top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๙ : คุ้นเคยดั่งเก่าก่อน (2)






รถรางแล่นเรื่อย ปล่อยเขาพนมเพลิงไว้เบื้องหลัง แดดสายสาดอ่อนทั่วแคว้นศรีสัชนาลัยเดิม ไม้ใหญ่ร่มครึ้ม กรองแดดให้นวลตา มองไปทางใด ก็เขียวครึ้ม คงเป็นอย่างนายมั่นเคยพูดไว้ “ดินแถบนี้ อิ่มน้ำยมครับ”


รถรางจอดเทียบข้าง พระเจดีย์ช้างล้อม ขณะก้าวเท้าลงจากรถราง แล้วมองขึ้นไป ‘งามดั่งวาด’ จันนวลรู้สึกอบอุ่นอย่างประหลาด เหมือน ‘กลับบ้าน’


“คุณนวลครับ ไปครับเข้าไปชมพระเจดีย์กัน” กรันแตะที่หลังจันนวล เบามือ ไม่น่าเกลียดอย่างไร


“กำลังซึมซับความงาม รมรื่น ค่ะ เพลินมากทีเดียว อากาศก็ดี” จันนวลเอ่ย พร้อมก้าวเท้าเคียงไปกับกรัน


นัยน์ร่ายต่อ เมื่อเข้าใกล้พระเจดีย์ “สังเกตุดูรอบนอกนี่นะ จะเห็นว่ามีร่องรอยคูน้ำล้อมรอบ พระเจดีย์ ลักษณะแบบนี้ ในระดับบ้านเมือง เราเรียกว่า ...”


“เวียง” เสียงนักศึกษาดังขึ้น


“ถูกต้อง ดีนะ ไม่เสียแรงสอน” นัยน์รับคำตอบ


“แต่ตรงนี้ เป็นศาสนสถาน การขุดคูน้ำล้อมรอบก็แสดงให้เห็นถึงศูนย์กลางของจักรวาล คือ เขาพระสุเมรุนั่นไงล่ะ”


“คงรับคตินี้จากเขมรด้วยมั้ง นัยน์” จันนวลเสริม


“แน่น่อนเลย นวล คล้ายบารายไงล่ะ นี่ล่ะวิธีการเก็บกักน้ำของคนโบราณล่ะ”


เบื้องหน้า เจดีย์ทรงระฆังตั้งเด่นสง่า ลดหลั่นชั้นลงมา ที่ระเบียงมองเห็นพระพุทธรูปรายเรียงรอบพระเจดีย์ อยู่ไกลๆ


‘ผ่านมาได้อย่างไร ตั้ง ๗๐๐-๘๐๐ ปี รอดมือพวกงัดแงะมาได้อย่างไร’ จันนวลอดแปลกใจไม่ได้ เหมือนเทวดารักษา


“นักศึกษาครับ ลองนับดูไหมครับว่ามีช้างทั้งหมดกี่เชือก เชือกไหนมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด และต่างจากเชือกอื่นอย่างไร ใครมือเร็ว จะเขียนรูปก็ได้นะคะ ร่างๆ เอา ผมว่ามีเสน่หฺ์ดี” กรันอารมณ์ดีทุกครั้ง เมื่อได้มาเที่ยวเล่นในอุทยานฯ


พลันเสียง อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์สมัยเรียน ก็แว่วขึ้นในหัวจันนวล


‘ศาสนาพุทธนี่เกิดในอินเดีย มาเบ่งบานเติบโตในลังกา ครั้งหนึ่งพระเจ้าอโศกได้พระราชทานพระไตรปิฎกเพื่อให้ไปเผยแผ่ในลังกา อัญเชิญพระไตรปิฎกไว้บนหลังช้าง แล้วลงเรือไป ระหว่างทางเจอมรสุมซัดเรือแตกแต่ช้างเหล่านั้นก็ตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงลังกา โดยพระไตรปิฎกไม่เสียหายแม้แต่น้อย ไงน่ะหรือ แม่นวล ช้างขึ้นฝั่งก็ขาดใจตายลงทันที เลยเป็นประเพณีนิยมเมื่อสร้างพระสถูปเจดีย์ ก็ช้างล้อมฐานสื่อว่า ช้างเป็นสัตว์ที่คำ้จุนพระพุทธศาสนา’


“นัยน์ เธอจำที่ อาจารย์บรรยายได้ไหม สมัยก่อนนั่งฟ้ากันปากค้างตาค้าง เรียนไม่มีเบื่อ!”


นักศึกษา บ้างก็วิ่งรอบพระเจดีย์ สังเกตสังกาช้างแต่เชือก หาข้อต่างข้อเหมือน บ้างนั่งลงร่างภาพ เพียงพริบตาก็เสร็จ วันนี้ แคว้นศรีสัชนาลัยดูมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง เหล่าช้างล้อม คงมีความสุขพลอยยิ้งเล่นหัวไปกับนักศึกษาด้วย


“ผมว่าช้างที่มุมทั้งสี่ ตัวใหญ่กว่าช้างที่ล้อมรอบพระเจดีย์ครับ มีเครื่องประดับด้วย” นักศึกษาเอ่ยขึ้น


“ใช่ครับ ช้างประจำทิศทั้ง ๔ จะใหญ่กว่าและมีรายละเอียดตกแต่งมากกว่า เพราะอยู่ประจำทิศ และช้างทั้งหมดไม่ได้มีลำตัวติดกับพระเจดีย์ และ “ลอยตัว” จึงเป็นไปได้ว่า ช้างล้อม นี่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นตกแต่งในภายหลัง” กรันบรรยายต่อ

‘เสียงนายกรัน มีเสน่ห์ชวนฟัง การทอด เว้น จังหวะ ทำให้เดาได้ว่าเป็นคน “มั่นใจ” ติดจะดื้อรั้นด้วยซ้ำ’


เสียงเด็กหญิง บัว หัวเราะร่วน เล่นไปกับพี่ๆ มีความสุข ‘วัยเด็กช่างขาวสะอาด’


“ตำแหน่งที่เรายืนกันอยู่นี่ เรียกกันว่าลานประทักษิณ คาดเดากันว่าคงเคยมีหลังคาคุ้มแดดคุ้มฝน เพราะยังมีเสาหินเหลือให้เห็นอยู่” นัยน์บรรยาย รับไม้ส่งจากกรัน


เมื่อยิ่งเข้าใกล้ จันนวลยิ่งหลงใหลความงามของพระพุทธรูป ‘นวลตา’ คงต้องใช้คำนี้ ทุกองค์ประกอบดูกลมกลืน บ่า แขน ตัก ใบหน้า และรอยยิ้มที่ไม่ใช่ยินดีในความสงบ แต่คือ การไม่ยินดีและยินร้าย ต่อความสงบหรือไม่สงบ


“พระพุทธรูปนี้ จัดอยู่ในกลุ่มหลักครับ ปรับมาจากพระพุทธรูปแบบลังกา ทรงจะดูกลมกลึงกว่าทางลังกามาก” กรันอยู่ประชิดจนจันนวลรู้สึกถึงแรงหายใจ


“กี่ปีแล้วคะ นี่ จะมีใครเห็นความงามองค์ท่านบ้างไหม ฉันอยากสรงน้ำท่าน คราวหน้าหากมีโอกาสมาอีก จะเตรียมน้ำอบมาสรงให้ครบทุกองค์เลยค่ะ” จันนวลเอ่ย


“หากเรามองขึ้นไป จะเห็นว่าองค์ระฆังไม่ได้ใหญ่โตเกินไป แต่จะได้สัดส่วนกับฐานและปลียอด นี่ละ คือ ความงามอย่างสุโขทัยแท้ ไม่เน้นความหรูหรา แต่ใช้ประโยชน์จากความสมส่วนให้เข้ากับธรรมชาติโดยรอบ เด็กๆ เห็นไหมว่า ในอุทยานนี่ร่มรื่นมาก ย้อนกลับไปสัก ๗-๘๐๐ ปีก่อน หากจะมีพระราชวังตั้งอยู่ ก็คงจะไม่ใหญ่โตมาก เพราะศิลปในบริเวณนี้เน้นความอ่อนโยน มากกว่าความอลังการ” เสียงนัยน์บรรยายต่อเนื่อง


นักศึกษา ต่างๆ เพลินกับการเก็บรูปทั้งด้วยกล้องและด้วยดินสอ


หน้าพระเจดีย์ช้างล้อม ทางเดินทอดยาวไปยังวัดเจดีย์ ๗ แถว


“ใครหนอ ช่างตั้งชื่อ” นักศึกษาสาวนางหนึ่งเอ่ยขึ้น


“ครูเคยลองนับอยู่หลายแนว หลายรอบ แต่นับยังไงก็เกิน ๗ แถว” นัยน์แทรก พร้อมหัวเราะชอบใจ


“ผมเข้าใจว่า ชื่อต่างๆ เหล่านี้น่าจะมาในสมัยหลัง เพราะไม่พบหลักฐานอะไรเลย ศรีสัชนาลัย สุโขทัย มีหลักฐานอยู่น้อยมาก และเป็นจารึกเสียส่วนใหญ่” กรันตอบ


“เอ้าเด็กๆ สาวเท้าหน่อย เดี๋ยวแดดจะร้อน” นัยน์เอ่ย


สายเข้า แดดเริ่มแรงขึ้น แต่ร่มไม้ใหญ่กรองแสงได้อย่างดี ไม่ร้อนแม้นิด เริ่มมีนักท่องเที่ยวขี่จักรยานชมอุทยานบ้างประปราย ร่มเงาต้นก้ามปูแผ่เข้าหากันเป็นซุ้มไม้สูง ยิ่งขับให้บริเวณรอบหมู่พระเจดีย์ดูเขียวจัดสบายตา

เจดีย์ยอดดอกบัวยืนเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางหมู่เจดีย์น้อยใหญ่ รูปทรงหลากหลาย แปลกตา


“เด็กๆ ครับ ผมอยากให้ทุกคน มอง สังเกต ภาพรวม ภาพย่อย ของพื้นที่วัดเจดีย์ ๗ แถวนี้ สัก ๑๕ นาที ดูว่าใครมองเห็นอะไร แล้วผมจะตั้งคำถามว่า เพราะอะไร จึงน่าจะเป็นอย่างนั้น” นัยน์ชวนนักศึกษาชมพระเจดีย์


‘จริงด้วยสิ เจดีย์รายรอบเหล่านี้ มีรูปทรงไม่เหมือนกัน หรือบางองค์ก็คล้ายกัน แต่ขนาดต่างกัน ไม่เป็นระเบียบสักเท่าไร’ จันนวลนึกพลาง แต่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลป์ของจันนวล เรียกได้ว่า ‘น้อย’ จนแทบจะไม่มีเลย


เพียงชั่วแวบเดียว ที่จันนวลก้าวผ่านองค์พระเจดีย์ประธานทรงบัวตูม กรันก็เห็นภาพซ้อนเดิม หญิงสาวเกล้ามวยต่ำ ปักปิ่นทองคำใกล้ปลายหู แวบเดียว แวบเดียวเท่านั้น กรัน สาวเท้าก้าวตามไป แลจันนวลหันมาทันควัน


“มีอะไรหรือเปล่าคะ กรัน”


5 views0 comments

Comments


bottom of page