอนไม่หลับ พะวงถึงแต่หนุ่มใหญ่รอยยิ้ม และดวงตามุ่งมั่นจริงจัง เธอคุ้นหน้าท่าทางผู้ชายคนนี้ แต่นึกไม่ออกว่าเคยพบเจอที่ไหน


แม่ลำพาให้เด็กมาดูแลที่หลับที่นอนขึ้นมุ้งหลังใหม่ให้ มุ้งเม็ดพริกไทสีขาวขุ่น นุ่มนวลมือ ผ้าฝ้ายเนื้อดี


‘ในสวรรคโลกเหลืออยู่ไม่กี่บ้านแล้วค่ะ ที่ยังทำมุ้งฝ้ายเนื้อดีอย่างนี้’ แม่ลำพาเล่าขณะพาจันนวลเดินตลาด เมื่อคราวที่แล้ว


‘บันทึก’ ตายจริงไม่ได้อ่านตั้งหลายวัน


รศ. ๑๒๑


ข้าหลวงเมืองลำปางโทรเลขแจ้งมาว่า เหตุระหองระแหงใหนหมู่ชาวสยามกับเงี้ยวมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จริงๆ ฉันมองว่าพวกเงี้ยวก็เป็นไทอย่างเรา ผิดกันก็แต่เรื่องภาษา ส่วนใหญ่เข้ามาทำมาหากิน รักสงบ มีบ้างก็แต่เงี้ยวในบังคับอังกฤษ ที่ออกจะ กร่าง อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ก่อเรื่องก่อเหตุใดๆ ฉันว่าระเบียบมณฑลแบบใหม่นี่ ยังจะไม่เข้าที่เข้าทางนัก ขุนนางสยามเอง บางทีก็ไม่ค่อยรู้ขนบประเพณีทางล้านนาสักเท่าไร ฤาแม้แต่ของสวรรคโลกบ้านเรา วันก่อนพวกเห็นวงมังคลเภรี ก็หัวร่อกันว่าไม่เคยเห็นเครื่องดนตรีหัวเมือง ฟังไม่เปนเพลง ฉันนี่ขึ้งทีเดียว กลองมังคลเภรีนี่ สืบไปถึงเมืองลังกาเลยนะ พ่อเคยเล่าว่ามากับขบวนพระสงฆ์ลังกา สมัยก่อนแห่พระ ขึ้นภนมเพลิง ก็มีกระบวนกลองมังคลเภรีนำ เสียงกึกก้อง สะท้านทีเดียว


เรื่องเงี้ยวนี่ ฉันล่ะกลัวใจจริงว่า สักวันจะเปนเรื่องเปนราว ระหว่างคนสยามกับคนท้องถิ่น สวรรคโลกเองก็คอยรวังรไว เพราะติดกับเมืองแพร่ ทางเมืองด้ง ทางทุ่งเสลี่ยมก็ติดกับเมืองเถิน ลงไปก็ออกไปเมืองระแหง คนงานในบังคับอังกฤษอยู่ทั่ว น้ำยมนี่เชื่อมขึ้นไปถึงเมืองแพร่ เมืองสอง เมืองงาว หากเกิดอะไร บ้าน เรานี่ก็จะแย่ไม่น้อย พวกคนงานผูกซุงแถว แก่งหลวง นี่ก็มี ลาว เงี้ยว อยู่ไม่น้อย แต่ฉันจะไม่ยอมให้ บ้าน ฉันวุ่นวายเดดขาดเทียว



มณฑลเทศาภิบาล รศ. ๑๒๑


จะเรียกว่าเปนโชคคงไม่ผิดนัก ที่สุดฉันได้เข้าประจำที่มณฑลพระพิศณุโลกย ด้วยไม่ไกลจากสวรรคโลกมากนัก ท่านเจ้าคุณ เชย เหนว่าเป็นคนท้องที่ น่าจะช่วยราชการได้มากโขอยู่ อีกข้อ ไม่นานจากนี้ คงมีการทำทางรถไฟขึ้นมาทางสายเหนือแน่นอน เหนว่าเริ่มมีการประมูล การวางแผนเส้นทางกันแล้ว แต่แนวรางต่างๆ ยังไม่นิ่งเสียเท่าไร แรกๆ เหตุ รศ ๑๑๒ สอนให้เราชาวสยามรู้ว่าจะไว้ใจใครนั้น เปนไปได้ยากนัก ต่างฝ่ายก็มีแต่รุมเทื้อ ฉีกเนื้อหนังแย่งกิน ซ้ำยังหมิ่นหยามชาวพื้นเมืองอย่างเราๆ ขี้เกียจบ้างล่ะ สกปรกบ้างล่ะ ก่อนจะเข้าประจำการ มีหมายเรียกตัวฉันลงไปพระนคร พบพระยายนตรจักรราชกิจ ท่านว่าหยากให้ฉันได้ไปดูงานรถไฟเพิ่มเติมที่เพ่อสร้างเสรจไป สายที่แยกจากบ้านพาชี ไปปากเพรียว หินลับ ที่นายช่างลูอิส ไวเลอร์ เคยคุมงาน เรื่องนายช่างลูอิสท่านนี้ ก็มีความหยากเล่าถึง ด้วยเปนคนมีน้ำใจงาม แต่ขอเกบไว้ก่อน ต่อคราวหน้าได้มีเวลาจะได้ลงเขียนอีก อย่างที่เคยฟังเขามา เส้นทางรถไฟสายพระนคร - โคลาด นี่ โหดร้ายเสียเกินกล่าว ป่าดงพญาไฟ นี่เอาชีวิตคนมานักต่อนัก แรงงานกุลีจีน แขก ล้มตายด้วยไข้ป่าเปนเบือ บ้างถูกเสือลากไปก็มี แต่ที่สุดก็สร้างได้เสรจสิ้น จากโคลาดนี้ ท่านเจ้าคุณยนตรฯ ว่าจะต้องสร้างทางรถไฟไปประชิดชายแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้เรว และจะมีอีกเส้นทางที่นายช่างชาวบริเตน วางแผนไว้ คือสายหนองคาย เพื่อขึ้นไปยันฝรั่งเศสอีกข้าง แล้วจะเอาเงินทองจากไหน เส้นทางขึ้นไปหนองคายท่านว่าไม่ยาก แต่ฉันเหนว่าจะมีคนใช้สักเท่าไร จริงว่าเปนเส้นทางเกวียนมีพ่อค้าวัวต่างลงมาค้าขายที่โคลาดกันมากอยู่ แต่พ่อค้าเขาจะใช้รถไฟฤา อย่างนี้ ฉันเหนมากับตาตอนที่ตามนายช่างเกียรสไปตรวจทางที่ปากเพรียว หินลับ ท่านเจ้าคุณยนตรหยากให้ฉันออกสำรวจ แถบนางรอง จะหย่างไร รถไฟจะต้องต่อไปถึงมณฑลลาวกาวโดยเรวที่สุด ท่านว่าเราเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปแล้ว จ่ายจนเรียกว่าหมดตัว ก็ไม่ผิดนัก จะยอมเสียฝั่งขวาอีก คงยอมไม่ได้


ห่วงก็แต่แม่พรรณ เมียรัก แต่งงานไม่เท่าไร ฉันก็ต้องจากบ้านอีกแล้ว แล้วนี่หากมีลูกจะทำอย่างไรดี


6 views0 comments

Recent Posts

See All

Comentarios


bottom of page