top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๕ : ร่มเงาแผ่นดินพระร่วง (๒)




“ก่อนอื่น คงขอย้อนไปที่คำว่า เชลียง ค่ะ ชื่อเดิมของศรีสัชนาลัย หนูมั่นใจว่า เป็นคำเขมรแน่นอน เพราะ พื้นที่นั้นเป็นสุดเขตอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ตรงนี้ วัดเจ้าจันทร์น่าจะเป็นตัวชี้ได้อย่างหนึ่ง หนูคิดว่าน่าจะเป็น เทวาลัยฮินดู ถวายเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งค่ะ หากเป็นอย่างนั้น เชลียง หรือแม้แต่บริเวณวัดพระบรมธาตุเอง ก็ร่วมสมัยกับเขมรนครธม ศูนย์กลางน่าอยู่แถวเสียมเรียบ หากอาจารย์วางตำแหน่งลงในแผนที่ จะเห็นได้เลยว่า เมืองเชลียง อยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเสียมเรียบ หรือ พระนคร แนวทิศเฉียงแบบนี้ คำเขมร เรียกว่า เจรียง เรื่อง ตัว ร ออกเสียง เป็น ล นี้เป็นไปได้อยู่แล้ว อย่างเดี๋ยวนี้ คนไทยก็ไม่ค่อยเน้น รัวริ้น หนูคิดเสมอมาว่า เสียง ร ไม่น่าใช่เสียงในระบบภาษาไทยเรา น่าจะมาจากเขมร ส่วนตัว จ นี้ เป็นอักษรในวรรคเดียวกับ ช อยู่แล้วค่ะ อาจารย์ ในภาษาเขมรเอง บางทีมันก็สลับกันไปมา จ ควบ ร บ้าง หรือ ช ควบ ร บ้าง ชื่อ เชลียง จึงเป็นไปได้ว่าเป็นคำเรียก ตำแหน่งเมืองโดยยึดศูนย์กลางที่เมือง พระนคร ค่ะ”


ดร. ปราชญ์ ฟังคำวิเคราะห์จากจันนวลเพลิน และถาม


“รู้ภาษาเขมรด้วยหรือ แม่หนู”


“เคยเรียนสมัยเป็นนิสิตค่ะ และไปเรียนอีกครั้งสมัยไปทำวิจัยงานล่ามที่มหาวิทยาลัย ซอร์บอนน์ ปารีส ค่ะ”


“หนูวิเคราะห์ได้เฉียบคม แตกฉานมาก ผมไม่เคยได้ยินใครคิดแบบนี้เลย นี่สิ นะ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภาษา มันแยกออกจากกันไม่ได้จริงๆ”


จันนวลกราบลาท่านออกมา เพื่อไปหอสมุดแห่งชาติตามที่ ดร. ปราชญ์ แนะนำ ทั้งสัญญาว่าจะกลับไปวิเคราะห์ คำ “ศรีสัชนาลัย” และขออนุญาตกลับมาพบท่านอีก


ใกล้เที่ยงแล้ว จันนวลเดินออกมาหน้าประตูพิพิธภัณฑ์ มองไปทางขวานึกได้ว่าอยู่ไม่ไกลจากกรมศิลปากร ยังมองเห็นตึกหอสมุดวชิรญาณ ที่ทำงานของนัยน์ จึงลองโทรศัพท์ไปชวนกินข้าวกลางวัน ทั้งยังตื่นเต้นเรื่องที่ได้พบ ดร. ปราชญ์ ศรีพนมมาศ


ไม่นาน ดร. นัยน์ ก็เดินมาถึงหน้าพิพิธภัณฑ์ “เป็นไง คุณหญิงนวล ชมพระที่นั่งศิวโมกขพิมานหรือยัง” นัยน์เอ่ยแซว จันนวลหัวเราะชอบใจ พลางถามว่าจะกินอะไรดี แถวนี้ไม่รู้จักสักร้าน


“ก่อนกิน อยากให้เธอดูนี่ก่อน มาถึงที่แล้ว อยู่ตรงหน้าเลย อนุสรณ์ทหารอาสา สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นไง คุ้นๆ ตาไหม”


จันนวลพยายามนึก พลันเอ่ย “นัยน์ เจดีย์ทรง 5 ยอด แบบที่เราไปดูกันที่ศรีสัชนาลัยใช่ไหม แต่องค์นี้ขาวโพลน”


“เฮ่ย มันคนละสมัยกัน องค์นี้สร้างด้วยหินอ่อน ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 รัชกาลที่ 6 ส่งทหารอาสาไปร่วมรบ บางนายเสียชีวิตในสมรภูมิ สักประมาณปี พ.ศ. 2462 ล่ะมัง ว่ากันว่า ท่านได้แรงบันดาลใจจากคราวที่เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ยังทรงนิพนธ์บทละครเรื่อง พระร่วง ด้วยนะ เห็นไหมละ ศรีสัชนาลัย สุโขทัย are everywhere!”


นัยน์พาจันนวลเดินข้ามคลองโรงไหม ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เรื่อยไปตามแนวกำแพงเมืองเดิม ชี้ให้ชมองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ในละแวกนั้น ป้อมพระสุเมรุ ยืนเด่นอยู่ตรงหน้า ทำหน้าที่รักษาพระนครมา สองร้อยกว่าปี “บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นนะ นัยน์”


“ใช่ บางคนไม่ยังยึดแบบเดิมๆ ถือว่าเป็นวิถีชีวิต ไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ฉันว่าบางอย่างก็จะจัดการให้เข้าที่เข้าทาง แออัดนักก็กลายเป็นแหล่งมั่วสุม สมัยเราเด็กๆ เดินกันได้ที่ไหน ดึกๆ บางลำพู ทั้งมืดทั้งเปลี่ยว”


เลี้ยวซ้าย ข้ามสะพานฮงอุทิศ คลองบางลำพูทอดยาวไปออกอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา “คลองรอบกรุง ไปออกแถวสะพานพุทธ” นัยน์เล่า


อาหารไทยรสดั้งเดิม ไม่ปรุงจน “เกินรส” เรียงรายอยู่ตรงหน้า ทั้งแกงเขียวหวานปลากราย ผัดหน่อไม้ และ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย


“เอ้า กินก๋วยเตี๋ยวหน่อย เผื่อจะคิดถึงคนแถวๆ สุโขทัย” นัยน์เริ่มแซว ลองหยั่งความรู้สึกของจันนวล


“เพิ่งจะกลับถึงกรุงเทพ ไม่คิดถึงเร็วอย่างนั้นหรอก” จันนวลทำไม่รู้ ทั้งๆ รู้ แลเริ่มเรื่อง


“นัยน์ เมื่อครู่ ฉันได้พบคนๆ หนึ่ง ตัวต้องรู้จักแน่ ดร. ปราชญ์ ศรีพนมมาศ”


นัยน์สะอึก พลางว่า “เฮ้ย ใครไม่รู้จักท่าน นั่นล่ะปราชญ์ สมชื่อเลย เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยมาก คือ เรื่องราวของสุโขทัยนี่นะ มันเก่ามาก ไม่มีบันทึกในใบลานอะไรๆ ไม่มี มีก็แต่จารึก หลังจากรัชกาลที่ 4 ทรงพบศิลาจารึกหลักที่ 1 ก็มีการขุดแต่งโบราณสถาน คราวนี้เจออื้อเลย เด็ดสุดนั่นก็ หลักที่ ๒”


“นั่นล่ะ ฉันเห็นแล้ว วางอยู่ด้านนอกอาคารใกล้สำนักงาน ดร. ปราชญ์ ฉันเกือบจับเข้าแล้ว”


“บ้า ของแบบนี้ จับมือเปล่าไม่ได้ ซ้ำดีซ้ำร้ายถูกหาว่าเป็นขโมยอีก แล้วที่สำคัญคือ เชื้อโรค”


“ใช่ท่านมาห้ามฉันไว้ทันพอดี ...​


นัยน์ ท่านรู้จัก คุณปู่ฉันและเป็นเพื่อนกับพ่อฉัน พอฉันแนะนำตัวไป ท่านถามถึง พันเอก พระเดชาสวรรคโยธิน”


“วะ อะไรโลกมันจะกลมได้ขนาดนี้ เธอได้พบถูกคนแล้ว นวล ท่านเก่งและน่ารักมาก ไม่ถือตัวด้วย”


จันนวลเล่าเรื่องที่ ดร. ปราชญ์มอบหนังสือ เมืองศรีสัชนาลัย ให้มาศึกษา และขอกลับไปพบท่านอีกในคราวหน้า


“จริงด้วยสิ ความรู้ทางภาษาของเธอ มันใช้อธิบายได้ดีทีเดียว เมืองเชลียงที่ว่า น่าจะได้รับอิทธิพลเขมรและพุทธศาสนาแบบมหายาน เพราะร่วมสมัยกับนครธม ศิลปะบายน” นัยน์เอ่ย


“นวลรีบไปไหนไหม”


“ไม่ล่ะ ตอนแรกตั้งใจจะไปหอสมุดแห่งชาติ มีหนังสือบางเล่มที่อยากค้นคว้า แต่คิดว่าพรุ่งนี้ดีกว่านี่บ่ายแล้ว”


“ถ้าอย่างนั้น เราซิ่งตุ๊ก ตุ๊กไปวัดมหรรณพารามกันดีกว่า อยากพานวลไปกราบ พระร่วงทองคำ พระพุทธรูปองค์นี้งามมาก


สามล้อเครื่อง พานัยน์และจันนวลลัดเลาะผ่าน วัดบวรนิเวศวิหาร พลางนัยน์คิดขึ้นได้


“จอดๆ ครับ” นัยน์จ่ายค่ารถเต็มที่จ้าง และขอโทษคนขับ


“นวล แวะวัดบวรนิเวศก่อน ไปกราบ พระพุทธชินสีห์ กับ พระศรีศาสดา กันก่อน ไหนๆ เราก็ผ่านมาแถวนี้แล้ว”


หมู่พระวิหารน้อยใหญ่เต็มพื้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทุกสิ่งอย่างจับวางไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย นัยน์พา จันนวลอ้อมไปด้านหลัง วิหารพระศรีศาสดา


“ท่านเป็นพี่ใหญ่ใน 3 พีน้อง เมื่อตั้งกรุง ขุนนางท่านหนึ่งไปอัญเชิญลงมาเพื่อเป็นกำลังใจให้ประชาชน”


“ใบหน้าท่าน ออกไปทางแขกนิดๆ นะ นัยน์”


“คิดเหมือนกันนวล ด้านหลังมีพระไสยาสน์ ไปกราบกันแล้วไปที่พระอุโบสถด้านหน้า”


องค์พระพุทธชินสีห์ สง่างาม ดูเด่นลอยกลางกรอบไม้แกะสลักอย่างจีน ลักษณะลีลาไม่ต่างจากพระพุทธชินราช เรียกว่า เป็นพี่น้องกันได้อย่างสนิทใจ แต่ไม่ว่าจะมองจากมุมใด จันนวลรู้สึกว่า องค์ท่าน นิ่ง ไม่ยิ้มฉายอย่างพระพุทธชินราช


“ท่านคงคิดถึงบ้านเกิดนะ นวล ผมว่า นวลลองคิดดูสิว่า หากพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ นี้ อยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในวิหารคนละด้าน จะงามขนาดไหน นั่นล่ะ สมสง่าพระราชธานีอีกแห่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา”


จันนวลเห็นจริงอย่างนัยน์ว่า ลมบ่ายพัดเรื่อยไม่ร้อน เลยตัดสินใจเดินชมเมืองออกไปทางถนนตะนาว เรือนแถวแบบตะวันตกสมัยรัชกาลที่ ๕​ ตั้งเรียงรายไปตามถนน ตะนาว ถึง สี่แยกคอกวัว เสาโคมนางกินรียืนเรียงรายแบ่งถนนราชดำเนินกลางออกเป็น 2 ฝั่ง ความงามเมื่อคราวปฏิรูปพระนครครั้งใหญ่ หลังจากการเสด็จฯ ประพาสยุโรปของนายหลวงรัชกาลที่ 5 ยังแจ่มชัด อยู่ทุกหนแห่ง จันนวลเพลินมองบ้านเรือนเก่าแก่ บ้างยังยืนหยัด บ้างผุพัง เสนาบดีขุนนางเหล่านี้คงมีความสำคัญต่อบ้านเมือง จึงได้มีบ้านเรือนใกล้พระบรมมหาราชวัง


วิหารพระร่วงทองคำดูโอ่โถง โปร่งสบายเข้ากับเมืองร้อนชื้นอย่างสยามประเทศ


“พระร่วงทองคำองค์ใหญ่โตสง่างามตั้งอยู่ตรงหน้า จันนวลลงพับเพียบ กราบด้วยความเคารพสูงสุด ไม่รู้ว่าด้วยเหตุอะไร น้ำตาไหลรื้นขอบตา ‘นานเหลือเกิน ที่เราไม่ได้พบกัน’ เสียงหนึ่งในใจจันนวลดังขึ้น


“ท่านเคยอยู่ที่วัดโคกสิงคาราม ปากทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยน่ะ นวล ครั้งที่แล้ว ผมลืมชี้ให้นวลดูตำแหน่งวัด”


“กลับไป สวรรคโลก คราวหน้า จะต้องไปกราบที่วัดโคกสิงคารามให้ได้ นัยน์ ท่านงามมากจริงๆ”


นี่กลายเป็นว่า กรุงเทพมหานคร มีศิลปะสุโขทัยประดับอยู่ทั่วพระนครไปหมด


รวมถึงตำแหน่งสะดือเมือง โบสถ์พราหมณ์ องค์พระคเณศวร ก็อัญเชิญมาจากแคว้น สุโขทัย เดิม หากใครจะคิดว่า แคว้น ศรีสัชนาลัย สุโขทัย ล่มสลายไปแล้ว ไม่จริงเลย



รศ ๑๒๑

ลงมาพระนครคราวนี้ เหนว่าบ้านเมืองเจริญขึ้นมากโขอยู่ จากสวรรคโลก น้ำในแม่ยมยังไม่แล้งมาก ยังพอถ่อเรือลงมาถึง เมืองธานี ศุโขไท แลต่อไปถึงได้แค่บางระกำ หยุดพักค้างแรมกันแถวนี้ พอเห็นผู้คนบ้าง จากนี่ ฉันและลูกหาบอีก ๒ คน ต้องขี่ม้าไปถึงเมืองพิจิตร แล้วดูอีกทีว่าพอจะมีเรือไปถึง ชุมแสง ไหม แล้วค่อยเปลี่ยนลงเรือไป ปากน้ำโพ เราพักกันที่ปากน้ำโพคืน ๑ แล้วล่องเรือต่อลงมาถึงเมือง วิเศทไชยชาญ พักอีกคืนหนึ่ง ค่อยล่องเจ้าพระยาถึง บางปะอิน อยู่ คืนหนึ่ง แล้วรอจับรถไฟบ่ายเข้าพระนคร


ที่กรมรถไฟ ท่านเจ้ากรม หรือนายช่างเกียร์สต ซึ่งฉันมักจะเรียกท่านอย่างนั้นเสมอ เป็นคนอารมณ์ดี แต่ก็เอาจริงเอาจังตามแบบคนเยอรมัน แนะนำให้รู้จักกับหัวหน้างานช่วงรางต่างๆ ที่กำลังก่อสร้าง ฉันนึกเหนอยู่ว่า ในเวลานี้ มีชาวยุโรปหลายชาติที่เข้ามารับราชการในกรมรถไฟ ทั้งอังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมัน และแม้แต่ฝรั่งเศส ซึ่งฉันไม่คาดเลยว่าจะมีได้ แต่นี่คงเป็นกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน ที่ไม่ต้องการให้พวกบริเตนมีอำนาจข่มเรานัก แต่เอาจริงแล้ว ฉันก็ไม่อยากไว้ใจใครเลย ทุกคนที่เข้ามาสยามประเทศ ก็ต้องการผลได้เสียสิ้น ต่างก็ปกป้องเรียกร้องสิทธิของตนเต็มที่ แน่นอนว่าชาวบริเตนย่อมไม่ชอบใจ ชาวเยอรมัน เพราะเหนว่าชาวเยอรมันได้ความดีความชอบจากพระเจ้าแผ่นดิน แต่นั่นเปนเพราะคุณงามความดีจากตัวผู้ทำงานเอง ไม่ใช่พวกสอพลอฉ้อฉล


เมื่อกลับถึงพระนครไม่นาน นายช่างเกียร์สตเคยเล่าให้ฟังว่าสยามหน่ายกับการวางรางสายโคลาดนี่มาก ด้วยนายช่างบริเตนให้คำมั่นว่าจะเสรจใน ๕ ปี ด้วยเงินสิบล้านบาท เมื่อล่วง ๔ ปี งานก็ไม่คืบหน้ามากเท่าไร คอยแต่แก้ความว่า แรงงานไม่พอบ้าง น้ำหลากบ้าง แต่ตอนนั้น งานในส่วนนายช่างลูอิส กลับพอคืบหน้าได้ คราวนั้นฝ่ายบริเตนเสียหน้ามาก นายช่างลูอิสเท่าที่ฉันได้รู้จักนั้นฤา เป็นคนรอบคอบแม่นยำมากทีเดียว และตรงไปตรงมาไม่บิดพลิ้ว


นายช่างเกียร์สตวางแผนไว้ว่าจะกลับยุโรป เพราะอยู่ในสยามประเทศมานานโขแล้ว แลกำลังขอให้นายช่างลูอิส ไวเลอร์ มารับตำแหน่งแทน ตอนนี้ นอกจากทางรถไฟสายมณฑลลาวกลาง ไป ลาวกาวแล้ว ก็มีสายเหนือซึ่งตอนนี้ จะสร้างขึ้นไป ปากน้ำโพ


….​


เหตุเรื่องเงี้ยวปล้นเมือง ทั้งลำปาง ล้านนา นี้ ยิ่งทำให้เหนว่าหัวเมืองล้านนาดูจะอ่อนไหวอยู่มาก ฝ่ายบริเตนยั่วยุ แทรกแซงจะชิงเอาเมืองระแหง เมืองเชียงใหม่ ลำปาง ให้จงได้ เวลาเกิดข้อวิวาท ก็มักจะเข้าข้างคนในบังคับของตัว อย่างไม่สืบสาวความใดๆ ฝ่ายสยามก็มีแต่จะเสียเปรียบ ทางฝั่งลาว ฝรั่งเศสก็คืบคลานเข้ามา วันก่อนท่านข้าหลวงเมืองเลยว่า พวกฝรั่งเศสถือสิทธิข้ามแม่น้ำโขงมา ชาวบ้านก็แตกตื่นกันยกใหญ่ พระเจ้าแผ่นดิน ทรงเหนว่าทางรถไฟสายเหนือจะต้องเร่งมือขึ้นกว่าเดิม หัวเมืองล้านนามีป่าไม้สักมาก อังกฤษขอสัมปทานยิ่งขึ้นเรื่อยๆ


14 views0 comments

Comments


bottom of page