top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๙ : คุ้นเคยดั่งเก่าก่อน (4)



‘สวรรคโลก คือ กรัน กรัน คือ สวรรคโลก เขารักบ้านเกิดเมืองนอนเขามาก’ นัยน์เล่าให้จันนวลฟังหลายวันก่อน


เด็กๆ พากันเดินตามกรันไปหน้าพระเจดีย์ยอด “ลองดูที่ด้านบนของกรอบเหลี่ยมสิครับ”


“เรียกว่า กระจัง ใช่ไหมครับ” เด็กหนุ่มเอ่ย


“ถูกต้องครับ แบบนี้มีรายละเอียดตกแต่งเป็นกลับโค้งเข้าหากัน เรียกว่า ฝักเพกา แสดงถึงศิลปะแบบพุกาม นิยมกันมากในศิลปะแบบล้านนา”


“แล้วทำไมมาอยู่ที่นี่ล่ะคะ” เด็กสาวเอ่ยถาม


“นั่นสิ ทำไม เรียนโบราณคดี เราต้องคิดให้กว้าง อย่ามองแค่โบราณสถานหรือศิลปะวัตถุเป็นแค่เศษอิฐเศษปูน แต่มองให้เห็นถึง คน และ แรงบันดาลใจ” นัยน์ถือโอกาสสอนวิเคราะห์


“เด็กๆ รู้ไหม ว่าบริเวณ สวรรคโลก นี่ถือเป็นจุดต่อแดน หรือชายแดนต่อกับล้านนา เดี๋ยวผมจะพาไปดูแก่งหลวงกลางแม่น้ำยม ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก นี้ มีอาณาต่อแดนทางซ้ายกับเมืองเถิน ลำปาง ผืนป่าอุทยานแห่งชาติ ศรีสัชนาลัย ก็ต่อแดนกับลำปาง หากออกไปทางทุ่มเสลี่ยม หากขึ้นเหนือไป ก็ติดกับ แพร่ ขึ้นไปตามแม่น้ำยม ถึง พะเยา เลย ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับอุตรดิตถ์ ซึ่งมีอาณาเขตติดกับเมืองน่าน และ สปป. ลาว ลำปาง แพร่ พะเยา นี่ถือเป็นล้านนา ขึ้นไปอีก ก็เชียงใหม่ ใครเคยไปเชียงใหม่ แล้วไปกลางเวียงเห็นอะไรครับ”


“อ๋อ อนุสาวรีย์ ๓ กษัตริย์”


“ถูกต้องครับ มี พญามังราย พญางำเมือง พ่อขุนรามคำแหง” นัยน์บรรยายถึงรส


จันนวลฟัง จดจ่อ ไม่ไหวติง พลางนึกถึงข้อความในบันทึกท่านเจ้าคุณทวด พระยาสวรรครักษราชโยธิน


“แพร่ กบฎเงี้ยว ใช่ไหม นัยน์” จันนวลเอ่ยขึ้น


เสียงนายกรันแทรก ทั้งกระตุก “ไม่ทั้งหมดครับ บางกลุ่มเท่านั้น เงี้ยวเป็นคนไทใหญ่ที่รักสงบ”

จันนวลเซ ทั้งตกใจที่ได้เสียงเสียงกร้าวจากกรัน


กรันรวบรวมสติ พร้อมกล่าวขอโทษที่เสียงดัง นัยน์เปลี่ยนบรรยากาศ ดึงกลับมาที่การบรรยาย


“ผมกำลังจะชี้ให้เห็นว่า งานศิลปะจะไม่มีทางเกิดขึ้นมาโดดๆ เราต้องมองในเชิงสัมพันธ์กับคนและพื้นที่ ศรีสัชนาลัย อยู่ในจุดต่อแดนด้านบน ส่วนสุโขทัยเอง ก็อยู่ในจุดต่อแดนด้านใต้ กับกำแพงเพชร ตะวันออกกับเมืองตาก และตะวันตกกับสองแควพิษณุโลก ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้นในวันพรุ่งนี้กับมะรืน”


กรันรู้สึกผิดที่เสียงดัง แต่ก็ไม่รู้จะแก้ไขอะไรได้ จันนวลเองกลับเป็นฝ่ายแก้สถานการณ์


“แสดงว่า ศรีสัชนาลัยเองก็รับเอาศิลปะล้านนา เข้ามา ซึ่งมีได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบพุกาม”


“ใช่เลยนวล พุกามเจริญมาก่อน ศรีสัชนาลัยสุโขทัย รับพุทธศาสนาก่อน ล้านนาเองก็ตกเป็นรองพุกาม พม่า อยู่หลายครั้ง” นัยน์แจง


“หากเราลองดูพระเจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์อื่นๆ ที่สมบูรณ์น้อยกว่า จะมีรายละเอียดต่างกัน บางองค์ไม่มีฝักเพกา เป็นเพียงกระจังโค้ง แบบนี้แสดงให้เห็นถึง ศิลปะแบบลังกา หรือ อีกองค์หนึ่งที่งามมาก ถัดไปทางซ้ายนั่น จะเห็นว่า กระจังเป็นหน้าจั่ว ในช่องเหลี่ยมหรือช่องจรนำ มีพระพุทธรูปลีลางามมากทีเดียวครับ ตอนบ่ายผมจะพาไปดูที่วัดพระปรางค์ จะเห็นว่างามคล้ายกัน” นัยน์พยายามกลับมาจดจ่อที่การบรรยาย


กรันเพลิดเพลินกับการ ถาม-ตอบ บรรยาย ศิลปะต่างๆ จากองค์พระเจดีย์ราย ราวกับว่าเป็นผู้สร้างพระเจดีย์เหล่านี้เอง ช่างรู้ซอกรู้แซกไปเสียทุกอย่าง


“ศรีสัชนาลัยนี่ international อยู่มากนะ นัยน์”


“แน่สิ นวล เป็นเมืองเก่าแก่ คู่กันมากับสุโขทัย นั่นล่ะ บางที่ก็เรียกปนเปกันไป พระเจดีย์สุวรรณคีรี ทรงระฆังที่เราไปดูกันนี่ ถือเป็น master piece งานชั้นครู ต้นแบบศิลปะทรงลังกาสุโขทัยเลยทีเดียว นี่เดี๋ยวไปชมพระพุทธรูปปางลีลาจะเห็นว่า งามหมดจรดจริงๆ”


“ครับ คราวนี้ ผมอยากให้สักเกตส่วนยอดของเจดีย์ทรงปราสาทครับ เห็นไหมครับว่าคล้ายกับทรงอะไร” กรันถม


“ระฆังค่ะ แต่ใบย่อมกว่ามาก” นักศึกษาสาวชิงตอบ


ใช่ครับแล้วเราลองมองย้อนกลับไปถึง เจดีย์ทรงระฆัง บนพนมเพลิง ยอดปราสาท และทรงดอกบัว มองเห็นอะไรไหมครับ”

จันนวลคิดพลาง และตอบออกไป


“คุณกรันกำลังจะบอกว่า เจดีย์ทรงดอกบัวมีพัฒนาการมาจากทรงระฆัง ใช่ไหมคะ”


“ครับและผมอยากให้มองที่ตัวแกนของพระเจดีย์ดอกบัวด้วยว่าน่าจะเป็นการพัฒนาจากองค์ปราสาทแบบเขมร บีบให้เล็ก ชลูด มีกลีบใบรองฐานดอกซึ่งพัฒนามาจาก กลีบขนุน ซึ่งประดับรับยอดปราสาทแบบเขมร กลีบขนุนยังมีพัฒนาการต่อไปถึงสมัยหลังสุโขทัยเลยครับ”


กรันเดินนำชมพระเจดีย์รายโดยรอบ มาถึงด้านข้างท้ายพระวิหาร “สังเกตดูสิครับ พระเจดีย์ทรงแปลกตานี่ มีฐาน ๔ เหลี่ยม องค์เจดีย์เพิ่มมุมเป็นลอนหยักทั้งองค์ขึ้นถึงยอด แล้วยังเป็นคู่กันกับอีกข้าง แสดงว่าน่าจะมีการสร้างถวายเป็นพุทธบูชา แบบนี้ เรียกกันว่า ทรงวิมาน หรือ บางคนก็เรียกว่าทรงมณฑป ครับ” กรันบรรยายต่อ เข้าถึงอย่างลึกซึ้ง


“ถ้าเป็นอย่างนั้น บริเวณนี้ไม่น่าจะเป็นสุสานหลวงแล้วค่ะ เพราะมีการสร้างพระเจดีย์อุทิศถวายด้วย” จันนวลเอ่ยตามความรู้ที่เคยร่ำเรียนมาหลายสิบปี กรันยิ้มพอใจ


จริงๆ แล้ว จันนวลเพียงต้องการไม่ให้กรันรู้สึก เสียความมั่นใจ เพราะเสียงดังเมื่อครู่ ส่วนจันนวลเองก็ไม่ได้โกรธอะไร ในสังคมตะวันตกที่จันนวลผ่านมา ก็เสียงดังตรงไปตรงมา แล้วก็ราไป ไม่มีความขุ่นข้องอะไรในใจ


ทุกคนต่างดื่มด่ำความงามเชิงช่างในเมืองศรีสัชนาลัย แล้วค่อยๆ เดินเรียงข้ามคูน้ำออกมา จันนวลเดินต่อท้าย นัยน์ และ เด็กๆ มี กรัน รั้งท้าย


“คุณนวลครับ ...” กรันเรียก


ขณะจันนวลหันหลังกลับ ภาพซ้อนหญิงเกล้ามวยต่ำปักปิ่นเงินเล่มโต หันตัวซ้อนทับจันนวล กรันจ้องอยู่สัก ๕ วินาที


“คะ กรัน”


เสียงจันนวลปลุกสติ กรันให้ตื่นจากภวังค์


10 views0 comments

Comments


bottom of page