top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๔ : The World Heritage Revisited (1)

Updated: Jul 5, 2021



“Jana ! Denk wiedermal, bitte!” ศาสตราจารย์ ดร. เคลาส์ เฮงเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี แห่งมหาวิทยาลัย เวียนนา แลเคยสอน Jana หลายวิชา ทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลก แห่งองค์การยูเนสโก ทัดทานไม่ให้ จันนวลลาออกจากตำแหน่ง ล่าม ประจำองค์การสหประชาชาติ


“เดี๋ยวนี้ กลุ่มประเทศในเอเชียมีบทบาทมากขึ้น ผมเสียดาย ล่าม ที่มีประสบการณ์อย่างคุณนะ จานา” ดร. เคลาส์กล่าว ที่สุด จันนวล ตัดสินใจลาพักโดยไม่รับเงินเดือน 1 ปี


“ผมดีใจที่คุณเปลี่ยนใจ อย่างน้อยลาพัก สักปีให้สดชื่นแล้วกลับมาก็ยังดี จานา ผมมีงานสนุกๆ ให้คุณทำด้วยนะ” ดร. เคลาส์กล่าว

“ผมเพิ่งกลับจากการประชุมใหญ่ที่ UNESCO ปารีส เรามีโครงการ สำรวจมรดกโลกต่างๆ อีกครั้ง เพื่อปรับข้อมูลให้ทันสมัย มีความรู้ ความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ ผมรับผิดชอบแหล่งมรดกโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”


จันนวลตาเป็นประกาย


“คุณสนใจร่วมโครงการกับผมไหมล่ะ จานา” ดร. เคลาส์ถาม


“ในส่วนของประเทศไทย ผมอยากเริ่มที่ สุโขทัย ก่อน เพราะ เห็นว่าเป็นราชธานีเก่าแก่”


“Ja, naturlich แน่นอนค่ะ น่าสนใจทีเดียว” จันนวลตอบ แต่ไม่ได้บอกเรื่องครอบครัวของเธอก็มีเชื้อสายเป็นคนในแถบนั้น


“อีก 3 ปี เราจะจัดประชุมใหญ่ ฉลอง UNESCO ครบ 75 ปี เราต้องทำงานให้เสร็จทันนะ” ดร. เคลาส์กล่าว


‘อย่างน้อยก็มีอะไรทำแก้เบื่อ’ จันนวลคิด


‘คงพอให้ทำลืมเรื่อง ไฮนริช ประสบอุบัติเหตุ ในการแข่งรถ เสียชีวิต!’


จันนวลมองกุญแจในกล่องไม้สีเข้ม พลางคิด ‘คนสมัยก่อนนี่ ละเมียดลไมดีจริง แม้แต่กล่องเก็บของจุกจิกยังสลักเสลาลบเหลี่ยมมุม แลดูงดงาม’


“เดี๋ยวป้าให้นายมั่นไปเปิดเรือนใหญ่นะคะ บางห้องคุณหนูยังไม่ได้ดูเลย” แม่ลำพาบอก จันนวลพยักหน้ารับ


“เด็กๆ นั่น ลูกหลานใครคะ วิ่งเล่นกันสนุกเชียว ไม่กลัวลื่นตกด้วย ตลิ่งสูงด้วย” จันนวล มองไปทางตลิ่ง หน้าบ้าน ยามน้ำยมลด มองลาดลงไป เขียวชุ่มตาเสียจริง กล้วย นี่มีรายไปเลยทีเดียว ไม้อื่นๆ จันนวลแทบไม่รู้จัก


“อ้อ เด็กแถวนี้ค่ะ หลานๆ ของป้าบ้าง ลูกสาว ลูกชายป้า ก็อาศัยอยู่ที่ท้ายสวนนี่ค่ะ ตั้งใจจะเรียกมาสวัสดี คุณหนูอยู่ ตอนนี้ไปทำงานอยู่แถว ลับแล เสาร์อาทิตย์จึงจะมา” แม่ลำพาเล่า


“ดีจัง บ้านไม่เงียบ ป้ากับนายมั่น ก็ไม่เหงา”


“ไม่เหงาหรอกค่ะ ชาวบ้านแถวนี้ รู้จักกันหมด”


บานประตูเปิดออก แสงตะวันยามบ่ายสาดผ่านช่องลมฉลุลายอ่อนหวาน อยู่เรือนขนมปังขิง ยุคนิยมสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ ๖ ขับภาพวาด พระยาสวรรครักษราชโยธา ให้ยิ่งดูสง่า นัยน์ตาราวมีชีวิต จันนวลขึ้นกระได เดินดูห้องต่างๆ อีกครั้ง


“หอพระ ครับ คุณหนู” นายมั่นเอ่ยขึ้น


เรียกกันว่า หอพระ ต้องเดินขึ้นบันไดไปอีกทอด เป็นห้องแยกเดี่ยว


“ผมทำความสะอาดเรื่อยๆ ตามที่คุณหอมกำชับไว้”


ตั่งไม้ต่างขนาดตั้งซ้อนลดหลั่นกัน แลดูงามสงบ สง่า พระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงลดชั้น ดูเป็นระเบียบ


“พวกพี่ๆ เขาไม่เคยมาดู มาขอไป หรือคะ” จันนวลเอ่ยถาม


นายมั่นอ้ำอึ้ง “เอ่อ เคยครับคุณหนู เคยมาเชิญบางองค์ไป บอกว่าจะเอาไป บูชา แต่ไม่พ้นอาทิตย์หนึ่ง ก็เอามาคืน”


“ทำไมล่ะคะ”


“คุณๆ บอกว่าฝันเห็นคุณทวด หรือคนโบราณ ไปทวงคืน ไม่เป็นอันหลับอันนอน”


‘เรื่องแบบนี้ คงมีอยู่จริง คุณทวดท่านคงเห็นว่าเป็นของเรือนนี้’ จันนวล นิ่ง พลางสำรวจพระพุทธรูปต่างๆ


ด้านซ้ายมีชั้นไม้แยกจากชุดตั่งใหญ่บูชาพระ มีรูปหล่อฤาษีสององค์ ตั้งบูชาอยู่ ที่ฐานพระฤาษี ๒ องค์ “สูเจ้าจงเอาพนมเพลิงเข้าไว้ในเมือง เป็นที่สร้างพรตบูชากูณฑ์” ตัวอักษรออกเลือนๆ พออ่านจับเป็นตัวได้ จันนวลรู้สึกชอบรูปหล่อพระฤาษีทั้ง ๒ องค์นี้อย่างจับใจ อย่างหาเหตุผลไม่ได้


ตู้หนังสือไม้อย่างดี ‘คงสั่งจากเมืองฝรั่ง’ จันนวลคิด เรียงกัน ๓ ตู้ หนังสือจัดวางเป็นระเบียบ ไล่ดูเรียงไปตามชั้น ‘ทำไมมีหนังสือภาษาเยอรมันมากมายขนาดนี้ ใครกันอ่านภาษาเยอรมันได้ เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่แล้ว’ หนังสือ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเครื่องจักรยนต์ หัวรถไฟ การช่าง วรรณคดีไทย ตำราภาษา


“อุบส์”

“มีอะไรครับคุณหนู” นายมั่นถามขึ้น เมื่อได้ยินเสียงจันนวลอุทาน

“ไม่มีอะไรคะ หนังสือหล่น ซุ่มซ่ามไปหน่อย” จันนวลตอบ

‘ดูจะเป็นสมุดมากกว่าหนังสือ’ ปกหนังสีเขียวเข้มสีซีดจางไปตามกาล เล่มหนา จันนวลบรรจงเปิดออก หน้าแรก มีเพียงลายเซ็นหมึกซีดจาง


“สรวง รศ ๑๒๑”


พลิกดูผ่านๆ จึงเห็นว่าเป็นบันทึก พลางคิด ‘สนุกแน่เรา มีอะไรให้อ่านพอเพลิน ขออนุญาตนะเจ้าคะ คุณทวด’


จันนวลหยิบบันทึกเล่มหนาของพระยาสวรรครักษราชโยธาติดตัวไป ตั้งใจว่าจะนำกลับไปอ่านที่บ้านคลองชักพระ


25 views0 comments

Comments


bottom of page