top of page

แสงสรวงสัชชนาไลย ๑๖ : ซ้อนทับ ซับซ้อน ต่อคิด ต่อยอด แผ่นดินพระร่วงเจ้า (2)


ก่อนเรือถึงปากคลองบางกอกน้อย ด้านซ้ายเห็นมัสยิดใหญ่เก่าแก่ ตัวหนังสือทั้งไทยและอาหรับเด่นสง่า “มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์” มีศาลาริมน้ำสีเขียวอ่อน สวยเหมือนในนิทานอาหรับราตรี ฝั่งขวา คือ สถานีรถไฟบางกอกน้อยเดิม ที่จันนวลมักจะตามยายอ่อนและแม่มาตลาด “ศาลาน้ำร้อน” เมื่อยังเด็กมาก ผักสดๆ จากราชบุรี นครปฐม จะมาลงที่นี่ สมัยก่อน ยายอ่อน มักเอาผลไม้มาส่งขายที่นี่อยู่ประจำ ทั้งมะไฟ ทุเรียน กะท้อน กล้วยสารพัด


เรือเดินเบา ชลอลง คอยจังหวะ ตาพุ่มส่งสัญญาณขอทาง รอจังหวะ ค่อยๆ ออกซ้าย ตีวงเข้ากลางแม่น้ำ เรือแล่นตามกระแสน้ำเจ้าพระยา คลื่นซัดเข้าออก จันนวลคิดถึงวัยเด็กที่นั่งเรือไปเรียน


“คุณหนูไม่กลัวเลย เก่งครับ”


“พี่ศุข หนูนั่งเรือไปเรียนหนังสือตั้งกี่ปี ตั้งแต่เด็กจนเข้ามหาวิทยาลัย ไกลกว่านี้อีก พี่ศุขจำได้ไหม สมัยก่อนไปเรียนมหาวิทยาลัย ตาแก้ว พ่อพี่ศุขขับเรือออกไปทาง คลองบางหลวง ระหว่างทางรับคนนั้นคนนี้ ไปเรื่อย บางวันหนูก็ไปเรียนสาย ขับไปถึงท่าสีพระยาแน่ะ”


นายศุขยิ้มกว้างหัวเราะเสียงใสเมื่อคิดถึงชีวิตสมัยก่อน


จันนวลกลับบ้านที่คลองชักพระ ทำให้ บ้านกลับฟื้นเป็น บ้าน อีกครั้ง


เรือเทียบท่าพระจันทร์ จันนวลนัดแนะให้นายศุขขับรถมารับช่วงบ่าย เมื่อเสร็จธุระ จากท่าพระจันทร์ จันนวลเดินเลียบกำแพงวังหน้า หรือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเรื่อย ร่มรื่น ไม่ร้อนเพราะยังเช้าอยู่มาก ถึงปากทางเลี้ยวซ้ายเดินตรงไปที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ประตูพระที่นั่ง พุทไธสวรรย์ เพิ่งเปิด จันนวลจึงเดินดุ่มเข้าไป ทุกอย่างเงียบสงบ พระพุทธสิหิงค์ บนบุษบกสูง ต้องแสงแดดเช้า งดงามบริสุทธิ จันนวลก้มลงกราบราบไปกับพื้น เสียงทุ้งนุ่มน่าฟังดังขึ้น


“หากวังหลวงมี พระแก้วมรกต วังหน้าก็มี พระพุทธสิหิงค์ เหมือนกับ สุโขทัย มีวัดมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย ก็มี วัดเจดีย์เจ็ดแถว” ต่างก็มีดีของตัว เทียบกันไม่ได้


จันนวล หันไปไหว้ ดร. ปราชญ์ ศรีพนมมาส ท่านเอ่ย “แม่หนูรอผมสักครู่ ผมขอไหว้พระสวดมนต์ก่อน เดี๋ยวเราคุยกัน”


จันนวลเดินหลบออกมาด้านหน้า สนามหญ้าเขียวมีแสงแดดเช้าสาดทั่วผืน สักพัก ดร. ปราชญ์ ออกมาจากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จันนวลเดินตามท่านไปตึกมหาสุรสิงหนาท


ดร. ปราชญ์ ฟังจันนวล วิเคราะห์ในแต่ละประเด็น เพลินไป แต่ก็ยังไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ แทรก เมื่อจันนวลพูดจบ


“ไม่เสียแรง มีเชื้อสายชาวสวรรคโลก” ท่านพูด หัวเราะเสียงดัง พลางว่า

“เรื่องศรีสัชนาลัยสุโขทัย ไม่มีใครรู้อะไรมากไปกว่านี้ เพราะหลักฐานที่เป็นลักษณ์อักษร หาแทบไม่ได้เลย มีก็แต่จารึกตามสถานที่ต่างๆ กระท่อนกระแท่น จับนั่นโยงนี่ แล้วก็เป็นเรื่องแต่งขึ้นเอาเสียมาก จะมีกล่าวถึงบ้าง ในดำนานทางล้านนา แต่ก็นั่นล่ะ การนับวันเดือนปี มันเหลื่อมซ้อนกันไปหมด อย่างที่แม่หนูว่า อย่าไปเน้นว่า จริง หรือ ไม่จริง ต้องดูว่า เราสกัดข้อมูลอะไรออกมาได้”


จันนวลเสนอความต่อ


“ศรีสัชนาลัยคงมีความสำคัญในฐานะเป็น จุดต่อแดน มีการแลกเปลี่ยนสินค้า ที่จุดนี้มาก เพราะ มันขึ้นไปเหนือก็ได้ ออกไปทางหลวงพระบางก็ได้ หนูคิดว่า เส้นทางทางค้ากับพุทธศาสนามักจะมาควบคู่กัน สุโขทัยนั้น ในฐานะ กรุง หรือ ศูนย์กลาง จะอยู่ประชิดต่อแดนอย่างตำแหน่ง ศรีสัชนาลัยไม่ได้ อันตรายเกินไป ต้องห่างลงมา ตรงนี้ หนูคิดว่าศรีสัชนาลัยทำหน้าที่ปกป้องรักษา กรุง แต่ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งตะวันตกของสุโขทัย ก็ออกไป เมืองตาก เมืองระแหงได้ ซึ่งก็ไกลพอสมควร หากต้องตั้งรับ แต่จากศิลาจารึก เราก็จะเห็นว่า พ่อขุนรามคำแหง ไม่ยอมรอตั้งรับ แต่ออกไปตีขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด และคงจะได้เมืองระแหงเป็นเมืองหน้าด่านด้วยค่ะ เพราะเป็นเส้นทางการค้าเดียวที่จะออกทะเลที่อ่าวเมาะตะมะได้


หากดูจากแผนที่ดาวเทียม ตำแหน่ง กรุงสุโขทัย ตาก และเมืองมะละแหม่ง แทบจะอยู่ในระนาบเดียวกัน​ ศาสนาพุทธลังกาวงศ์ น่าจะมาทางใต้ ข้ามอันดามันมา ส่วนหนึ่งอาจข้ามเขาไปเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนตัวหนูมองไม่เห็นเหตุผลว่า ทำไม สุโขทัยจะต้องรับศาสนาพุทธจากเมืองนครศรีธรรมราช เพราะเมืองนครฯ อยู่ฝั่งตะวันออก คณะสงฆ์น่าจะมากับเรือการค้า แล่นใบเลียบฝั่งขึ้นมาเรื่อยๆ ผ่านมะริด ทวาย เข้าอ่าวเมาะตะมะ หนูลองตรวจสอบกับเพื่อนชาวมอญแล้วค่ะ เมืองพัน ที่ พระสงฆ์สมัยสุโขทัยไปเรียน น่าจะเป็นเมือง Pha’ an เพื่อนหนูบอกว่า ที่นั่น มีวัดในถ้ำอยู่พอสมควร”


“ฉลาดมาก แม่หนู เราต้องใช้ข้อมูลภูมิศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์ ทางสุโขทัยก็ว่า มีอำนาจลงไปทางใต้ถึงนครศรีธรรมราช ทางนั้นก็บอกว่า มีอำนาจขึ้นมาถึงสุโขทัย ตามคงต่างใช้อีกฝ่ายเป็นหมุดหมายอำนาจ”


“จากที่ไปลงภาคสนามมา หนูมองว่า ศรีสัชนาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะพระพุทธศาสนา จริงอยู่ว่า พ่อขุนรามคำแหงเอง ก็เลื่อมใสพระพุทธศาสนามาก แต่ไม่ค่อยพบหลักฐานว่า ทรงสร้างศาสนสถานอะไรมาก จากข้อมูลในศิลาจารึกหลักที่ ๑ บุคลิกท่านเป็น คนลุยๆ ตีหนังวังช้าง และเน้นการค้า การออกเยี่ยมดูแลประชาชน เพราะลงว่าหน้าประตูมีกระดิ่งแขวนให้คนมาสั่นร้องทุกข์ ท่านก็คงต้องออกไปตรวจตราท้องที่อยู่บ้าง ในขณะเดียวกัน ตอนนั้น พระองค์ท่านน่าจะมีลูกแล้ว คือ พญาเลอไท ซึ่งขณะนั้น น่าจะครองอยู่ที่ ศรีสัชนาลัย”


“จริงๆ แล้ว เราแทบไม่รู้อะไรเลย เกี่ยวกับพญาเลอไท หรือแม้แต่ พ่อขุนรามคำแหงเอง เราก็ไม่รู้ว่า สวรรคตเมื่อไร” ดร. ปราชญ์ เสริม


“จริงค่ะ น่าแปลกที่ว่า เพียง 2 พระองค์นี้ ที่เป็นขุน แต่ไม่ใช้ พ่อขุน กับพญาเลอไท กลับใช้ พญา ซึ่งน่าจะให้ถึง สูง ใหญ่ อะไรทำนองนี้ หากเราข้ามสู่สมัยพญาลิไทเลย เราพอรู้ได้ว่าในช่วงปลายรัชสมัย คือ ประมาณสัก พ.ศ. 1900 ลงไป นับไปไม่เกิน 15 ปี ท่านเสด็จลงมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลก 7 ปี แสดงว่าก่อนหน้านั้น ท่านประทับที่ สุโขทัย ในฐานะกษัตริย์ น่าจะไม่นานนัก และย้อนขึ้นไปอีก ท่านน่าจะประทับที่ศรีสัชนาลัย ในฐานะพระโอรส ของพญาเลอไท โบราณสถานต่างๆ ในศรีสัชนาลัย ทั้งพระเจดีย์ทรงระฆัง บนเขาพนมเพลิง วัดช้างช้างล้อม น่าจะสร้างขึ้นขณะนั้น หนังสือไตรภูมิพระร่วง ก็คงจะทรงนิพนธ์ขึ้นที่ศรีสัชนาลัย ...


อาจารย์คะ จะต้องมีศรัทธาขนาดไหนคะ ที่จะนิพนธ์หนังสือทางศาสนาได้ แสดงว่า ท่านอาจจะซึมซาบศาสนาพุทธตั้งแต่ยังเยาว์ ...


หนูมองว่า เมื่อลึกซึ้งในพระพุทธศาสนาระดับหนึ่ง พญาลิไทท่านคงอยากจะสร้าง signature บางอย่างแก่ ศรีสัชนาลัย นั่นคือ เจดีย์ทรงดอกบัวตูม ที่ streamline จากทรงระฆัง วัดเจดีย์เจ็ดแถว จึงเป็นเหมือน pilot study ของพญาลิไทท่าน”


ดร.ปราชญ์ฟังจันนวลวิเคราะห์เพลินด้วยสายตาชื่นชม และจุดประเด็นต่อ “แม่หนูได้เรียนรู้อะไรจากพระพุทธรูปไหม”


“ค่ะ หนูว่าลักษณะเด่น คือ นิ้วของพระพุทธรูป อาจารย์คะ ในศรีสัชนาลัยหนูยังไม่เคยเห็นพระพุทธรูปนั่งที่มีนิ้วยาวเท่ากันเลย ที่วัดพระเจดีย์ช้างล้อม พระพุทธรูปที่ล้อมอยู่นั่น นิ้วยาวไม่เท่ากัน พระประธานองค์ใหญ่วัดพระบรมธาตุเชลียง ก็ไม่เท่ากัน หรือพระพุทธรูปที่พิพิธภัณฑ์สวรรควรนายก หรือแม้แต่ พระร่วงทองคำที่วัดมหรรณพาราม ก็นิ้วยาวไม่เท่ากัน ลักษณะอื่นๆ ร่วมกันคือ งามใบหน้ารูปไข่ ไม่ว่าองค์เล็กองค์ใหญ่ งามแบบเดียวกัน นี่คือ สุโขทัยหมวดใหญ่ ใช่ไหมคะ แต่ที่เมืองเก่า สุโขทัยมีพระพุทธรูปทั้ง 2 แบบ ทั้งนิ้วยาวไม่เสมอกัน และยาวเสมอกัน ลักษณะของสัตตบุรุษ แบบเดียวกับพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา

หนูยังสงสัยอยู่ว่า พระอัจนะจริงๆ แล้ว น่าจะสร้างตั้งแต่สมัยพญาลิไทท่านครองที่ศรีสัชนาลัย...”


“แล้วพระเจดีย์ทรงดอกบัวตูมล่ะ แม่หนูเห็นอะไร”


“หนูคิดว่า พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่วัดมหาธาตุเมืองเก่าสุโขทัย งามชลูดกว่า น่าจะเป็นพัฒนาการมากจากองค์ที่วัดเจดีย์ 7 แถวค่ะ เป็นเไปได้ว่า ที่ชลูด เพรียวกว่าเพราะสร้างครอบทรง 5 ยอดองค์กลาง คงถูกบีบด้านเจดีย์ประจำทิศ”


“เลือดศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ในตัวแม่หนูนี่แรงมาก สามารถจับรายละเอียดและวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ได้รอบด้านมาก ผมชื่นชมจริงๆ...​ เรื่องพระอัจนะ ผมก็คิดแบบแม่หนู เป็นไปได้ว่าอาจจะสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็เป็นไปได้ ขณะนั้น พระพุทธรูปยังไม่มีพัฒนาการของสัตตบุรุษ และองค์พระอจนะดูหนากว่าพระประธานที่วัดบรมธาตุเชลียงนะ อาจจะเพราะองค์ใหญ่กว่าด้วย แต่พระมณฑป สร้างขึ้นในสมัยหลังแน่นอน เพราะในกำแพงพระมณฑปมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับศาสนาพุทธอยู่ นี่ต้องศรัทธาแรงจริงๆ ผมคิดว่าสร้างในสมัยพญาลิไทแน่นอน พระสร้างก่อน แล้วสร้างมณฑปครอบ”


จันนวลรู้สึกมั่นใจมากยิ่งขึ้น เมื่อได้แลกเปลี่ยนความเห็น และรับความรู้มากมายจาก ดร. ปราชญ์ เวลาผ่านไป 4 ชั่วโมงอย่างรวดเร็ว ดร. ปราชญ์จึงขอเลี้ยงกลางวัน จันนวล


“ทานร้านมิ่งหลีแล้วกันนะ แม่หนู มาเยือนถิ่นศิลปากรแล้ว ต้องไปมิ่งหลี เปลี่ยนบรรยากาศจากร้านจีนแถวตลาดสามย่านบ้าง”


15 views0 comments

Commentaires


bottom of page