top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๔ : สวรรควรนายก (1)



ย่ำรุ่ง จันนวลตื่นเช้าอย่างเคย ‘หอมสอาด’ เป็นอย่างนี้เอง อากาศที่สวรรคโลกชวนให้สูดลึก จนไม่ผ่อนลมออก อย่างเคยจันนวลล้างหน้าล้างตา มุ่นมวยผม เปิดหน้าต่างออกกว้าง เห็นแนวโค้งแม่ยมอยู่ลิบๆ อย่างที่กรันว่า


‘คนแถบนี้ไม่มีใครสร้างบ้านริมน้ำหรอกครับ พังกันพอดี น้ำยมฤดูน้ำหลาก เชี่ยวเอาเรื่อง เซาะตลิ่งพังหมด แต่มันก็เป็นธรรมชาติของน้ำนะครับ เราสิ ต้องปรับตัวเข้ากับเขา ปลูกต้นไม้ยึดดินไว้’


จากหน้าต่างห้องอีกด้าน มองเห็นปล่องไฟโรงหีบอ้อย ดูคลาสสิกคล้ายโรงนาอย่างฝรั่ง แม่ลำพามาเคาะเรียก


“คุณหนูรับของเช้าเลยไหมคะ วันนี้ป้าทำข้าวต้มแนมกับข้าว แบบเดิม เห็นคุณหนูชอบ”


“ดีค่ะ เดี๋ยวเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อน นวลตามลงไป”


จันนวลมักทานมือเช้าเป็นหลัก เรื่องสุขภาพก็ส่วนหนึ่ง แต่ด้วยหน้าที่การงาน พ้นมื้อเช้าไปแล้ว ก็ไม่รู้ว่ามื้อกลางวันจะได้กินสักกี่โมง อาชีพล่าม ไม่เอื้อให้กินอยู่ตามมื้อเวลา


“กาแฟ แซนด์วิช สิคะ แม่ลำพา โธ่ จะเอาเวลาที่ไหนมานั่งกินสบายๆ อย่างบ้านเราล่ะคะ” จันนวลตอบ เมื่อนางลำพาถามไถ่เรื่องกินอยู่ในต่างแดน


“คุณหนูรอป้าครู่หนึ่งนะคะ ป้าไปเอากุญแจโรงหีบอ้อยก่อน”


หลังคากระเบื้องว่าวเริ่มแตก แหงนมองขึ้นไป เห็นโครงหลังคาโปร่งมีช่องลมระบายอากาศ โครงสร้างไม้บางจุดเริ่มผุพังไปตามกาล


“ไอ้มั่น เอาไม้มาเปลี่ยนซ่อมบางจุดค่ะ ส่วนกระเบื้องว่าว คุณกรันหามาให้บ้างเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีคนทำ สมัยก่อนเล่ากันว่าเป็นหลังคาดินขอแบบทางเหนือ ล่องมาตามแม่ยมจากเมืองแพร่ เขาว่ากระเบื้องทำแถวเชียงตุงเลยนะคะ แต่ป้าก็เกิดไม่ทัน”


จันนวลเดินสำรวจดูเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ จัดวางเป็นระเบียบอย่างดี แม้จะดูสอาดสอ้าน แต่ก็ใช้งานไม่ได้ เครื่องมือส่วนใหญ่หักพังไปตามกาล ตะกร้า กระบุง จักสานต่างๆ ขาดทะลุ ทั้งหมด


“ไม่มีพลาสติกเลยนะคะ แม่ลำพา”


แม่ลำพาหัวเราะชอบใจ “จริงสินะคะ ตกมาถึงสมัยคุณหอม ก็ไม่เคยเห็นท่านใช้ข้าวของที่ทำจากพลาสติก ท่านว่าเหม็น กลิ่นมันติดกับข้าวกับปลา ใส่ของสด กลิ่นคาวก็ติดพลาสติก จะมีก็พวกเครื่องแก้ว หม้อเคลือบ บ้านเราไม่ค่อยทำกับข้าวค้าง ตู้เย็นโบราณ เก็บอะไรได้ไม่นาน คุณหอมท่าน ดองผัก ผลไม้ เก่งจริงๆ ค่ะ ผักดองนี่ ทำไปตั้งวางขายที่ตลาด เท่าไรก็ไม่พอ มะนาวดองนี่ ต้องจองล่วงหน้ากันเลย”


“นั่น ไว้ทำอะไรคะ” จันนวลพูดพลางชี้ไปที่ ท่อนไม้ใหญ่ 3 ท่อนคล้ายกลองยาวคว่ำลง ตั้งเรียงกัน ดูเหมือนเป็นเฟืองสบกันด้วย ที่ฐานมีแผ่นไม้รองไว้ ด้านบนมีไม้อีกแบบสวมทับท่อนไม้ทั้ง 3 ไว้ ไม่ให้แยกจากกัน


“อ๋อ นั้นล่ะค่ะ เครื่องหีบอ้อย สมัยก่อนไม่มีมอเตอร์ เครื่องยนต์ ต้องใช้แรงคนหรือ วัว ควาย ก็ได้ค่ะ บ้านเราใช้แต่เครื่องแบบนี้ ตั้งแต่สมัยคุณหญิงพรรณ ทำกันต่อๆ มา จนถึงสมัยคุณหอมเลยค่ะ ชาวบ้านแถวนี้ นิยมใช้มอเตอร์หีบอ้อย กลิ่นน้ำมันเครื่องมันแรง หีบอ้อย น้ำขึ้นฟองมาก เหม็นอีกต่างหาก คลุ้งไปทั่ว คุณหอมก็เลิก ไม่ยอมใช้เครื่องยนต์ บอกว่ากลิ่นน้ำมันติดน้ำอ้อย เวลาเคี่ยวจนงวด กลิ่นยิ่งแรง


จันนวลคิดพลาง ‘ชีวิตคนสมัยก่อนนี่ super organic จริงๆ’ และขอให้แม่ลำพาเรียกคนมาเลื่อนเครื่องหีบอ้อยออกมา พร้อมติดตั้งใหม่ นายมั่นเดินเข้ามาพอดี


“พี่มั่นคะ ไร่อ้อยของเราอยู่ไกลจากที่นี่ไหมคะ”


“ไม่ครับ เลยหลังบ้านเราไปหน่อยก็มี ยังมีอีกหลายที่ครับ ขึ้นไปทาง หนองเรียง คลองยาง วัดคลองปู คลองมะพลับ ก็มีครับ มีอะไรหรือเปล่าครับ”


“อยากไปดูหน่อยค่ะ ว่าไร่อ้อย หน้าตาเป็นยังไง เห็นว่าเรามีเครื่องหีบอ้อยตั้งหลายตัว น่าสนใจจัง นวลว่า นวลได้ของเล่นใหม่แล้ว”


ไม่นานนัก นายมั่นพร้อมรถกะบะมาจอดรอหน้าบ้าน จันนวลรู้สึกสนุกที่ได้มีอะไรใหม่ๆ ทำ ที่สำคัญคือ อากาศดี อยากสูดให้เต็มปอด นายมั่นขับรถพาจันนวลไปเยี่ยมชาวไร่อ้อยที่เช่าที่ของท่านเจ้าคุณใหญ่ ปลูกอ้อยทำกิน พร้อมถามไถ่ชนิดพันธุ์ต่างๆ ขั้นตอนการปลูก เก็บเกี่ยว


“กำลังปลูกเราได้แค่นี้ครับ เพราะโรงงานน้ำตาลที่พรานกระต่ายมีกำลังการผลิตเท่าที่กำหนด ปลูกมากไปก็ขายไม่ได้” ชาวไร่บอก


จันนวลขอให้ปลูกเหลืออีกสักหน่อย ช่วงปลายปีจะมาขอแบ่ง ชาวไร่ดูท่าจะงงว่าจันนวลจะเอาไปทำอะไร


ถัดไป นายมั่นขับพาไปถึงแถบ คลองมะพลับ ดูไร่ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ที่ชาวไร่รุ่นใหม่กำลังทดลองปลูกแบบอินทรีย์ ได้ความรู้มากมาย และแผนการเล่นสนุกต่างๆ เต็มหัวไปหมด จันนวลเสนอให้ปลูกเพิ่มแทนการจ่ายค่าเช่าที่


จันนวลสังเกตว่า ถนนเลียบแม่น้ำยมในสวรรคโลกนี้ เท่มากทีเดียว ทางตรงโค้งไปตามลำน้ำ แบบที่เรียกกันในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ว่า quai ‘ถนนริมน้ำ’ ขณะที่มองอะไรเพลินๆ


“พี่มั่นคะ นั่นตึกอะไร คล้ายหอสมุดแห่งชาติที่กรุงเทพเลยค่ะ”


“อ๋อ พิพิธภัณฑ์​สวรรควรนายกครับ คุณหนูอยากไปดูไหมครับ สะอาดเรี่ยม ไม่ค่อยมีคนรู้จักหรอกครับ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าสวรรคโลกเรา มีพิพิธภัณฑ์ของตัวเองด้วย ส่วนมากจะไปที่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติรามคำแหง ตรงเมืองเก่ามากกว่า”


นายมั่นเลี้ยวรถ เข้าไปจอดหน้าพิพิธภัณฑ์ ด้านข้างเห็น โครงสร้างอาคาร ดูคล้ายโถง ก่อขึ้นมา จันนวลจ่ายค่าบัตรเข้าชม ทักทายเจ้าหน้าที่ แล้วเดินชมศิลปะวัตถุต่างๆ


“ส่วนใหญ่เป็นศิลปะวัตถุของท่านอดีตเจ้าอาวาส พระสวรรควรนายก ชาวบ้านเรียกขานท่านว่า ท่านเจ้าคุณทองคำ ของเหล่านี้ มีคนมาถวายท่าน ท่านตั้งใจเก็บไว้ให้เป็นสมบัติแผ่นดินให้ลูกหลานได้ศึกษา และอีกส่วน ก็เป็นศิลปะวัตถุที่ขุดค้นเจอในบริเวณ สวรรคโลก เรา” เสียงทุ้มใหญ่ไม่ใช่ใครอื่น นายกรัน เข้ามาตรวจดูอาคารศาลาการเปรียญที่กำลังสร้างด้านข้าง เมื่อเห็นนายมั่นยืนรอ จึงรู้ความ


กรันไม่รีรอ เข้าเดินข้างจันนวลทันที ใจเต้นแรง แต่ก็ไม่อยากปล่อยให้หลุดลอยไป จันนวลเองก็ ‘หวั่นไหว’ ทว่า ‘ไม่พร้อม’ เธอมีภาระหน้าที่ และรักความเป็นส่วนตัวมาก ‘ข่มใจ’


“ท่านเจ้าคุณทองคำ หรือคะ” จันนวลพลันคิดถึง หลวงพี่ทองคำที่อ่านพบในบันทึกของพระยาสวรรครักษราชโยธา


“ครับ ท่านเป็นคนสวรรคโลก เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕​ บวชเรียนที่นี่ด้วย ที่กรุงเทพด้วย สุดท้ายท่านเลือกกลับมาบ้านเกิด มาพัฒนาครับ”


‘แน่นอนแล้ว ต้องเป็นคนเดียวกันแน่ๆ’


จันนวลยังคงนิ่ง ปิดเรื่องบันทึกไม่แพร่งพรายให้ใครรู้ เพราะยังต้องการเวลาปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับศรีสัชนาลัย สุโขทัย เข้าด้วยกัน


12 views0 comments

Comments


bottom of page