top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๘ : รถไฟสายเมืองเหนือ (2)



“นั่นสินะ ไม่รู้ทำไม ฉันว่าปราสาทเขมรดูสง่า แต่ของไทยเราดูอ่อนหวาน”


“ก็จริงอย่างเธอว่า ไม่อย่างนั้นจะยิ่งใหญ่มาเป็นพันปีเหรอ อีกสักพักก็จะถึงนครสวรรค์ละ ปากน้ำโพ ชุมแสง” นัยน์ว่า


ใจของจันนวลอยากจะหยิบบันทึกของพระยาสววรครักษราชโยธาขึ้นมาอ่าน แต่ก็ยังไม่อยากให้นัยน์เห็น บันทึกเก่ามาก ต้องมือเบา อีว่าเป็นกระดาษยุโรปโบราณ สีหมึกยังไม่ซีดมากนัก


จันนวลพักสายตาจากการอ่านวรรณกรรมเล่มเล็กที่ติดกระเป๋าไว้ ไพล่ไปสนใจชื่อสถานีต่างๆ การเดินทางคราวนี้ ทับกฤช คลองปลากด ชุมแสง บางมูลนาก ตะพานหิน วังกรด พิจิตร ฯลฯ


เผลอหลับไปเมื่อไรไม่รู้ เสียงนัยน์ดังแว่ว


“เอาล่ะ เด็กๆ ใกล้ถึงแล้วนะครับ เราอยู่พิษณุโลกแล้ว สักพัก อย่าตกใจไปหากได้ยินเสียงดัง หึ่งๆ นั่นคือ เรากำลัง ข้ามสะพานปรมินทร์ สะพานโครงเหล็กที่ทันสมัยมาก เมื่อ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้วสมัยนั้นชาวบ้านตื่นเต้นกันมาก ใครรู้บ้างครับว่า สถานีที่อยู่ตรงสะพานปรมินทร์ชื่ออะไร


เงียบไม่มีเสียงตอบ !


จันนวลเองก็ไม่เคยนั่งรถไฟเลยพิษณุโลกสักครั้ง นับว่าคราวนี้เป็นครั้งแรก


“สถานี ชุมทางบ้านดารา การข้ามแม่น้ำน่านบริเวณนี้ ถือว่าสำคัญมาก เพราะหมายความว่าเรากำลังขึ้นสูงไปเรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เชียงใหม่ เด็กๆ ลองคิดสิครับว่า ดารา หมายถึงอะไร”นัยน์ถามนักศึกษา


เงียบ!


“ดารารัศมี ครับ ฝ่าพระบาทนายหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งชื่อสถานีนี้เป็นเกียรติแด่ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี แห่งเชียงใหม่ จากสถานีนี้ รถไฟขบวนที่เรานั่งอยู่นี้จะเลี้ยวไปทางซ้าย ปลายทางสวรรคโลก ที่พวกเราจะลงกันที่นั่น จากนั้นจะวิ่งกลับไปยังบ้านดาราตามเส้นทางเดิม แล้ววิ่งขึ้นไปสถานีปลายทาง ศิลาอาสน์​ แล้วกลับกรุงเทพทันที” นักศึกษาคนหนึ่งตอบขึ้น


เสียงคนตะโกนแย่งกันถามจุดหมายปลายทางต่างๆ “วังไม้ขอน คุ้งวารี ตลาดเทศบาล” พร้อมยานพาหนะคู่ใจ สามล้อเบาะหน้า เมื่อคุยราคากันได้ ก็ตกลงไปกัน พักเดียวสถานีรถไฟสวรรคโลกก็ร้างคน มีก็แต่ชาวบ้านละแวกนั้น จูงลูกหลานมาเดินเล่นรับลม


ร่างสูงใหญ่ แต่งตัวดูทะมัดทะแมง เสื้อเชิ้ตพับแขนกลางเก่ากลางใหญ่ กางเกงยีนส์ตัวเก่งซีดจางยืนรอรับคณะของนัยน์


“นั่น เพื่อนครูเอง เสือสวรรคโลก เด็กๆ สวัสดีคุณ กรัน” นัยน์เอ่ยแซว


กรันรับไหว้ ทั้งหัวเราะรับคำแซวของเพื่อน แล้วหันมาทางจันนวล


“ผมชวนน้ามั่นมารับคุณด้วย”


นายมั่นรับกระเป๋าจากจันนวลไป จันนวลจึงนึกได้ว่าลืมบอกคนที่บ้านว่าจะมาสวรรคโลก


“ขอบคุณคะ ลืมเสียสนิทเลย”


ชั่ววินาทีขณะจันนวลเบือนหน้าไป กรันเห็นภาพซ้อนอีกครั้ง หญิงเกล้ามวยต่ำปักปิ่นเงิน คนเดียวกับที่เห็นในโบสถ์พราหมณ์


ทั้งหมดไปพักที่บ้านกรัน


“นวล จะออกมาหาอะไรกินตอนค่ำด้วยกันไหม ไอ้กรันมันบอกซอย 8 มีของกินเยอะแยะ ค่ำๆ” นัยน์เอ่ยชวน


“ไม่ล่ะ ฉันไม่กินเย็น ขอพักยืดขาหน่อย นั่งรถไฟมานานเหลือเกิน” จันนวลเอ่ยขอตัว เมื่อเห็นสายตาที่คอยมองมา ทำให้จันนวลรู้สึกประหม่าอยู่บ้าง


แม่ลำพากับบรรดาลูกหลานตัวเล็กตัวน้อย มายืนรอรับยิ้มแย้ม


“เหนื่อยไหมคะ คุณหนู นึกยังไงกันคะนี่ นั่งรถไฟกันมาคะนี่” แม่ลำพาถาม


“นัยน์ค่ะ เพื่อนสมัยเรียน รับราชการกรมศิลปากร พานักศึกษาลงพื้นที่ เลยตามเขาขึ้นมาเที่ยว ตื่นเต้นดี ไม่ได้นั่งรถไฟนานมากแล้วค่ะ แม่ลำพา สมัยก่อนก็นั่งไปหาคุณพ่อบ่อยๆ แต่ก็ขึ้นมาแค่ พิษณุโลก จำไม่ได้ว่าวกเข้ามาบ้านเราด้วย” จันนวลตอบ ชวนคุย


“คุณหนูจะทานอะไรหน่อยไหมคะ เดี๋ยวป้าเตรียมให้ มียำตะไคร้นะคะ ไม่อ้วนคะ ทานพอแก้หิว”


“ก็ดีนะคะ ฟังน่ากินทีเดียว ไม่เคยเห็นว่าเอาตะไคร้มายำได้” จันนวลรับคำ


ยำตะไคร้ ดูแล้วอยากจะเรียกว่า ยำกุ้งเสียมากกว่า ดูตัวโตบังตะไคร้เสียหมด แม่ลำพายังจำได้ดีว่าจันนวลไม่ทานผักสด เพราะเหม็นกลิ่นเขียว ถั่วฝักยาวหั่นแฉลบบางแบบนี้ คือ ฝีมือคุณหอมนวล ที่ถ่ายทอดให้คนในบ้าน ซึ่งก็รับมาจาก คุณท่าน หรือคุณหญิงเดชาสวรรคโยธิน วาด อีกชั้นหนึ่ง


“กุ้งตัวโตจังคะ สดอีกต่างหาก กุ้งแม่น้ำหรือคะ แต่รสไม่ใช่” จันนวลเอ่ยทัก


“กุ้งน้ำเค็มค่ะ มาทางเมืองตากนู่นค่ะ เห็นว่าข้ามจากทางฝั่งพม่า ไม่แพงด้วย กุ้งทางเมืองมอญตัวใหญ่ค่ะ คุณหนู” แม่ลำพาตอบ


รสยำกลมกล่อม หอมตะไคร้ หอมเจียว ใบคะน้าฝอยขมออกฝาด ตัดรสกับพริกทอด พริกสด หวานแปล่มด้วยน้ำตาลอ้อย เค็มด้วยปลาเนื้ออ่อนแห้ง


‘ตำรับแม่ แม่ไม่ค่อยใช้เครื่องปรุง แต่ใช้รสจากส่วนผสมต่างๆ ให้ตัดรสกัน’


เสียงดังเฮฮามาจากทางบ้านกรัน นี่คงมีดื่มกันแน่ๆ พลางมองไปทางตึกใหญ่ เรือนท่านเจ้าคุณสรวง พระยาสวรรครักษราชโยธา ความคิดหนึ่งผุดขึ้น


‘เราจะรักษาเรือนนี้ไว้ได้นานสักเท่าไร จะดูแลก็คงจะเกินสติปัญญา จะขายเอาตัวรอด แจกเงินให้ไปตั้งตัวกันเอง อาจจะพอช่วยได้สักระยะ ความเจริญ เทคโนโลยีรุกคืบเข้ามาทุกที’


จันนวลชอบ “ตักน้ำอาบ” มากกว่าใช้ฝักบัวรด เล่าให้ใครฟัง ดูจะเป็นเรื่องตลก “แพ้ฝักบัวรดน้ำ” จันนวลแทบจะป่วยทุกครั้ง ที่รดน้ำด้วยฝักบัว โอ่งดินเผาสังคโลกนี้ เห็นมานานเหลือเกิน สีเขียวเข้มจัดอย่างเคลือบโบราณ ก๊อกน้ำทองเหลืองอย่างเดิม ชวนให้คิดถึง พ่อและแม่ อย่างสุดหัวใจ


แม่ลำพายังคงจำได้ดี สบู่ก้อน วางเตรียมไว้ จันนวลชอบสบู่ขิง อาบแล้วรู้สึกตัวสะอาด ทั้งยังล้างออกง่าย ติว่ามีไขมาก จับพื้นเป็นคราบ


ค่ำลง แทบไม่มีเสียงใดๆ นอกจาก จิ้งหรีด และนกพิราบที่มาอาศัยนอนที่ชายคา พระจันทร์สุกสว่าง เห็นองค์พระธาตุเป็นเงาสีทองอยู่ไกลๆ เสน่ห์ของต่างจังหวัดคือ ความสงบเงียบเรียบง่าย แต่ละวันช่างยาวนาน จันนวลชอบมองปล่องควันของบ้านในแถบนี้


“สมัยก่อนแถบนี้เคี่ยวน้ำตาลอ้อยกันแทบทุกบ้านค่ะ ชานอ้อยนั่นล่ะค่ะ ฟืนชั้นดี หอมฟุ้งไปทั่ว คุณหอม แม่คุณหนูนี่ ไม่เคยห่างเตา เริ่มติดเตา ก็มีคนมาจองซื้อแล้ว” แม่ลำพาเล่าฟื้นความหลังพลางยิ้ม


จันนวลพลางนึกถึงฤษี ๒ องค์ บนเรือนใหญ่ ตั้งใจจะขึ้นไปกราบบนเรือนใหญ่ก็ลืมเสีย ทั้งคิด

‘สมัยศรีสัชนาลัย พระจันทรจะสวยส่องสว่างอย่างนี้ไหมนะ เงียบคงเงียบแน่’


สมุดบันทึกท่านเจ้าคุณเก่าคร่ำ ทุกครั้งที่เปิดออกอ่าน ต้องระวังมือกลัวจะขาด แต่ก็รู้สึกทึ่งคุณภาพกระดาษสมัยก่อน ‘ใช่สินะ คุณภาพเยอรมันเสียอย่างอะไรๆ ก็ทนทานไปหมด ร้อยกว่าปี หมึกไม่ซีดจาง เยื่อกระดาษเหนียวทนทาน’


ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑ รศ. ๑๒๑

แต่งงานกับแม่พรรณได้ไม่นาน ก็พาแม่พรรณมาเมืองสวรรคโลก เพราะตัวฉันเองต้องมาประจำการที่มณฑลพิษณุโลกย ต่อวันหยุดจึ่งได้กลับมาบ้าน เดิมทีแม่พรรณตั้งใจจะอยู่ที่เมืองพิษณุโลกยด้วยกัน แต่เห็นว่าบ้านพักทหาร จะอย่างไรเสียก็ไม่ใช่ของตัว บ้านหลวงเขาจะเอาคืนเสียเมื่อไรก็ได้ อีกข้อแม่พรรณชอบเมืองสวรรคโลกมากกว่า ที่ทางบ้านติดริมน้ำยม ดินดำน้ำชุ่มเหลือเกิน ดูท่าแล้วปลูกอะไรๆ ก็น่าจะได้หมากได้ผล เรือนออกจะคับแคบไป หากเทียบกับที่ทางที่มี ฉันสัญญากับแม่พรรณว่าจะไม่ให้ลำบาก แม่พรรณบอก “อยากให้ฉันเปนง่อยหรือ” นี่สิแม่พรรณ เมียทหารมันจะอ่อนแอที่ไหนมี


ขณะอยู่ที่พิษณุโลกย มีโทรเลขด่วนขึ้นมาจากพระนครว่าทางเมืองแพร่ พวกเงี้ยวได้เข้าปล้นบ้านเรือนและเข่นฆ่าชาวสยาม ให้รดมกำลังทหารทางหัวเมืองขึ้นไป ปราบปราม ฉันเองได้รับคำสั่งให้คุมเชิงที่เมืองสวรรคโลก ตามเส้นแม่ยม โดยเฉพาะแถวแก่งหลวง ด้วยมีเงี้ยวในบังคับอังกฤษ อยู่ไม่น้อยที่เข้ามาเปนคนงานผูกซุง


อย่างที่ฉันกลัวใจเสมอมา ความต่างภาษา ต่างกำเนิด ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน รเบียบบ้านใหม่ๆ ในบ้านเมืองขณะนี้ ผู้คนในแถบบ้านเรายังไม่คุ้นเคยกันนัก ดูท่าพวกอังกฤษจะไม่ยอมปล่อยเราไปง่ายๆ เลย นับวันก็ยิ่งเข้ามามากขึ้น ฉันไม่อยู่บ้าน ๒ ปี กลับมาคราวนี้ เงี้ยว ในบังคับอังกฤษเพิ่มจนผิดหูผิดตา ที่สถานีผูกซุงนั่น เรียกว่า ฟังภาษาสยามกันแทบไม่เข้าใจความกัน ฉันคิดว่า นี่ กระมังทำให้สยามต้องเคร่งครัดเข้มงวดเรื่องการเข้าเมืองยิ่งขึ้นอีก เดี๋ยวนี้ พวกหัวหมอจะเลี่ยงข้อผิด ก็หนีเข้าไปอยู่ในบังคับอังกฤษเสีย


เหนือแก่งหลวงขึ้นไป มีบ้านเงี้ยวในบังคับอังกฤษอยู่หลายครัว กลัวก็แต่ว่า พวกเงี้ยวบ้านบ่อแก้ว เมืองลอง จะมาร่วม หรือไม่ก็พวกที่แก่งหลวงขึ้นไปรวมกับพวกบ้านบ่อแก้ว ฉันขอแรงชาวบ้านจาก ท่าชัย ขึ้นมากันเฝ้าระวังเมือง ผลัดเวรยามกันไม่ให้คลาดตา กำลังส่วนหนึ่งให้ขึ้นไปดูลาดเลาบนภนมเพลิง ทั้งกำชับว่าอย่าได้ไปแกล้งพวกเงี้ยวผูกซุงเดดขาด พวกนี้อาจไม่รู้เหน วันๆ เหนแต่ทำงานกัน อย่าให้มีเกิดเรื่องกินแหนงกัน


แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ รศ. ๑๒๑


วันนี้ได้ขึ้นภนมเพลิงไปดูค่าย กับข้าวกับปลา ว่าพอหรือไม่ ฉันวานให้แม่พรรณเปนธุระจัดหาเสบียงกรังไว้ ไม่รู้ว่าจะเสรจเรื่องเมื่อไร เหนว่าดึกโขแล้ว จึงค้างกับพวกบนภนมเพลิงนั่น ย่ำรุ่ง จึ่งได้เหนสิ่งวิเศษอย่างที่สุด ยอดพระเจดีย์วัดเจดแถวงามเสียจริง แม้จะมีรากไม้ปกคลุม แต่ยอดเจดีย์ดอกบัวคือ ศุโขไท แท้ ศรีสัชชนาไลย อันรุ่งเรืองมาเก่าก่อน มองไล่ขึ้นมา เหนยอดพระเจดีย์ระฆังวัดช้างล้อม ในเงาไม้ แสงตวันเรื่อขึ้นเรื่อย ฉันมองไม่วางตา สวรรคโลกบ้านเรานี่ เมืองสวรรคโดยแท้ เปนแว่นแคว้นศรีสัชชนาไลยมาแต่เดิม ไม่เคยนึกว่าตัวเปนคนบ้านนอกเลย ฉันรักแผ่นดินที่นี้สุดหัวใจ แสงตวันยิ่งเรื่อ ยิ่งจะเหนยอดเจดีย์น้อยใหญ่ สลับกับยอดไม้ นี่ยังคิดว่าอยากรวมพวกกันเข้าไปถางหญ้าถางพงให้เดินได้สดวก เหนจะมีก็แต่ทางขึ้นภนมเพลิงนี่ถางกันอยู่ทุกปี ปลายปี้นี้คงได้ขึ้นมาบูชาไฟ สวดมนต์กันอีก


แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ รศ. ๑๒๑


ทางเมือง พิชัย แจ้งว่าทัพใหญ่จากพระนครกำลังขึ้นมา ท่านเจ้าคุณ เจิม นำทัพมาเอง จะอย่างไรก็คงต้องว่ากันให้เดดขาด ปล่อยไว้ไม่ได้ ชาวบ้านอกสั่นขวัญหาย ไม่เปนอันทำกิน วันนี้ให้คนท่าชัยไปสอดแนมในป่า เสาะว่ามีชาวสยามหนีมาตามป่าเขา แถบเมืองด้งฤาไม่ จักได้ช่วยเหลือ ในป่าอันตรายมากมี คนพระนครจะรู้ทางรอดได้อย่างไร


15 views0 comments

Comentarios


bottom of page