top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๒ : ถิ่นเดิม (๓)




จันนวลเดินเข้าไปห้อง ท่านเจ้าคุณใหญ่ เตียงนอนไม้สักขนาดกึ่งใหญ่ ถอดแยกชิ้นส่วนวางพิงไว้ เนื้อไม้ยังสมบูรณ์อยู่มาก พลางนึก ‘พี่ขอเตียงนะ จะเอามาใช้บ้านใหม่ที่เพิ่งสร้าง ไม่ต้องซื้อหา’ พี่ แจ้ง พี่ชายของจันนวลขอเอาดื้อๆ มาทางโทรศัพท์


“ไม่ หากพี่แจ้งอยากได้ เตียง ตู้ ขอให้พี่รับบ้านสวรรคโลกไปทั้งหลัง อะไรกัน กินขนม กินแต่ไส้ แป้งห่อขนมใครจะกิน ที่ดินย่าน ราชวัตร ที่แลกไป จันว่า พอซื้อเตียงสัก ๑๐๐ หลังมังคะ” จันนวลต่อปากต่อคำ แม้ไม่ตั้งใจให้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่อยากว่า กระเทือนไปถึงพี่สะใภ้


“เครื่องแต่งตัว คุณทวด คุณย่า แบ่งไหม” พี่จง พี่ชายคนรอง ถามมา


“พี่จะใส่เองไหม หรือเอาไปให้ใคร แม่เขียนไว้ชัดเจน หากใครรับบ้านสวรรคโลกไป ให้รับไปทั้งหมด พี่จงคงเข้าใจดี สายสร้อยดอกรัก เส้นนั้น เมียพี่ไม่เข็ดหรือ ใส่แล้วเหมือนโดนรัดคอ เจ้าของท่านไม่เต็มใจ จะกล้าหรือ” นิสัยพูดตรง ไม่อ้อมค้อม จันนวลแก้ไม่หายเสียที


“กุญแจหีบไม้สักนั่น ป้าถือไว้นะคะ ในนั้นมีผ้านุ่งของท่านผู้หญิง และของคุณหอม ต้องคอยเอามาผึ่ง พับ ผืนไหม ใช้ไม่ได้แล้ว ป้าแยกเก็บไว้อีกหีบ รอคุณหนูมาสั่งการ” แม่ลำพาแจกแจง


บานตู้เสื้อผ้าคงทำขึ้นจากไม้แผ่นเดียว ด้วยไม่มีรอยต่อไม้ใดๆ สีซีดจางบ้าง แต่ยังคงทนแข็งแรง


“บานพับตู้ สนิมจับเขรอะ สมัยก่อน คุณหอมใช้เก็บเครื่องนอน หมอนผ้าห่ม เปื่อยยุ่ยเก็บทิ้งไปแล้ว กุญแจสนิมจับมาก เปิดไม่ได้ คุณ กรัน ว่าจะมาซ่อมให้ หากต้องการ”


จันนวลเอะใจ “คุณ กรัน นี่ ใจดีจังนะคะ คงต้องไปสวัสดีหน่อยแล้ว ช่วยเหลือ แม่ลำพา กับนายมั่นตลอด”


“ค่ะ เรา ๒ บ้านคุ้นกันมานาน บ้านนั้น เขาเป็นช่างไม้มือหนึ่ง รุ่นทวด รุ่นปู่ ล่องซุงกันจาก เมืองแพร่ โน่นน่ะคะ มาถึง แก่งหลวง สวรรคโลกเก่า โน่น เล่ากันว่า คึกคักมาก ยามล่องซุง”


จันนวลนึกฉงน “ทั้งแม่ลำพา และนายมั่น มีน้ำเสียงตื่นเต้นทุกครั้งไป หากเล่าเรื่องราวเก่าก่อน ซึ่งจันนวล แทบนึกไม่ออก หากมองจาก สภาพแวดล้อมบ้านเมือง ที่ออกเงียบเชียบ อย่างสวรรคโลก


ข้าวของต่างๆ ในห้องยังคงงดงามข้ามเวลา ทั้งโต๊ะเครื่องแป้ง เก้าอี้เอนหลัง


นายมั่น ยืนรออยู่หัวกระไดทางลง ดูจากสีหน้า แววตา คงอยากบอกอะไร


“มีอะไรหรือเปล่าคะ นายมั่น” จันนวลไม่อ้อมค้อมใดๆ


“ชาวไร่เขามาหา มาดู เห็นว่า ลูกหลานท่านเจ้าคุณมา น่ะขอรับ” ฟังจากน้ำเสียงนายมั่น จันนวลพอจับความกังวัลได้


“เอ่อ ก็ลือกันไปว่า คุณหนูจะขายที่ทิ้ง พวกเขาก็กังวลกัน อยากรู้ว่าใครมาซื้อไป นายทุนต่างถิ่น หรือ ท้องถิ่น จะเพิ่มค่าเช่าไหม เพิ่มสักเท่าไร” นายมั่น อ้อมแอ้ม บอกไป


“การข่าวไวจริง หนูยังไม่คิดอะไรตอนนี้ ถึงคิด ก็คงคิดไม่ออก บอกคนงานไปก่อนว่า ใช้ชีวิตกันไปเหมือนเดิม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในตอนนี้” จันนวลตอบให้คลายกังวล


เรือกสวนไร่นาอะไรนี่ จันนวลไม่เคยคิดว่าจะต้องมาเกี่ยวข้อง ทั้งรู้ว่า แม่ มาจากครอบครัวชาวสวนเดิมในคลองชักพระ บางระมาด แต่นั่นก็เพียง วิ่งเล่น ตามท้องร่อง จับลูกครอกปลาช่อน สนุกสนานตามแบบเด็กๆ หากปิดเรียน จำได้รางๆ ว่า นั่งรถไฟนานๆ กลับมา แต่ พ่อแม่ก็ไม่เคยให้รู้เห็นงานไร่ใดๆ แม้น้อย


‘จะทำอย่างไรกับไร่นาเหล่านี้’ แม้ปากจะเอ่ยไปว่าไม่ต้องกังวลใดๆ แต่ ตัวจันนวลเองกลับ หนักใจ ‘จะตัดช่องน้่อยแต่พอตัว’ ขายเสียสิ้นเรื่องสิ้นราว กลับไปอยู่ต่างประเทศ ทำงานใช้ชีวิตตามเดิม ก็อดคิดถึงคำ พ่อ ‘ทหารเขาไม่ทิ้งศพเพื่อนนะ ลูก ทำอะไร สำคัญคือ อย่าให้คนอื่นเป็นทุกข์ร้อน ชีวิตคน มีเลือดเนื้อ นวลคงไม่ลำบาก พ่อรู้ ลูกเก่ง แต่ ข้าวจานเดียว บางคน ก็หายากนะลูก และถ้าเรา หยิบยื่นให้เขาได้ นวล จะทำไหม’


คำพ่อ แวบเข้ามา พลางคิด ‘ทำให้ดีที่สุด ลองดูไปก่อน’


เงยหน้ามองกรอบหน้าต่าง ช่องลมเหนือกรอบ มีลายฉลุดูสบายตา ไม่รกหนา บางส่วนหัก บิ่นไป มีตะแกรงขึงไว้ด้านใน คงใช้กันนกเข้ามาทำรัง พื้นไม้กระดานผุแตกเป็นซีก เว้ายาวไปตามลายไม้ จันนวลชมชั้นบนเพลิน เลยออกมาส่วน “เจ้าคุณน้อย”


หน้าประตูห้องนอน เป็น โถงกว้าง เป็นมุมนั่งเล่นน่าสบาย ด้วยเก้าอี้ทรงยุโรป พนักบุหวาย ถัดไป มีจักรเย็บผ้าโบราณ ‘ถีบจักร’ เป็นแบบนี้เองด้วยไม่ใช้ไฟฟ้า ข้างจักรมี โค้มไฟตั้งพื้น


“แม่ลำพา ดูแลเรือนได้ดีมากนะคะ” จันนวลเอ่ยชม


“จักรของคุณท่าน คุณหญิงวาด ท่านมีฝีมือในการเย็บปักถักร้อย คุณแม่ของป้าเล่าว่า เครื่องแบบท่านเจ้าคุณใหญ่ ท่านเจ้าคุณน้อย นี่ คุณท่าน คอยปะชุนให้เสมอ ชีวิตทหารก็สมบุกสมบัน เป็นธรรมดา รอยชุนนี่ ไม่สังเกต แทบมองไม่เห็น คุณท่าน ค้าขายได้พอตัว แม้ไม่เท่า คุณหญิงพรรณ แต่ก็จะเอาเปรียบท่านไม่ได้ คุณหญิงพรรณนี่ พ่อค้าเจ๊ก ไม่ได้กินท่านหรอก” แม่ลำพาเล่าเสียงเบิกบาน


จันนวลนึกพลาง ‘คุณหญิงนี่คงหมายถึง คุณทวด คุณหญิงพรรณ ส่วนคุณท่านคงเป็นคุณย่า คุณหญิงวาด’

พลางคิดถึงแม่ เมื่อยังเด็ก แม้ในกรุงเทพเอง ข้าวของไม่ค่อยจะมีขาย ห้างใหญ่ๆ มีเพียงไม่แห่ง แม่ มักจะทำเองเสียทุกอย่าง ทั้งกับข้าวกับปลา ตัดเย็บผ้าม่าน เสื้อผ้าให้ลูกใส่ไปเรียน


‘จัน แม่ตัดชุดนักเรียนให้ใหม่ ผ้าไม่ขาวจัดอย่างผ้าฝรั่งสังเคราะห์นะลูก แต่ใส่สบายเชียวล่ะ ผ้าฝ้ายที่สวรรคโลกนี่ เนื้อดี อยากให้ลูกใช้ได้นานๆ ถ้าแม่มีเวลา จะลงไปกรุงเทพเยี่ยมลูกนะ คุณพ่อ อยู่ที่พิษณุโลก แม่ก็ต้องคอยไปมา ดูทั้งสองบ้าน เป็นเด็กดี ไม่ดื้อกับคุณยายนะลูก’


จดหมายของแม่ แนบมากับ ชุดนักเรียนใหม่ ปีละ 2 ชุด เป็นการปลอบใจ หากแม่ลงมาเยี่ยมที่กรุงเทพไม่ได้ พี่ๆ เอง เมื่อโตเป็นหนุ่ม ก็ไม่ยอมใส่เสื้อที่แม่ตัดให้ อ้างว่า สีไม่ขาว เอาแต่จะไปซื้อที่ร้านอย่างเดียว


อีกมุมหนึ่ง ชิดผนัง โต๊ะหนังสือตัวใหญ่ มีช่องเก็บเอกสารด้านข้าง คล้องแม่กุญแจไว้ ‘ไม่ได้ลงกุญแจ’ เมื่อเปิดออก มีกล่องไม้ใบย่อม ไม่หนักมาก ขยับไปมา คล้ายมีของอยู่ ทว่า ตัวกล่อง ลงแม่กุญแจไว้


“ลูกกุญแจ น่าจะอยู่ที่ธนาคารเหมือนกับตู้อื่นๆ ค่ะ นับแต่ สิ้นท่านเจ้าคุณน้อย ว่ากันว่า เจ้าคุณน้อย ก็เก็บกล่องนี้ไว้ ไม่เอาออกมาอีก คล้ายๆ ว่าน่าจะเป็น สมุด เอกสาร หรือ จดหมาย ป้าก็ไม่แน่ใจค่ะ”


จันนวลคิดพลาง ‘กุญแจบ้านนี้มากมายเสียจริง’


บนผนังมีภาพเก่า แขวนเรียงราย คล้ายจะเล่าเรื่องราวชีวิตคน สังเกตได้ชัดว่า มักเป็นภาพ รถไฟ หัวรถจักร รางรถไฟ สถานีรถไฟ วัด เจดีย์เก่า ไร่นา


“ท่านเจ้าคุณใหญ่และท่านเจ้าคุณน้อยเป็นทหารรถไฟ ขอรับ” ท่าทางนายมั่นอยากเล่าบ้าง


“ว่ากันว่าท่านเจ้าคุณใหญ่ พูดภาษาฝรั่งได้ด้วย เพราะเรียนกับนายช่างฝรั่งที่ทำทางรถไฟ พรุ่งนี้ ตอนไปธนาคาร จะพาคุณหนูผ่านไป ดูสถานีรถไฟ ก็ยังเหมือนอย่างในรูปนี่ล่ะ ขอรับ สวรรคโลกบ้านเรา ไม่ค่อยเปลี่ยนสักเท่าไร”


‘สวรรคโลกบ้านเรา’ คำนี้ ฟังแล้ว คุ้นเคยอย่างไรสุดจะเล่าเป็นคำ


จันนวลไล่ดูภาพเก่า รายกันไปบนผนัง เพลินตา และถามนายมั่น แม่ลำพา ราวกับได้กลับมาเยือนบ้านเก่าเมืองเกิด


“นั่นวัดพระปรางค์ค่ะ อยู่ที่สวรรคโลกเก่า ก็ศรีสัชนาลัยไงล่ะคะ” แม่ลำพาบรรยาย


ความรู้ประวัติศาสตรไทยที่เคยร่ำเรียนมาทำให้ จันนวลพอนึกได้ แลคุ้นเคยดีว่า ศรีสัชนาลัย สุโขทัย แต่ก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่านั้น


“จริงด้วยสิ ธรรมเนียมของบ้านเรา จะไปไหว้สาพระธาตุเมืองเก่าทุกปี ทำกันเรื่อยมาตั้งแต่ สมัยท่านเจ้าคุณใหญ่ อีกสัก ๒ วันดีไหมคะ คุณหนู ขึ้นไปเมืองเก่า ไหว้ พระร่วงพระลือ วัดพระปรางค์ เลยขึ้นไป ทุ่งยั้ง และ ฝาง ด้วย นะคะ ป้าจะเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบ คุณหนูมีเชื้อสายวงศ์วานที่นี่ ขึ้นไปไหว้เอาฤกษ์เอาชัยเสียหน่อย เสร็จฟากบน แล้วค่อยไป เมืองเก่า และสองแคว”


จันนวลรับคำ ด้วยไม่อยากให้เสียน้ำใจ แต่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรนัก ว่าที่ไหน เป็นอย่างไร


21 views0 comments

Comments


bottom of page