top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๒ : ถิ่นเดิม (๒)




จันนวลเดินสำรวจ ดูความทรุดโทรม หาก “ตัดสินใจ” ซ่อม ก็ต้องเตรียม ปรึกษา ทนายทรงยศ หาช่าง แต่ หาก “ตัดสินใจ” รื้อ ขายที่ดิน ก็จะต้องเตรียมวางแผนกันต่อไป คนเก่าแก่ คงแบ่งที่ดินไว้ให้ทำกิน เงินก้อนไว้ใช้จ่าย


มุมลึกเข้าไป มีฉากกั้น บุหวายตาดอกพิกุล ขาดเป็นส่วนๆ ด้วยต้านแดดต้านลมมาหลายสิบปี หรือเกือบจะร้อยปี จึงจะถูก มีโต๊ะหนังสือตัวใหญ่ เนื้อไม้ยังแน่น แม้สีน้ำตาลไหม้ จะหลุดล่อนไปตามเวลา เห็นร่องรอยการใช้งาน และเก้าอี้บุหนังสีเขียว แตกเป็นลาย


‘คงต้องเปลี่ยน บุหนังใหม่’ จันนวลคิดพลาง


ลิ้นชักปิดสนิททุกช่อง ‘ไม่มีกุญแจ ก็ทำอะไรไม่ได้’


บันไดไม้แผ่นหนาทอดขึ้นชั้น ๒ ของเรือน “ชั้นบนเป็นห้องนอนของ ท่านเจ้าคุณใหญ่ และท่านเจ้าคุณน้อยค่ะ” แม่ลำพาเล่านำ จันนวล ขมวดคิ้ว พยายามนึก


“ท่านเจ้าคุณใหญ่ เป็น ทวด ของคุณหนูไงล่ะคะ ภรรยาท่านคือ คุณหญิง พรรณ ส่วน ท่านเจ้าคุณน้อย ก็คือ ปู่ ของคุณหนู ภรรยาคือ คุณหญิงวาด ไงเจ้าคะ”


ความทรงจำเรื่อง บรรพบุรุษ เลือนลางไปตามเวลา จันนวลเอง รู้แต่ว่า ปู่ เสียชีวิตไปนาน เมื่อพ่อยังเล็ก ‘พ่อเอง ก็แทบจะจำปู่ไม่ได้’


ห้องนอนทั้งสองท่านนั้น อยู่คนละปีก แม้จะอยู่เรือนเดียวกัน ทว่าแยกเป็นสัดส่วน โถงชั้นบน โปร่ง โล่ง ตั่งไม้ตัวใหญ่ วางชิดมุมไปทางปีก คุณทวด พานกระเบื้องสีเขียวเข้มวางตรงมุมตั่ง ดูสง่า สะท้อนรสนิยมเจ้าของเรือน เหนือตั่งขึ้นไป ภาพสตรีสูงศักดิ ดูสง่า น่าเกรงขาม แขวนไว้ จันนวล คลานบนตั่งเข้าไปใกล้ ใต้ภาพมีลายมือชื่อกำกับ ‘เยาวมาลยนฤมล’ คงเป็น เจ้านาย ชั้นผู้ใหญ่สักพระองค์กระมัง



“เล่ากันต่อๆ มาว่า คุณหญิงพรรณ มักเอนหลังบนตั่งตัวนี้ค่ะ ท่านเป็นสาวชาววัง แต่ก็สมบุกสมบัน ค้าขายเก่ง ไม่ว่าจะ ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วยี่สง ใบตอง คุณหญิงท่าน ส่งขายทาง เมืองพิชัย ตรอน ลงไปถึง พิษณุโลก พานสังคโลกใบนี้ ร่วม ๑๐๐ ปีแล้วนะคะ คุณหอมว่า ‘เคยตั้งวางอย่างไร ให้ตั้งวางอย่างนั้น’ ” แม่ลำพาเล่าเพลิน


ข้างตั่ง บานประตูผลักออกไป เป็นระเบียง มองไปสุดหูสุดตา ‘เขียว’ ดังแต้มสี จันนวลมองเพลิน สบายตา สูดอากาศสะอาด ทว่า “ชื้นนะคะ แม่ลำพา”


“ค่ะ แถวนี้ ไม้ใหญ่มีมาก ทั้งฉำฉา ก้ามปู สัก ไผ่ บ้านเราใกล้น้ำยมด้วยคะ ดินแถบนี้ อิ่มน้ำยม จนรู้สึกความชื้นจากดินได้


คุณหนูมองไปทางขวาสิคะ เขียวสุดตา นั่น ไร่อ้อย ของท่านเจ้าคุณใหญ่ เจ้าคุณเล็ก ทั้งนั้น ร่วม ๕๐๐ ไร่ได้กระมัง”


“มากขนาดนั้นเลยหรือคะ” จันนวลไม่ค่อยรู้อะไร ที่จริง คือแทบไม่เคยสนใจ


“ค่ะ ไร่นาแถบนี้ สมัยก่อนไม่แพงมากนัก แต่ชาวไร่ชาวนาก็ไม่ค่อยได้เป็นเจ้าของ หนี้สินรุงรัง ได้ไม่คุ้มเสีย ยิ่งพักหลัง โรงงานน้ำตาลเปิดใหม่มีมาก คนรวยต่างถิ่น ก็กว้านซื้อ แล้วจ้างชาวบ้านปลูก แปลกไหมล่ะคะ เป็นลูกจ้างในที่ดินปู่ย่าตายายของตัว” แม่ลำพาเล่า พลางถอนใจ


“แล้วปล่องไฟหลังเรือนเล็กนั่นล่ะคะ อะไร โรงครัวหรือคะ” จันนวลถาม


“โรงหีบอ้อยไงคะ สมัยก่อน เตาน้ำอ้อย บ้านท่านเจ้าคุณน้อย นี่ ขึ้นชื่อเรื่องความหวาน สะอาด คุณหญิงวาดท่าน ดูแลเองแทบจะทุกขั้นตอน เมื่อคุณหอมออกเรือนมากับ ท่านนายพล ก็รับทอดมาจากคุณหญิงวาดเต็มๆ”


ภาพปล่องไฟ และกลิ่นหอมชานอ้อย ค่อยลอยกลับคืนมาในความทรงจำของจันนวล ‘เด็กๆ ไปเล่นที่อื่น เตาร้อนนะ แม่จะตีนะ’ จันนวลนึกถึงเมื่อยังเด็ก มักจะมาแอบจิ้มนำ้อ้อยเคี่ยวกิน บางครั้ง พลาดโดนกะทะร้อน ร้องไห้จ้า แม่จะวิ่งมาดู และ ดุ ไม่ให้ร้องไห้ ‘ซนนัก แม่บอกแล้วนะ นิ่ง ร้องไห้แม่จะตี อีกหน่อยไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ จะต้องช่วยเหลือตัวเอง ห้ามขี้แย ลูกทหาร ห้ามขี้แย’


“ตอนนี้ ยังหีบอ้อยอยู่ไหมคะ” จันนวลถาม


“บ้านเรา เลิกไปนานแล้วค่ะ ตามยุคสมัย คุณหอม ไม่อยากใช้เครื่องยนต์หีบอ้อย ท่านว่ากลิ่นควัน เจือน้ำอ้อย กรองอย่างไร ก็ยังเหม็น อยากให้หีบอ้อยอย่างโบราณ ก็ต้องมีคน เลี้ยงวัวเลี้ยงควายให้อีก เพราะต้องใช้ “เดินหีบ” คุณหอม ท่านรักทุกชีวิต ในสวรรคโลก นี่ ไม่ว่าคนในเรือน คนงาน สัตว์เลี้ยง


แต่แถวนี้ ยังทำน้ำตาลอ้อยกันอยู่ค่ะ ปลายปีคึกคักทีเดียว”


จันนวลฟังเพลิน คิดถึงแม่เหลือเกิน ทั้งรู้สึกผิดที่กลับมาไม่ทัน ดูใจ แม่


จันนวลเดินกลับเข้ามาในโถงชั้นบน เงยมองที่เพดาน ‘ช่างคิดทำเสียจริง โคมกระเบื้องสีเขียว ฉลุ โปร่งให้แสงลอดได้ เรียบ โก้’


นายมั่นเดินขึ้นมาบนเรือน พอดี “โคมนี่ ก็สังคโลกขอรับ เห็นว่ามาจาก ศรีสัชนาลัย เวลาเปลี่ยนหลอดไฟ กลัวใจเหลือเกินครับ กลัวจะร่วงลงมา”


16 views0 comments

Comments


bottom of page