top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๖ : หนุ่มสวรรคโลก (1)



อาคารทรงตึกฝรั่ง ๒ ชั้น ดูแปลกตา เด่นสง่าท่ามกลางแมกไม้ร่มครึ้มใน อาณา “วัดกลาง” ริมน้ำยม อย่างที่ชาวบ้านเรียกกัน หากชื่อทางการคือ วัดสวรรคาราม ชายหนุ่มผิวคร้ามแดดจดจ่ออยู่ที่ “แบบศาลาการเปรียญ”


“โยมกรัน อาตมาขอโทษทีต้องรอกันนาน พอดีว่าญาติโยมเชิญไปฉันเพล ชวนคุยนั่นคุยนี่ จะปลีกตัวออกมาก็เกรงใจ” ท่านเจ้าอาวาส ทัก


“มิได้ครับ พระคุณเจ้า ผมวิ่งเล่นแถวนี้มาแต่เด็ก ได้กลับมาทำงานถวายหลวงพ่อ ก็ดีใจมากแล้ว สวรรคโลกบ้านเรา จะได้มีสีสัน” กรันเอ่ยตอบอย่างถ่อมตน สถาปนิกหนุ่มเลือดศรีสัชนาลัย หรือ สวรรคโลก แท้ คร่ำหวอดในวงการออกแบบอาคารต่างๆ ระดับประเทศมามากมาย กลับเบื่อหน่ายชีวิตเมือง จนนำไปสู่ ความร้าวฉานในครอบครัว ที่สุด คือ แตกหัก กรัน เลิกกับภรรยาสาวสวย โดดเด่นในวงการอสังหาริมทรัพย์ “ศิริน” เธอ “งามตา” แต่ ไม่ “งามใจ” การบ้านการเรือน แทบไม่หยิบจับ ลูกสาวคนเดียว แก้วตาดวงใจ ของ กรัน “คุณรับลูกไปด้วยนะ ฉันคงไม่มีเวลาดูแล แต่สัญญาว่าจะพาไปเที่ยวต่างประเทศปีละครั้ง” ศิรินไม่ต้องการภาระที่เป็นอุปสรรคในการงานของเธอ


กรัน ตัดสินใจพาลูกสาวคนเดียวกลับมา “บ้าน” สวรรคโลก ท่านกลางความล้ำสมัย กรันกลับไม่ต้องการให้ลูกเติบโตแบบบ้าวัตถุ “ว่าแต่โยมไม่เสียใจเอาทีหลังนะ พาลูกมาอยู่ห่างไกลความเจริญแบบนี้” ท่านเจ้าอาวาสเอ่ย


“ไม่ขอรับ เขาชอบธรรมชาติ ที่นี่ โรงเรียนภาษาจีน อังกฤษก็มี ผมอยากให้เขาเติบโตมาเป็นคนสวรรคโลก ไม่อยากให้เขาเป็นฝรั่งหน้าไทย บ้านเรามีอะไรดีๆ อีกมาก โตแล้วค่อยว่ากันขอรับ” กรันตอบ


แปลนร่างศาลาการเปรียญหลังใหญ่วางอยู่ต่อหน้าท่านเจ้าอาวาส กรันตั้งใจจะสร้างศาลาการเปรียญหลังนี้ ไว้ฝั่งพิพิธภัณฑ์สวรรควรนายก เพียงข้ามถนนไปก็ถึง ด้วยพื้นที่ฝั่งพิพิธภัณฑ์กว้างขวางกว่า เมื่อเสร็จสมบูรณ์ ศาลาการเปรียญนี้ คงช่วยให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวากว่าเดิม ตัวอาคารเป็น ศาลาเปิดโล่ง ไม่ก่อผนังทึบ มีเสาเว้นระยะรับโครงสร้างหลังคาลาดต่ำ เกือบจรดพื้น ซ้อนกัน ๒ ชั้น ลดหลั่นกัน เน้นความงามของเนื้อไม้ “ไม่ทิ้งลาย ลูกหลานตระกูลช่างไม้นะ โยม” ท่านเจ้าอาวาสเอ่ย ขณะฟังกรันบรรยายแบบแปลน


“เสาไม้นี่ ของเก่าพอมีที่พ่อเก็บไว้บ้างครับ แต่คิดว่าคงไม่พอ อาจจะต้องสั่งจากฝั่งพม่าบ้าง คงต้องทอดผ้าป่ากันอีกหลายครั้ง” กรันหยอกท่านเจ้าอาวาส


ศาลาการเปรียญเรียบง่าย เน้นความโปร่งสบาย มีโคมไฟสังคโลก ดินเผาออกสีเขียวไข่กาประดับเป็นระยะ ความรักบ้านเกิด หลงใหลในความเป็นศรีสัชนาลัยของกรันแทรกซึมในทุกส่วนของชีวิต ผลงานการวิเคราะห์รูปแบบสถาปัตยกรรมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สร้างความตื่นเต้นในวงวิชาการสถาปัตยกรรมไทยไม่น้อยทีเดียว


บ่ายคล้อยจัด จันนวลเดินเล่นอยู่ในสวน พลางเดินไปสำรวจเรือนริมน้ำ ที่ยายอ่อนเล่าไว้ วันธรรมดา คลองชักพระสงบ งาม แม้น้ำจะดูขุ่นอยู่บ้าง แต่ก็ไหลเรื่อย ไม่เน่าเสีย ปลาออกชุกชุม หน้าเรือนมีชานกว้าง ประตูบานเฟี้ยม ลายลูกฟัก เปิดออก ๒ ข้าง เห็นคลองตรงหน้าเป็นมุมกว้าง ‘สบายตาจริง’ จันนวลนึก


“สมัยก่อน คุณท่านเคยเปิดเป็นร้านขายส่ง มะพร้าว กะท้อน ทุเรียน กำปั่น ทองย้อย สวนบ้านเรานี้ดังไปถึงแถบเมืองนนท์ ไม่แพ้บ้านยายจ่าง คลองบางกอกน้อย นั่นเทียว” ยายอ่อนเล่า


“ยังพอมีอยู่ไหมคะ ยายอ่อน ทุเรียน กะท้อน?” จันนวลเอ่ยถาม


“ในสวนบางระมาดยังเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยติดค่ะ ทุเรียนเลี้ยงยาก ต้องกั้นน้ำเค็ม พ่อไอ้ศุข นั่น มือหนึ่งเลย ไอ้ศุขก็ทำได้ เห็นห่อกะท้อนนี่ ดีทุกลูก ไม่มีร่วง ปีๆ ก็ได้เงินโขนะคะ แล้วก็ส่งขึ้นไปให้ ทางบ้านที่สวรรคโลกด้วย” ยายอ่อนเล่าเพลิน


“หนูอยากลงมาอยู่ที่เรือนนี้คะ ชอบคลอง ค่ำลงคงสงบ เช้าๆ บรรยากาศคงดีทีเดียว” จันนวลเอ่ย


“ไม่ดีมังคะ คุณหนู บ้านเมืองเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ผู้ร้ายก็มาก หากจะลงมาค้าง ต้องให้ไอ้ศุขมานอนเฝ้า ฉวยเกิดอะไร จะไม่คุ้มเสีย” ยายอ่อนทัดทาน


“นะคะ ช่วยดูห้องข้างบนให้ที อยากนั่งอ่านหนังสือทำงานที่เรือนริมคลองนี่” จันนวลรบเร้ายายอ่อน


‘ป่านนี้ ที่เวียนนาอากาศคงเย็นแล้ว’ จันนวลนึกพลาง ตั้งแต่ ไฮน์ริช จากไป เธอก็ไม่กล้า ไม่อยาก เห็นรถแข่งอีกเลย ทุกครั้งเขาออกไปแข่งรถ จันนวลใจคอไม่เคยอยู่กับตัว ‘สมองได้รับการกระเทือนมาก แม้จะผ่าตัด ก็คงไมฟื้นอีก’ นายแพทย์ซึ่งนับว่า “เก่ง เชี่ยวชาญ” ที่สุดในแถบบาวาเรีย ก็ไม่สามารถยื้อชีวิต ไฮน์ริช ไว้


“ผมอยากไปเมืองไทยกับคุณ ผมว่าง คุณก็ไม่ว่าง คุณว่าง ผมก็ติดงาน เราจะได้แต่งงานกันตามประเพณีเสียที จะ 10 ปีแล้วนะ ที่เราอยู่ด้วยกันมา” ไฮน์ริช เอ่ย


จันนวลบ่ายเบี่ยงการแต่งงานมาตลอด เพราะรักอิสรภาพ ไม่ใช่ไม่รัก


‘กับคุณ มันเกินคำว่า “รัก”คุณคือคนที่ฉันไว้ใจ ภาระคุณมากเกินกว่าที่ฉันอยากจะรู้ บริษัทรถยนต์ เรือ ขนส่ง’


ใครต่อใคร ต่างคิดว่า จันนวล โง่ มหาเศรษฐีแห่งแคว้นบาวาเรีย แต่กลับบ่ายเบี่ยง ทว่า ในสายตาจันนวล ไฮน์ริช คือ ชายหนุ่มที่ดื้อรั้น ชอบรถ เรือ เครื่องบิน และไร่ไวน์


‘ไม่สิ ทุกอย่างมันผ่านไปแล้ว เราต้องอยู่กับปัจจุบัน’ ภวังค์ หากตกลงไปบ่อยๆ จะทำให้เราขาดสติ จันนวลมักเตือนตัวเองเสมอ


คืนเดือนหงาย จันทร์ดวงกลมโต ปลายเดือนกันยายน ส่องแสงนวลตา พลางนึกถึงคำแม่ ‘ไม่ใช่ลูก ชื่อของหนู คือ จัน ลูกจัน’ จันนวลมักคิดว่า ชื่อตนคือ พระจันทร์


‘ตอนแม่ใกล้คลอดหนู ลูกจันออกลูกเต็มต้น ที่บ้านสวรรคโลก เดือนมิถุนายนต้นจันจะออกลูกสะพรั่ง หอมฟุ้งไปทั่ว ลูกกลมลูกแป้น เหลืองนวล กลิ่นนวล หอมนวล ไม่ฉุน ทั้งที่แม่แพ้อะไรต่อมิอะไร แต่ลูกจันกลับหอม’


“บ้านสวรรคโลก” นึกชื่อนี้ขึ้นมาคราวใด ก็ไพล่นึกถึง รูปหล่อฤาษีบนหอพระเรือนคุณทวดทุกครั้งไป


แสงจันทร์สาดเข้าช่องหน้าต่างลูกกรงอย่างโบราณ นายศุขสุมเปลือกส้มแห้งกันยุงไว้ให้ แล้วลาไปนอนชั้นล่าง แสงไฟจากโคมที่ปากคลองตลิ่งชัน วาวแวม แข่งแสงจันทร์ จันนวลลงมือ ร่างแผนงานที่จะต้องไปคุยกับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานมรดกโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


“สถานที่ต่างๆ ที่เป็นมรดกแห่งอารยธรรมของมนุษย์ ยังคงขาดสิ่งหนึ่งไป คือ มนุษย์ นั่นเอง เรามักปฏิบัติต่อ มรดกโลกในเชิงการท่องเที่ยว พร้อมข้อมูลประกอบ แต่ในการ ‘หวนเยือน’ (The World Heritage Revisited) ครั้งนี้ เราจะใช้ มนุษย์เป็นแกนนำ มนุษย์ผู้สร้าง อารยธรรม ความงาม และประวัติศาสตร์... ”

15 views0 comments

Comments


bottom of page